ศพที่ 1 มาตรา 44

ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายวัดพระธรรมกาย และฝ่ายรัฐบาล นำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ไม่ได้นำการตายของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 64 ปี ปีนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์แล้วผูกคอตาย

มาขยายผลเพื่อประโยชน์แห่งตนมากจนเกินเลย

จนอาจกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ไม่พึงปรารถนาของทุกฝ่าย

และอาจนำมาสู่ ศพที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่…หากไม่ระมัดระวังเพียงพอ

แต่กระนั้น ถามว่า ศพแรกแห่งสมรภูมิ “คลองหลวง” ส่งผลสะเทือนต่อเหตุการณ์ไล่ล่าพระธัมมชโย และการล้อมกรอบวัดพระธรรมกายหรือไม่

คำตอบคือ มีผลแน่นอน

เพราะการตายของนายอนวัช ชัดเจนตามข้อความที่เขาชูขึ้นประท้วง นั่นคือ

“ขอความเมตตากรุณา ยกเลิกมาตรา 44 หากทำไม่ได้ก่อน 21.00 น. เก็บศพได้เลย”

เป็นการพุ่งเป้าไปยังมาตรา 44 ที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำขึ้นมาใช้

โดยหวังจะเป็นไม้แข็ง จัดการวัดพระธรรมกายลงในเวลาอย่างรวดเร็ว

จึงถือเป็น “จุดแข็ง” และเป็น “ไม้ตาย” ที่นำไปสู่การคาดหมายของคนในสังคมว่า ปัญหาวัดพระธรรมกายจะต้องจบลงโดยง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มปฏิบัติการจริง มาตรา 44 ก็หาได้สัมฤทธิผลจริงอย่างที่คาดหมาย

เพราะนอกจากไม่อาจได้ตัวพระธัมมชโยแล้ว ยังไม่อาจรุกคืบเข้าควบคุมวัดพระธรรมกายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แถมแกนนำและสาวกของวัดพระธรรมกาย ได้พลิกกลยุทธ์

ทำจุดแข็งให้เป็นจุดอ่อน

ทำให้มาตรา 44 ที่ควรเป็นมาตรการรุกคืบ กลายเป็น “ดาบย้อนคืนสนอง”

ด้วยการทำให้สังคมทั้งในและต่างประเทศ เห็นความไม่ชอบธรรมของมาตรา 44

โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน

นำไปสู่พระสงฆ์อดอาหารประท้วงให้ยกเลิกมาตรา 44 จำนวน 5 รูป

การปิดล้อมวัดทำให้มีการขึ้นป้าย We need food เพื่อฟ้องต่อประชาคมโลกว่ามีการสกัดไม่ให้นำอาหารหนึ่งในปัจจัยสี่เข้าไปดูแลศิษย์วัด

มีการขยายผลให้สาขาวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ ยื่นเอกสารต่อสหประชาชาติว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกจำกัดสิทธิการนับถือศาสนา

แกนนำวัดพระธรรมกาย พยายามย้ำว่า กรณีมีหมายค้นในตอนแรก ทางวัดได้ให้ความร่วมมือการตรวจค้นทุกพื้นที่

แต่ไม่พบเป้าหมายและไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

แทนที่จะยุติภารกิจ เจ้าหน้าที่กลับประกาศให้พระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกจากพื้นที่วัดพระธรรมกาย

เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลอย่างพระธัมมชโย

แต่เป็นการย่ำยี คุกคามศาสนา ด้วยความไม่ชอบธรรมของกฎหมาย

วัดพระธรรมกายจึงประกาศจุดยืนด้วยการย้อนศร ให้ยุติการบังคับใช้มาตรา 44

และเตือนว่าหากคงการบังคับใช้มาตรา 44 นี้ไว้

จะเกิดผลกระทบกับพระภิกษุสามเณร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปในวงกว้าง

…ที่สุดได้นำมาสู่การประท้วงของนายอนวัช

และจบลงด้วยเหตุไม่คาดฝัน ด้วยการแขวนคอตนเองที่เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เมื่อคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ฝ่ายรัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้ ต้องรีบแก้เกมเหตุแทรกซ้อนจากการตายของนายอนวัช

ด้วยการส่ง พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปเป็นประธานประชุมเพลิง

รวมถึงนิมนต์พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอธัญบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งมวลชนรวม 300 คน ร่วมประชุมเพลิง

เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีนี้ และรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้ นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงกรณีนายอนวัช ว่า มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รักษาตัวมาสักระยะแล้ว แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง

ทั้งยังเคยมีประวัติทำร้ายร่างกายตัวเอง ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมวัด นายอนวัชเริ่มมีภาวะซึมเศร้า ปลีกตัวออกมาแต่ก็ยังไม่มีใครสังเกตเห็น จนกระทั่งเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

ถือเป็นการชิงตัดประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อวัดพระธรรมกายลง

และชี้เป้าไปยังอาการ “ซึมเศร้า” มากกว่าการต่อต้านมาตรา 44!

