นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาติ “ไทย” ที่เจ๊กสร้าง

สยามเป็นคำที่ถูกใช้มาเก่าแก่พอสมควร ด้านหนึ่งหมายถึงดินแดน และคงหมายถึงคนด้วย ดังที่เราพบในภาษาพม่าโบราณ, มลายูโบราณ, เขมรโบราณ ฯลฯ

ไท (ไม่ว่าจะสะกดอย่างไร) ก็เป็นคำที่ถูกใช้มาเก่าแก่พอสมควร เพราะมีคนที่เรียกตัวเองว่าอย่างนั้นกระจายอยู่ทั่วภาคพื้นทวีปอีกหลายกลุ่ม

แต่สยามซึ่งหมายถึงชื่อของรัฐอย่างเป็นทางการเพิ่งมีไม่นานมานี้คือในสมัย ร.4 ไทยซึ่งเป็นชื่อของรัฐอย่างเป็นทางการเพิ่งใช้หลังจากนั้นไปเสียอีก ผมคิดว่าสองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ใช่เพียงสยามทำให้คนซึ่งอาจไม่ใช่ “ไทยแท้” สามารถนับตนเองเป็นพลเมืองได้ จึงเหมาะแก่การใช้เป็นชื่อของรัฐชาติซึ่งประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และไทยส่อนัยยะไปในทางชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงกีดกันคนที่ไม่ใช่ “ไทยแท้” ออกไปจากความเป็นเจ้าของชาติ

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจในปัจจุบัน คำว่าไทยหมายถึงชื่อของรัฐชาติเป็นคำที่ “เจ๊ก” สร้างขึ้น ในยุคสมัยที่ชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐยังใช้คำว่า “สยาม” อยู่ ผมเข้าใจว่านัยยะที่เจ๊กใช้นั้น มุ่งจะให้เห็นความต่างระหว่างชาตินิยมสยามซึ่ง ร.6 สร้างขึ้น กับชาตินิยมไทยซึ่งพวกเขาพยายามสร้างขึ้น เรื่องนี้จึงไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามโดยตรง

 

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้นข้างหน้า ผมอยากยกคำของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน มาเตือนไว้ก่อนว่า ในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์นั้น พวกลูกผสมหรือ mestizo มีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะในการเข้าสู่ความทันสมัยของรัฐต่างๆ ในบางรัฐเฉพาะทางเศรษฐกิจ ในบางรัฐทุกทางเลย คือรวมการเมือง, สังคมและวัฒนธรรมไปด้วย แน่นอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกผสมที่มีมากสุดคือลูกผสมจีน

ในรัฐคาทอลิกฟิลิปปินส์และรัฐพุทธไทย ลูกผสมจีนถูกกลืนเข้าไปในหมู่ประชาชนอย่างแยกไม่ออกมากที่สุด (ในขณะที่ในรัฐอาณานิคมบางแห่ง พยายามแยกจีนและเชื้อสายออกไปจากข้าราษฎรพื้นเมืองของตน) ในฟิลิปปินส์ ช่วงที่สเปนยังไม่ห้ามพ่อค้าจีนเดินทางเข้ามาอย่างเด็ดขาด มีนิคมพ่อค้าจีนตั้งอยู่ในมะนิลา เดินเรือค้าขายระหว่างจีนและมะนิลาอยู่ประจำ คนจีนกลุ่มนี้ย่อมถืออัตลักษณ์จีน เพราะเป็นประโยชน์ในชีวิตและธุรกิจของตน ในขณะที่ลูกหลานทำธุรกิจในท้องถิ่น เช่น กว้านซื้อสินค้า หรือนำสินค้าไปขายต่อให้ชาวพื้นเมือง และค่อยๆ ถูกแม่ชาวพื้นเมืองกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคนพื้นเมือง (เช่น นับถือคาทอลิก) ในที่สุด สเปนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า (Chinese) Mestizo แต่เรียกพ่อค้าจีนที่ยังถืออัตลักษณ์จีนและทำการค้ากับจีนต่อไปว่า Sangley (มาจากภาษาฮกเกี้ยนว่าการค้า ก็คือคำว่าเซ็งลี้ในภาษาแต่จิ๋วนั่นเอง)

