ประชา สุวีรานนท์ : ‘คุรุสภา’ ตัวพิมพ์ยุคสงครามเย็น (จบ)

ตอน1

เดนิส วู้ด นักภูมิศาสตร์ผู้เขียน The Power of Maps (1992) บอกว่าที่มาแห่งความหมาย ของแผนที่คือสัญญะที่เป็นรูปภาพกับสัญญะที่เป็นอักษร และบอกด้วยว่า

แม้รูปภาพจะมีอิทธิพลมาก แต่อักษรหรือตัวพิมพ์ ซึ่งเขาเรียกว่า Linguistic signs ก็ทำหน้าที่สำคัญไม่น้อย เช่นในกรอบ legend ต้องให้ทั้งคำอธิบาย รายละเอียด เครดิต และคำเตือน

ในขณะที่คำทำหน้าที่ถ่ายทอดภาษา ตัวพิมพ์จะทำหน้าที่คล้ายรูปภาพ เมื่ออยู่บนแผนที่ ตัวพิมพ์จะมีความหมายมากกว่าเมื่อปรากฏในสิ่งพิมพ์แบบอื่น หรือทำหน้าที่มากกว่าการแทนเสียง (phonetic archetypes)

เพราะต้องมีบทบาททั้งอธิบาย และจัดลําดับความสำคัญ (hierarchy) ของข้อมูล

การจัดวางตำแหน่งและการเลือกสไตล์ตัวพิมพ์ จะทำให้ข้อมูลมีบุคลิกได้มากมาย (แบบ : ตรงหรือเอน, ขนาด : เล็กหรือใหญ่, สี : ดำหรือแดง และสำหรับตัวละติน : ตัวนำหรือนำ-ตาม) ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น เรียงเป็นกลุ่ม บีบให้ลงตัวกับพื้นที่ รวมทั้งขยาย ย่อหรือยืด

พูดอีกอย่าง เราต้องอ่านตัวพิมพ์บนแผนที่ด้วยตา เพราะมันมีความเป็นรูปภาพหรือ icon มากขึ้น

ในบทความชื่อ “เทคโนโลยีการทำแผนที่ในยุคสงครามเย็น กับกำเนิดของแผนที่สมัยใหม่ของชาติในประเทศไทย” อาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้เขียนถึงแผนที่ชุด L708

โดยบอกว่าเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นและการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้

L708 มีลักษณะคล้ายรูปที่มาจากภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้ผู้อ่านสามารถมองภูมิประเทศแบบ “สายตานก” หรือเห็นทั้งหมดได้ด้วยการกวาดสายตาเพียงคราวเดียว

ในบทความดังกล่าว เทคโนโลยีการทำแผนที่ทางอากาศ ทั้งกล้องถ่ายรูปและเครื่องบินสมัยใหม่ ถูกนำมาอธิบายอย่างละเอียด ที่ขาดไปคือการพูดถึงเทคนิคการทำตัวพิมพ์ ซึ่งอาจจะบอกลักษณะของ “ตัวเย็น” อันหมายถึงเกิดจากการฉายแสง ไม่ใช่หล่อด้วยตะกั่ว

แต่ที่สำคัญ บทความบอกว่าแผนที่ชุดนี้ทำขึ้นในช่วงที่รัฐบาลไทยเพิ่งจะเห็นความสำคัญของ “หมู่บ้าน” ในฐานะที่เป็นหน่วยสังคมแบบใหม่

มันจึงเป็นการสถาปนาความชอบธรรมของอำนาจรัฐ เพราะเป็นทั้งผู้ทำและผู้อ่าน จึงสามารถอ้างได้ว่าตนเองเข้าใจชนบท และแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่พื้นที่แบบนี้ได้

อาจารย์เก่งกิจไม่ได้มองว่าแผนที่เป็นเครื่องมือ หรือมี “อาญาสิทธิ์” เพียงเพราะใช้ในสงคราม แต่มันเป็น “วาทกรรม” ที่มีบทบาทในหลายระดับ

การเรียกเส้นว่า แม่น้ำหรือลำธาร เรียกเส้นขนานว่า ถนนหรือทางหลวง เรียกวงกลมว่า หมู่บ้านหรืออำเภอ ทำให้พื้นที่นั้นมี “ฐานันดร” พิเศษ ซึ่งผลก็คืออาจะถูกพูดถึง ใช้ตั้งกระทู้ หรือยุติข้อถกเถียงได้