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาปกป้องมาตรา 44 โดยระบุว่า คำสั่งใช้มาตรา 44 นั้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ และให้กฎหมายสามารถใช้ได้ครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศไทย

“ที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไรสักอย่าง ฉะนั้น ขอร้องว่าอย่าไปทำอะไรให้วุ่นวาย จะต้องหาทางออกด้วยการพูดคุยกันให้ได้ แต่ต้องเป็นการพูดคุยภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่จะพูดคุยแล้วต้องยกเลิกไม่มีกฎหมาย ไปพูดคุย ไปตกลงกันเองมันไม่ได้ กฎหมายของบ้านเมืองก็ต้องเป็นไปตามนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบโต้ว่า ที่มีข่าวกลุ่มองค์กรพุทธยุโรปได้มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพระพุทธศาสนาและการใช้มาตรา 44 ต่อวัดพระธรรมกายนั้น คณะทูตถาวรไทย ณ นครเจนีวา ได้ตรวจสอบกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่แล้ว ได้รับแจ้งว่าในชั้นนี้ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ยังไม่ได้รับข้อร้องเรียนใดๆ จากกลุ่มดังกล่าวตามที่มีการอ้างถึง แต่จะติดตามต่อไปว่ามีการยื่นเรื่องตามช่องทางอื่นหรือไม่ อย่างไรก็ดี คณะทูตถาวรฯ ได้มีการเตรียมคำชี้แจงไว้แล้วตามแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศเคยสั่งการมาก่อนหน้านี้

ถือเป็นการต่อสู้ทางข่าวสารในทุกประเด็น

เช่นเดียวกับ คสช. ได้ให้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาตอบโต้

ด้วยการย้ำว่าการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย เป็นไปตามความจำเป็นจริงของสถานการณ์ ใช้แบบสมดุล ทั้งด้านนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์

ไม่พบว่ากระทบกิจกรรมใดๆ ของสงฆ์และศิษย์ หรือประชาชน หรือกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจ

กรณีมีผู้ไม่หวังดีกล่าวหาว่าคำสั่ง คสช. ฉบับนี้เป็นเหมือนเครื่องมือในการทำลายพระพุทธศาสนานั้นไม่จริง

เชื่อว่าเป็นความพยายามบิดเบือนตามรูปแบบแนวทางการต่อสู้เชิงข่าวสารเพื่อจะทำลายความน่าเชื่อถือภาครัฐ

การหยิบเรื่องมาตรา 44 ขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะอาจเป็นคำคุ้นเคยทางการเมือง สามารถหยิบมาเสริมปั้นแต่งให้เป็นประเด็นในมุมต่างๆ ได้ง่าย คงคาดเดาว่าอาจทำให้มีแนวร่วมอื่นมาสมทบสนับสนุน

“ขอให้มั่นใจแนวทางของผู้บังคับบัญชาต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ยังคงเน้นปฏิบัติภายใต้กรอบด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดให้ได้มากที่สุด และกระทำทุกอย่างด้วยความสุจริต เหมาะสม ป้องกันไม่ให้ถูกผู้ไม่หวังดีหยิบไปขยายผลในทางลบ” พ.อ.วินธัยระบุ

ขณะที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า “จากการนำเสนอของสื่อทุกประเภทที่เป็นกลางตรงไปตรงมา ประชาชนคงได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่การปลุกระดมมวลชนมาต่อต้าน การเคลื่อนไหวของแกนนำมวลชนที่เคยใช้ความรุนแรง และอดีตนักการเมืองเข้ามาในพื้นที่ การบิดเบือนข้อมูล สร้างภาพอันเป็นเท็จเพื่อปลุกกระแสในสังคมออนไลน์ เช่น การปล่อยข่าวเจ้าหน้าที่จะยึดหรือนำพระทองคำของทางวัดไป เจ้าหน้าที่มีอาวุธและใช้ความรุนแรงกับพระและมีการขัดขวางการตรวจสอบใบสุทธิของพระ มีการแขวนป้าย We need food เพื่อเจตนาบิดเบือนว่าเจ้าหน้าที่ห้ามนำอาหารเข้าไปภายในวัด เป็นต้น พยายามจุดกระแสว่า คำสั่งตามมาตรา 44 คือประเด็นปัญหา”

“คสช. ต้องการชี้ให้เห็นว่านี่คือปัญหาร่วมกันของคนในประเทศ กฎหมายอะไรก็ยุติคนไม่ดีไม่ได้ และวันข้างหน้าถ้าไม่มีมาตรา 44 ไม่มี คสช. จะอยู่กันอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร การใช้กฎหมู่ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวายในที่สุด”

“ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ตั้งแต่การเจรจาและขอเข้าตรวจค้นตามคำสั่งของศาล นอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือแล้วยังถูกขัดขวางทุกวิถีทาง คสช. จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าว”

ป้าย We need food

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงอยู่ในภาวะ “ยันกันไปยันกันมา”

เล่นสงครามข่าวสารกันไปเรื่อยๆ

และที่สำคัญยังมองเห็นว่าจะจบลงที่จุดใด

ต่างฝ่ายต่างรู้สึกถึงการกดดัน บีบคั้น คือถอยก็ถอยไม่ได้ รุกก็รุกไม่ได้

ขณะเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างแสดงความวิตกว่าอาจมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

และตอกลิ่มให้ความขัดแย้งบานปลายออกไป

ภาวะบานปลายอาจจะนำไปสูศพที่ 2 ที่ 3 และอื่นๆ อีกหลายศพได้

ซึ่งล่าสุด ก็มีศพที่ 2 เกิดขึ้น เมื่อหญิงในวัดพระธรรมกาย วัย 48 ปี เกิดหอบหืด กำเริบ ทางวัดอ้างว่าได้แจ้งขอรถพยาบาลฉุกเฉิมมารับตัวแต่เข้าไม่ได้เพราะถูกสกัด กว่าจะเจรจากันได้ ผู้ป่วยก็เสียชีวิตแล้ว

อย่างไรก็ตามดีเอสไอระบุได้รับแจ้งหลังผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว5 ชั่วโมง

แม้ข้อมูลจะแตกต่างกัน แต่ ศพที่ 2 ก็เกิดขึ้นแล้ว