Mestizo และ Sangley แยกจากกันได้เด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อ Sangley ถูกห้ามเข้าประเทศไปแล้ว อนาคตของพวกลูกผสมจีนไม่เหลือทางอื่นอีก นอกจากกลืนกลายเป็นคนพื้นเมืองไปอย่างแนบสนิท

 

แต่เรื่องของเจ๊กกับจีนในเมืองไทยไม่ง่ายอย่างนั้น (ผมใช้ “เจ๊ก” ในความหมายถึงลูกผสมที่กลืนตัวเองเป็นไทย – โดยเฉพาะไทยสมัยใหม่ – ไปมาก ในขณะที่ “จีน” หมายถึงจีนจากเมืองจีน หรือแม้แต่ลูกผสม ที่สมัครใจจะรักษาอัตลักษณ์จีนไว้มากกว่า) เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้สกัดการอพยพเข้าของคนจีน หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง กลับส่งเสริมการอพยพเข้ามากขึ้นเพราะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น Chinese Mestizo ในเมืองไทยจึงแยกออกจาก Chinese ยาก เพราะไม่ได้อยู่แค่ผสมหรือไม่ผสม หากอยู่ที่สำนึกทั้งทางวัฒนธรรมและการเมือง

Chinese Mestizo และเจ๊กนี่แหละครับ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดของคนชั้นกลาง ในสังคมฟิลิปปินส์และสังคมไทย

ผมอยากเสนอว่า เจ๊กคือคนกลุ่มแรกที่ใช้คำว่า “ไทย”ในความหมายทางการเมือง เพื่อแสดงสำนึกชาตินิยมอีกชนิดหนึ่ง อันแตกต่างจากชาตินิยมที่ ร.6 หรือรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์พยายามปลูกฝัง ในขณะเดียวกันก็ใช้ “ไทย” หรือสำนึกชาตินิยมชนิดนั้น ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม อันเป็นนโยบายที่ “จีน” ซึ่งได้สร้างธุรกิจขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะการค้าข้าวในตลาดโลก) สนับสนุนอย่างแข็งขัน “ไทย” ของเจ๊กจึงต่อต้านทั้ง “สยาม” และต่อต้าน “จีน” ไปพร้อมกัน

(ลาลูแบร์บอกว่าคนอยุธยาเรียกตนเองว่า “คนไทย” และว่า ตนเองเป็นพวก “ไทยน้อย” เพื่อให้แตกต่างจาก “ไทยใหญ่” ภาษาอินโดนีเซียสมัยผมเริ่มเรียน ยังเรียกประเทศไทยในภาษาปากว่า “มวงไท” แต่หนุ่มสาวอินโดนีเซียปัจจุบันไม่รู้จักคำนี้เสียแล้ว “ไทย” ที่ใช้กันมาแต่โบราณจึงเป็นสำนึกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ไม่ใช่การเมือง)

 

ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามยังมีคนชั้นกลางอยู่นิดเดียวในสังคมไทย ส่วนใหญ่รับราชการหรือทำงานที่ต้องสัมพันธ์กับรัฐ สำนึกชาตินิยมที่ผลักดันมาจากเบื้องบนย่อมกระทบคนกลุ่มนี้มากที่สุด คนชั้นกลางอีกกลุ่มจำนวนน้อยกว่า อยู่นอกระบบราชการ ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นเสมียนห้างฝรั่ง เป็นอิสระจากรัฐ ดังนั้น ชาตินิยมที่เป็นทางการของรัฐสยาม จึงไม่ใช่แรงบันดาลใจหลักของคนชั้นกลางกลุ่มนี้ โดยไม่ได้ลงไปศึกษาหลักฐานข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเอง ผมอยากจะสรุปว่าแรงบันดาลใจหลักในเรื่องชาตินิยมมาจากการปฏิวัติของซุนยัตเซน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้แรงบันดาลใจจากชาตินิยมที่เป็นทางการของรัฐสยามเลย

ขอให้สังเกตไว้ด้วยนะครับว่า ชาตินิยมที่เป็นทางการของไทยนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการตอบโต้กับสำนึกชาตินิยมจีน ซึ่งแพร่หลายมาตั้งแต่ก่อนปฏิวัติในเมืองจีนแล้ว ซามิ่นจูอี๋หรือลัทธิไตรราษฎร์นั้น เน้น “มิ่น” คือราษฎรหรือประชาชน ความหมายที่เห็นได้ชัดเจนก็คือราษฎรนั่นแหละเป็นเจ้าของชาติ ในขณะที่ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ของชาตินิยมที่เป็นทางการของสยาม ไม่มีที่ให้แก่ “ราษฎร” ตรงไหนเลย แม้แต่ “ชาติ” ซึ่งน่าจะหมายถึงราษฎร ก็หาคำอธิบายชัดๆ อย่างนั้นไม่ได้

สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามยังเป็นรัฐราชสมบัติ (patrimonial state) “ชาติ” จึงดูจะมีความหมายเป็นราชสมบัติไปด้วย

 

ผมคิดว่าการปฏิวัติของจีนทำให้เกิดการแยกทางเดินอย่างชัดเจนระหว่าง “จีน” กับ “เจ๊ก” ในเมืองไทย ทั้งสองฝ่ายต่างได้แรงบันดาลใจอย่างแรงจากการปฏิวัติทั้งคู่ แต่ต่างเลือกทางเดินกันคนละทาง

จีนซึ่งมีจำนวนมากประกอบด้วยสองกลุ่ม ส่วนใหญ่คือคนเล็กคนน้อยที่อพยพมาขายแรงงานในประเทศไทย คนพวกนี้อ่านหนังสือไม่ออก ไม่เคยเรียนหนังสือทั้งในเมืองจีนและเมืองไทย ฟังภาษาจีนกลางไม่รู้เรื่อง อาจไม่มีสำนึกด้วยซ้ำว่าตัวเป็น “คนจีน” เพราะอัตลักษณ์ของตนคือคนกวางตุ้ง, ไหหลำ, แต้จิ๋ว, แคะ, ฮกเกี้ยน ฯลฯ พวกนี้ไม่เกี่ยว หรือไม่ค่อยเกี่ยว หากจะเริ่มมีสำนึกว่าตัวเป็น “คนจีน” ก็เพราะการปฏิวัติที่เพิ่งเกิดขึ้นนี่เอง

จีนอีกพวกหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และระบบอาณานิคมฝรั่งในเอเชีย บางด้านก็ร่วมมือกับชนชั้นนำของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น เช่าโรงสีจากพระคลังข้างที่ไปดำเนินงาน ถึงไม่ร่วมมือโดยตรง พวกเขาก็เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐสยาม โดยเฉพาะการใช้แรงงานราคาถูกผลิตข้าวป้อนตลาดโลก แรงบันดาลใจจากปฏิวัติจีนของคนพวกนี้คือสนับสนุน และเคลื่อนไหวเพื่อตอบรับกับการเมืองในประเทศจีน สำนึกชาตินิยมที่เกิดขึ้นเป็นสำนึกชาตินิยมจีน ไม่ใช่ชาตินิยมสยาม

ทั้งนี้ จะเป็นด้วยคนกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัฒนธรรมจีนเข้มข้นกว่า หรือเพราะธุรกิจของเขาข้ามพรมแดนสยาม ไปเชื่อมโยงกับจีนโพ้นทะเลในอาณานิคมต่างๆ ทั่วเอเชียก็ตาม การเลือกเป็น “จีน” จึงมีเหตุผลกว่า ยิ่งกว่านี้ ในทางกฎหมาย หลายคนด้วยกันไม่ได้อยู่ในบังคับสยาม แต่อยู่ในบังคับของมหาอำนาจตะวันตก

 

ตรงกันข้ามกับเจ๊กซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นส่วนใหญ่ของคนชั้นกลาง คนพวกนี้ได้ตัดสินใจมานานแล้วก่อนการปฏิวัติจีน อาจจะตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว ที่จะเติบโตและฝากอนาคตไว้กับประเทศสยาม จึงได้มีโอกาสเล่าเรียนในโรงเรียนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสร้างขึ้น หรืออนุมัติให้สร้างขึ้น บางคนอาจเคยเรียนภาษาจีนและอ่าน-เขียนได้ แต่ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่อ่านไม่ออก แม้ยังใช้ชื่อหรือสกุลเป็นจีนอยู่ในหลายราย แต่ไม่มีสำนึกเป็น “จีน” อีกเลย

ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้รับราชการ และตกอยู่ใต้อิทธิพล (อย่างจริงใจหรือไม่ก็ตาม) ของลัทธิชาตินิยมที่เป็นทางการของสยาม เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้สึกขัดเขินแต่อย่างใดที่จะถือตนเองเป็น “คนสยาม” แต่เจ๊กชั้นกลางที่อยู่นอกราชการต่างหาก ที่มีสำนึกว่าเขาเป็น “คนไทย” อันเป็นคำที่ราษฎรสามัญในภาคกลางทั่วไปใช้เรียกตนเองอยู่แล้ว น่าสังเกตว่าพวกเขาเลือกหมายตนเองร่วมไปกับราษฎรสามัญ ไม่ใช่กับญาติมิตรของเขาที่เป็นคนสยามในระบบราชการ

ตั้งแต่ก่อน 2475 คำว่า “ไทย” ถูกใช้ในความหมายถึง “ชาติ” ที่ไม่ใช่ราชสมบัติอย่างแพร่หลายในหมู่เจ๊กเหล่านี้ พวกเขาคือเจ้าของสื่ออิสระภาษาไทยที่ไม่ได้รับเงินหลวง และบางฉบับก็ใช้ชื่อ เช่น “หญิงไทย” บ้าง “ไทยใหม่” บ้าง (ผมคิดว่าชื่อนี้น่าสนใจยิ่ง แต่ อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตีความว่า “ไทยใหม่” คือไทยผสม ในขณะที่ผมคิดว่าหมายถึง “ชาติ” ใหม่ที่ไม่เหมือนเก่าอีกแล้วต่างหาก) นัยยะว่าชาติไทยเป็นของคนไทยนั้น เห็นได้ชัดจากบางบทความในไทยใหม่ที่พูดก่อน อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ถึง 88 ปี ว่า “เมืองไทยไม่ใช่เป็นเมืองสำหรับคนไทยจริงๆ หากแต่เป็นเพียงบ้านเช่า” (และถ้อยคำเช่น “บ้านของเรา เมืองของท่าน”) นายเล็ก โกเมศ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ (และเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกชื่อ “ไทยวานิช”) ให้ความสำคัญแก่คำว่า “ไทย” อย่างยิ่ง เมื่อร่วมกับผู้อื่นในการตั้งสมาคมการค้าเพื่อแข่งกับสมาคมการค้าต่างชาติ ซึ่งหมายถึงจีน เขาก็ยืนยันให้ใช้คำว่า “ไทย” ไม่ใช่สยาม ในช่วงนั้น คนชั้นกลางที่เป็นเจ๊กเหล่านี้ เป็นเจ้าของกิจการขนาดย่อม และนิยมเรียกตัวเองว่า “พ่อค้าไทย”

เมื่อในเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง กับ นายซุ่นไช้ คูตระกูล ส่งคณะแสดงไปโชว์ในสหรัฐ ก็เรียกชื่อว่า “คณะละครไทย” คำว่าไทยกลายเป็นชื่อหรือยี่ห้อของวัฒนธรรมที่คนชั้นกลางเจ๊กในสมัยนั้นส่งเสริม หรือสร้างขึ้นทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, นวนิยาย, หรือมวยก็กลายเป็นมวย “ไทย” แทนที่จะเป็นมวยครูนั่นครูนี่ หรือมวยชื่อท้องถิ่นอย่างที่เคยเป็นมา

 

การประกอบการขั้นเริ่มต้นของ “ไทย” เหล่านี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสยาม มีกฎหมายและระเบียบของทางการหลายอย่างที่ขัดขวางการพัฒนาของนักธุรกิจเล็กๆ ซึ่งเท่ากับช่วยให้กิจการของต่างชาติ (จีนและฝรั่ง) ไม่ถูก “พ่อค้าไทย” แข่งขัน ครั้นทำหนังสือร้องเรียนไปถึงรัฐบาลให้รัฐเข้ามาสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า ที่ประชุมเสนาบดีกลับเห็นว่า “รัฐบาลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าของราษฎร ก็มีแต่รัฐบาลโซเวียตกับรัฐบาลญี่ปุ่น” ในทัศนะของเจ๊กที่ประกาศตัวเป็นไทยเหล่านี้ จึงเห็นว่ารัฐบาลสยามไม่รักชาติ หรือไม่เห็นแก่ประโยชน์ของคนไทย คอยแต่จะรักษาประโยชน์ของต่างชาติ (ซึ่งรวมถึงจีนด้วย นับว่าย้อนแย้งดีที่ผู้นำสยามกลายเป็นพันธมิตรของยิวแห่งบุรพทิศไป)

คนชั้นกลางที่เป็นเจ๊กเหล่านี้ประกาศมาตั้งแต่ 2473 ในหนังสือพิมพ์ของตนว่า “ราษฎรนั่นเอง คือชาติ” และนี่คือเหตุผลที่ชื่อของชาติก็คือ “ไทย” เพราะคำนี้ถูกใช้เรียกคนที่เป็นราษฎรมานานแล้ว แม้แต่ชนชั้นนำสยามก็ยอมรับว่าไทยเป็นชื่อเรียกของประชาชน ดังบาทหนึ่งในโคลงสยามานุสสติว่า “หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ” ดังนั้น หากชาติคือประชาชน ชาติย่อมมีชื่อว่าชาติไทย

“ไทย” ในความหมายนี้จึงรวมคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ร่วมกันในชาติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ปฏิเสธว่า เมื่อตอนที่เราเปลี่ยนชื่อของชาติจากสยามเป็นไทยใน พ.ศ.2482 เราได้ก้าวเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้งหนึ่งเสียแล้ว ทำให้ความหมายอันสำคัญของชาติไทยที่กล่าวข้างต้นหายไป ผู้นำประเทศในครั้งนั้น จึงพอใจนำเอาเนื้อหาของ “สยาม” มาสวมลงไปในชาติ “ไทย” เช่น ความยิ่งใหญ่ของชาติมาจากการกระทำของผู้นำ ความสามัคคีของคนในชาติไม่ได้หมายถึงสำนึกภราดรภาพระหว่างราษฎร แต่คือการเชื่อฟังผู้นำโดยพร้อมเพรียงกัน ฯลฯ

ดังนั้น ถึงจะเปลี่ยนชื่อไทยเป็นสยาม ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะชาติไม่ได้เป็นสมบัติร่วมกันของประชาชน แต่เป็นสมบัติของคนบางคน บางกลุ่มเท่านั้น

(อาศัยข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วนจากบทความ “พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยม กับการเมืองไทยสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ” ของ อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)