ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “สุวรรณภูมิ” ในบันทึกฝรั่ง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“สุวรรณภูมิ” เป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของชมพูทวีป มีพยานอยู่ในชาดก หรือเอกสารเก่าแก่ทั้งของอินเดีย และลังกาจำนวนมาก

ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ดินแดนทางทิศตะวันออกของชมพูทวีปที่ว่า หมายถึงพื้นที่อีกฟากข้างหนึ่งของอ่าวเบงกอล ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “อุษาคเนย์” นี่แหละ

คำว่า “สุวรรณภูมิ” แปลตรงตัวว่า “แผ่นดินทอง” ชาดกในพระพุทธศาสนาอย่าง พระมหาชนก อ้างว่าผู้ที่สามารถมาทำการค้ายังสุวรรณภูมิได้กลับไปจะกลายเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

จึงไม่แปลกอะไรที่ดินแดนแห่งนี้จะถูกเรียกว่า สุวรรณภูมิ ไม่ว่าภูมิภาคของเราจะเต็มไปด้วยทองอย่างชื่อหรือเปล่าก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเสียหน่อย?

ในทำนองคล้ายๆ กัน จีนก็เรียกพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์ปัจจุบันว่า “จินหลิน” คำนี้ก็มีความหมายไม่ต่างไปจากสุวรรณภูมิในภาษาสันสกฤต เพราะถอดความออกมาได้ไม่ต่างกันว่า “แผ่นดินทอง” แต่ไม่มีข้อมูลพรรณนาถึงดินแดนแห่งนี้เพิ่มเติมเหมือนอย่างเอกสารจากชมพูทวีป

 

พวกฝรั่งก็เรียกดินแดนแห่งนี้ไม่ต่างไปจากแขกพราหมณ์ หรือเจ๊กจีน

จดหมายเหตุฝรั่งชิ้นเก่าแก่สุดที่อ้างถึงดินแดนที่มีชื่อตรงกับสุวรรณภูมิคือตำราภูมิศาสตร์ “Cosmographia” (Cosmography) เขียนโดย ปอมโปนิอุส เมลา (Pomponius Mela) นักภูมิศาสตร์ชาวโรมันเชื้อสายสเปนตอนใต้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ระบุว่า “Chryse” หรือ “แผ่นดินทอง” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอินเดีย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังจำกัดอยู่ในสมัยนั้น ทำให้พวกฝรั่งเข้าใจผิดว่าสุวรรณภูมิเป็น “เกาะ”

บันทึก Naturalis Historia (Natural History) ของพลินี (Gaius Plinius Secundus หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ Pliny the elder) นักธรรมชาติวิทยา และรัฐบุรุษคนสำคัญชาวโรมันที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยกับเมลาดูจะสับสนยิ่งกว่า เพราะบรรยายไว้ว่าแผ่นดินทองเป็นแหลม แต่ในขณะเดียวกันก็อธิบายว่าเป็นเกาะด้วย

จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกหมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียด้วย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ให้ข้อมูลว่า

“แผ่นดินทอง เป็นดินแดนสุดท้ายที่คนอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกไกลสุดของโลก ณ บริเวณที่ตะวันขึ้น”

 

พวกฝรั่งเองก็มีทัศนะต่อแผ่นดินทองไม่ต่างไปจากพวกพราหมณ์อินเดีย คือเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง หนังสือ Antiquitates Judaicae (Antiquities of the Jews) ของ ฟลาวิอัส โจเซฟุส (Flavius Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงร่วมสมัยกับเอกสารเหล่านี้ถึงกับอ้างว่า “แผ่นดินทอง” ก็คือ “Ophir” เมืองแห่งขุมทรัพย์บรรณาการของกษัตริย์โซโลมอนตามข้อความในพันธสัญญาเก่า

แต่เอกสารสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวตะวันตก โดยเฉพาะในยุคหลัง รู้จักกับแผ่นดินทองก็คือ จดหมายเหตุ Geographia (Geography) โดย คลอดิอุส ปโตเลมี (Cludius Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ ชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ผู้เป็นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าบรรณารักษ์อยู่ ณ หอสมุดเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าสำคัญของกรีก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์ ในช่วงระหว่างเรือน ค.ศ.127-150

หนังสือ Geographia ของปโตเลมีเขียนขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากมารินุส (Marinus) นักภูมิศาสตร์แห่งเมืองไทร์ (Tyre) เมืองสำคัญของพวกโฟนิเซียน ชาวสมุทรแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศเลบานอน มารินุสได้รวบรวมรายงานการเดินเรือจากศูนย์กลางการเดินเรือข้ามสมุทรจากพ่อค้า และนักเดินเรือที่เมืองไทร์แห่งนี้ และปโตเลมีก็ทั้งวิพากษ์ และเพิ่มเติมข้อมูลที่มีอยู่ก่อนของมารินุสนี่เอง

