ศิลปะที่หลอมรวมความจริงเข้ากับความแปลกประหลาดมหัศจรรย์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เนื่องในโอกาสที่หนังสือ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลัมเบีย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) งานเขียนชิ้นเอกของวรรณกรรมแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลในสเปน และได้รับการแปลมากกว่า 46 ภาษา ขายไปแล้วกว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก

กำลังมีฉบับภาษาไทย (ที่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปนโดยชนฤดี ปลื้มปวารณ์ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร) ออกวางตลาดในบ้านเรา

ประจวบกับมีมิตรสหายนักอ่านทางออนไลน์ผู้สนใจวรรณกรรมและศิลปะท่านหนึ่ง สอบถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์กับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะกระแสหนึ่ง

ก็เลยถือโอกาสมาเล่าให้อ่านกันในนี้ด้วยเลย

แรกเริ่มเดิมที “สัจนิยมมหัศจรรย์” (Magical Realism) นั่นมีรากเหง้ามาจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Magischer Realismus หรือ Magic Realism ที่เริ่มต้นที่เยอรมนี ในช่วงปี 1920 โดยพัฒนามาจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity (ภาษาไทยเรียกว่า สัจนิยมใหม่) ที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการหลีกหนีจากกระแสศิลปะ Expressionism ที่ไม่มุ่งแสดงออกถึงความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด

หากแต่เน้นการแสดงออกอย่างฉับพลันจากอารมณ์ความรู้สึก จิตใต้สำนึกและสัญชาตญาณอย่างฉับพลัน ซึ่งเฟื่องฟูในเยอรมนีในยุคก่อนหน้า

แต่ Magic Realism ไม่เน้นในการทำงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างจะแจ้งรุนแรงเหมือน New Objectivity แต่เน้นในการสำรวจความแปลกประหลาดและความไม่สอดคล้องลงรอยกันของการมีชีวิต และความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวในสังคมสมัยใหม่มากกว่า

ศิลปิน Magic Realism มักจะวาดภาพที่มีรายละเอียดสวยงามเหมือนจริง ด้วยมุมมองแปลกตา น่าพิศวง เพื่อนำเสนอความน่าประหลาดมหัศจรรย์ที่เราพบเจอในชีวิตจริง ทั้งการใช้สัญลักษณ์, อุปมานิทัศน์ (การเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนการบอกเล่าความหมายโดยตรงหรือการใช้ภาษาเขียนออกมา), การรวมตัวกันของสิ่งที่อยู่ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต, การผสมผสานวัตถุสิ่งของแปลกตาจากต่างวัฒนธรรม, การจับคู่เปรียบของสิ่งที่ขัดแย้งกัน และการกลับไปใช้รูปแบบและเทคนิคการวาดภาพแบบคลาสสิค ทั้งการวาดภาพเหมือนจริงด้วยฝีมืออันชำนิชำนาญ และเทคนิคการใช้น้ำมันและสีฝุ่นผสมไข่ แบบเดียวกับศิลปะในยุคเรอเนสซองส์

ดังเช่นในผลงานของอัลเบิร์ต คาเรล วิลลิง (Albert Carel Willink) ที่ผสมผสานวัตถุสิ่งของแปลกตาจากต่างวัฒนธรรมเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ในทิวทัศน์อันเวิ้งว้าง หรือคริสเตียน แชด (Christian Schad) ที่ผสมผสานลักษณะอันแปลกประหลาดเหนือจริงเข้ากับภาพของความเป็นจริงเพื่อแสวงหาความเป็นจริงผ่านมุมมองใหม่ๆ

อัลเบิร์ต คาร์เรลวิลลิง: Late Visitors to Pompeii (1931), ภาพจากhttps://bit.ly/2PPpqA

ซึ่งกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Magic Realism นี้เอง ที่ส่งอิทธิพลข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และแตกหน่อต่อยอดจนเกิดงานศิลปะในแขนงต่างๆ ทั้งงานจิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพยนตร์

หรือแม้แต่งานวรรณกรรมที่เป็นที่รู้จักในภายหลังในชื่อเมจิกคัลเรียลลิสต์ (Magical Realism) หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่โด่งดังอย่างกว้างขวางนั่นเอง

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า Magic Realism เป็นศิลปะประเภทเดียวกับศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ (Surrealism) ด้วยลักษณะของความแปลกประหลาดเหนือจริงที่ปรากฏอยู่ในผลงานของศิลปินทั้งสองกระแส

แต่ศิลปิน Magic Realism ปฏิเสธความเชื่อมโยงที่ว่านี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องการแสดงสภาวะของจิตไร้สำนึก ความฝัน หรือสภาวะภายในจิตใจ ที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ เช่นเดียวกับศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ แต่พวกเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่พวกเขาได้ประสบพบเจอในชีวิตประจำวันด้วยแง่มุมลึกลับเหนือจริงต่างหาก

พูดง่ายๆ ว่า ในขณะที่ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ใช้ความแปลกประหลาดเหนือจริงเพื่อปฏิเสธและหนีความเป็นจริงและเหตุผล รวมถึงความเชื่อทางศาสนาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่พวกเขามองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงครามที่ฆ่าคนตายไปนับล้านและนำพาความทุกข์ยากมาสู่ผู้คน

แต่ศิลปิน Magic Realism ผนวกความแปลกประหลาดเหนือจริงเข้ากับความเป็นจริง เพื่อแสวงหาความเป็นจริงผ่านมุมมองใหม่ๆ เสียมากกว่า

ศิลปินละตินอเมริกันที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะ Magic Realism อีกคนที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) ศิลปินชาวเม็กซิกันผู้วาดภาพที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ทั้งความรัก ความโกรธ ความเศร้า ความเจ็บปวด ความผิดหวัง ความร้าวรานในชีวิตคู่ ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย

ฟรีดาคาห์โล: Arbol de la Esperanza (Tree of Hope) (1946), ภาพจากhttps://bit.ly/2EpbzeR

เธอมักจะเขียนภาพเหมือนของตัวเอง ถึงแม้เธอจะมีความเกี่ยวพันกับศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ฝรั่งเศส แต่แนวทางการทำงานของเธอก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยเธอกล่าวว่า “ฉันไม่เคยวาดภาพความฝัน หรือฝันร้าย แต่ฉันวาดภาพความเป็นจริงส่วนตัวของฉัน”

ซึ่งความเป็นจริงนั้นกินความหมายรวมถึงดินแดนอันซับซ้อนภายในจิตใจของเธอ ที่ผนวกรวมเอาตำนานปรัมปรา, การอุปมาอุปไมย และอุปมานิทัศน์ที่พรรณนาถึงสภาวะแปลกแยกโดดเดี่ยวอันไม่มีที่สิ้นสุดเข้าไว้ด้วยกัน

ส่วนศิลปินอเมริกันที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะ Magic Realism นั้นแยกตัวเองออกจากทั้งกลุ่มศิลปินจากยุโรปและละตินอเมริกา ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้สัญลักษณ์อันแปลกประหลาดและรูปลักษณ์อันเหนือจริง เพื่อขับเน้นความลึกลับและคุณสมบัติของความเป็นนามธรรมในชีวิตประจำวันมากกว่า ผลงานของพวกเขามักเป็นศิลปะแบบเหมือนจริง หากแต่ก็ยังเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันลึกลับ คลุมเครือ น่าพิศวง เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกกระจัดกระจายไร้รากในวิถีชีวิตของคนอเมริกัน

ไม่ว่าจะเป็น อิวาน อัลไบรต์ (Ivan Albright) หนึ่งในจิตรกร Magic Realist แถวหน้าชาวอเมริกัน ผู้มักจะมุ่งเน้นในการแสดงออกถึงภาพของวัตถุและผู้คนที่กำลังเสื่อมสลายเน่าเปื่อย เพื่อขับเน้นถึงผลกระทบจากกาลเวลาและสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความตายและแก่นสารของชีวิต

อิวานอัลไบรต์: Into the World There Came a Soul Called Ida (1929-30), ภาพจากhttps://bit.ly/2PMr4m

หรือเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) จิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์ ที่ผลงานของเขาไม่เพียงวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตแบบอเมริกัน หากแต่ยังเป็นเหมือนหน้าต่างที่เปิดไปสู่โลกภายในของตัวเอง ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “ศิลปะที่ยิ่งใหญ่คือการแสดงออกถึงชีวิตภายในของศิลปินออกสู่โลกภายนอก”

เอ็ดเวิร์ดฮอปเปอร์: New York Movie (1939), ภาพจากhttps://mo.ma/38I3AH

ตัวละครในภาพของเขามักจมอยู่กับห้วงความคิดของตัวเอง แปลกแยก ไม่มีทีท่าว่าจะมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกัน สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตของผู้คนอันว่างเปล่า โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ที่ปรากฏอยู่ในสังคมเมืองทุกแห่งหนนั่นเอง

ข้อมูล https://bit.ly/38I2f3r