ในขณะนั้น คำว่า “หมู่บ้าน” มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ในทางปฏิบัติ L708 ซึ่งเป็นเพียงผลของการใช้คำว่า “บ้าน” และการระบุชื่อที่ตั้งของพื้นที่เหล่านั้นอย่างละเอียด จึงทำให้ทหารเข้าควบคุมได้โดยง่ายและนักวิชาการเข้าศึกษาได้โดยใกล้ชิด

นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดปฏิบัติการต่างๆ เช่น แผนพัฒนาชนบทต่างๆ โครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง นโยบายกำจัดนักเลง และ การใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นหูเป็นตาให้รัฐ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ รัฐมีบทบาทมากขึ้น นั่นคือชาวบ้านอยู่กับที่และง่ายต่อการสอดส่อง

แผนที่ผลิตสิ่งที่อาจจะสร้างความพอใจให้ชาวบ้าน เช่น น้ำ ไฟและถนน รวมทั้งรั้ว ป้ายชื่อ และการปรากฏตัวในข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ และที่ตามมาคือการประกวดหมู่บ้าน การแต่งบ้าน (ด้วยล้อเกวียน) และการติดพระบรมฉายาลักษณ์ในทุกบ้าน หลังจากนั้น เพื่อต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้มีการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษนิยมแบบต่างๆ ซึ่งในที่สุด ก็จบลงด้วยการออกประกาศ 66/23 ของทหาร

ตัวอย่างหนึ่งในบทความนี้ คือผลที่มีต่อชาวเขา การกำหนดตำแหน่งในแผนที่นำมาซึ่งทัศนะที่ว่าหมู่บ้านของเขามีอยู่จริงและต้องอยู่กับที่ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา และในยุคต่อมา การ “ทำไร่เลื่อนลอย” และ “บุกรุกป่า” จึงกลายเป็นข้อหาที่สำคัญสำหรับคนเหล่านี้

เดนิส วู้ด เคยบอกไว้ว่า แผนที่เป็นข้อถกเถียง (arguments) มากกว่ารูปภาพและข้อมูล เพราะมีการตีความ อัตวิสัย และที่สำคัญคือมีการเมือง

ถ้าคำว่า “บ้าน” มีการเมืองอยู่ในนั้น ตัวพิมพ์ก็เช่นกัน รูปร่างหน้าตาของมัน ไม่ว่าจะเพื่อระบุชื่อหรือแต่งตั้งให้มีฐานะใหม่ ล้วนให้นํ้าหนักแก่ข้อถกเถียงทางการเมือง การใช้คุรุสภาเรียงเป็นชื่อหมู่บ้านทุกแห่งและทำหน้าที่นี้ทุกระวาง จึงเป็นส่วนหนึ่งของการ “สถาปนาอำนาจของรัฐประชาชาติของไทย” ทำให้ L708 มีความน่าเชื่อถือ และนำมาซึ่งชัยชนะอีกครั้งของแผนที่

ในช่วงนั้น ตัวพิมพ์ชื่อคุรุสภามีความหมาย แม้จะไม่แพร่ไปมาก และไม่มีหลักฐานว่าเก็บไว้เป็นความลับหรือเข้มงวดในการใช้กันขนาดไหน แต่การไม่ปรากฏในสิ่งพิมพ์อื่นๆ นอกจากของกระทรวงศึกษาธิการ แสดงว่าตัวนี้มีฐานะว่าต้อง “ใช้ในราชการเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปรากฏตัวอยู่ราวยี่สิบปี กรมแผนที่ทหารบกและคุรุสภาก็เลิกใช้คุรุสภาในแผนที่และแบบเรียนทุกชนิด

ปัจจุบัน แผนที่ทหารยังมีบทบาทในการรับใช้รัฐบาล วาทกรรมแผนที่ก็ยังมีบทบาทในการควบคุมคน แต่แผนที่ก็เปลี่ยนแปลงไปมากทั้ง ในแง่รูปแบบ เทคโนโลยี รวมทั้งเป้าหมาย แผนที่หันไปรับใช้ภาคธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว การค้าขาย หรือการบริการประชาชนแบบต่างๆ

แต่ตัวพิมพ์ชื่อคุรุสภา ทั้งในแผนที่และแบบเรียน ได้กลายเป็นอดีตที่เลือนหายไป