ที่สำคัญคือปโตเลมีอธิบายว่า แผ่นดินทองเป็นส่วนหนึ่งของภาคผืนแผ่นดินใหญ่เพราะใช้คำว่า “Aurea Regio” ซึ่งหมายถึง “แผ่นดินทอง” ในขณะเดียวกับที่ข้อความบางส่วนใน Geographia ก็ระบุว่าหากจะไปให้ถึงแหลมทอง (Chersonese) ต้องไปที่ท่าเรือ Alosygni ท่าเรือที่ว่านี้นักวิชาการเชื่อว่าน่าหมายถึงบริเวณปากแม่น้ำโคทาวารีในอินเดีย

ดังนั้น “แผ่นดินทอง” ตามทัศนะของปโตเลมีจึงเป็นแผ่นดินใหญ่ที่มีแหลมยื่นลงไปในมหาสมุทร

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Geographia ของปโตเลมี กลายเป็นที่สนใจขึ้นมา ก็เพราะหนังสือที่ว่าถูกสอบทานโดยกลุ่มนักปราชญ์แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 ดังนั้น ข้อมูลใน Geographia บางส่วนจึงถูกเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลังโดยนักปราชญ์กลุ่มดังกล่าวนี่เอง

และก็ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมของชาวยุโรปในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ที่จะนำความรู้เก่าแก่ของกรีกโรมัน โดยเฉพาะที่มีอยู่ในไบเซนไทน์มาใช้ Geographia จึงถูกแปลจากภาษากรีกเป็นละติน เมื่อเรือน ค.ศ.1406 ข้อถกเถียงเรื่องที่ตั้งของแผ่นดินทองจึงถูกปัดฝุ่นนำขึ้นมาถกเถียงกันใหม่ในโลกตะวันตก หลังจากซบเซาลงไปในยุคกลาง

แผนที่ของชาวยุโรปในช่วงสมัยนี้จึงเรียกพื้นที่อุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยว่า “แผ่นดินทอง” ก่อนที่จะค่อยเปลี่ยนเป็นเรียกว่า “เสียน” หรือ “สยาม” ในช่วงหลัง ค.ศ.1550 โดยประมาณ

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เอกสารเก่าแก่ของพวกฝรั่งเหล่านี้ยังมีชื่อ “แผ่นดินเงิน” ระบุอยู่คู่กับ “แผ่นดินทอง” ด้วย

ข้อมูลใน Cosmographia ของเมลาอ้างถึงแผ่นดินทอง และแผ่นดินเงินว่า

“ตามที่นักเขียนรุ่นก่อนอ้าง ดินของแผ่นดินทองประกอบไปด้วยทอง ดินของแผ่นดินเงินก็ประกอบไปด้วยเงิน เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าชื่อของดินแดนทั้งสองผูกขึ้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หรือไม่ก็ตำนานที่ว่านั่นแหละที่ผูกขึ้นตามชื่อของดินแดนทั้งสอง”

เราไม่สามารถทราบได้ว่านักเขียนรุ่นก่อนที่เมลาอ้างถึงคือใคร เพราะเมลาไม่ได้บอกไว้ และก็ไม่มีหลักฐานตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อของแผ่นดินเงิน ยังปรากฏในงานของปโตเลมีอีกด้วย

 

น่าเสียดายว่าเอกสารต่างๆ ที่ผมกล่าวถึงเหล่านี้ระบุถึงทั้ง แผ่นดินทอง และแผ่นดินเงิน แต่เพียงพิกัดทางภูมิศาสตร์ และระยะเวลาการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งอย่างคร่าวๆ และไม่ได้เขียนแผนที่ขึ้นมาประกอบ ทำให้หลังจากมีการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุคเก่าจึงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าแผ่นดินทอง และแผ่นดินเงินอยู่ตรงไหนกันแน่?

สุดท้ายชื่อ และตำแหน่งของแผ่นดินทองถูกระบุแทรกอยู่ในตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของ เซบาสเตียน มึนสเตอร์ (Sebastian M?nster) นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน พิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1540 โดยกำหนดตำแหน่งของแผ่นดินเงินให้อยู่ระหว่างกรุงหงสาวดี และปากแม่น้ำคงคา

ส่วนแผ่นดินทองนั้นมีอาณาเขตทิศเหนือจรดกรุงหงสาวดี ทิศใต้จรดมะละกา ทิศตะวันตกจรดอ่าวเมาะตะมะ และทิศตะวันออกจรดทะเลจีนใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับอาณาจักรทวารวดี และฟูนันในอดีต

ตำราเล่มนี้ ฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อเรือน พ.ศ.1628 ได้ระบุชัดเจนถึงที่ตั้งของแผ่นดินทอง แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันได้ความว่า

“ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี … ถัดลงมาคือแหลมทอง ซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอยาว”