คำ ผกา | ขยะ ทิ้งแล้วไปไหน?

คำ ผกา

ฉันเกิดมาในยุคที่เรายังไม่มีถุงก๊อบแก๊บใช้กันอย่างดาษดื่น

และอยู่ในยุคที่ถ้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้ามาแล้วได้ถุงกระดาษสีน้ำตาลใหม่เอี่ยม เราจะเก็บถุงกระดาษเหล่านี้พับไว้อย่างดี เก็บไว้ให้ใหม่เอี่ยมอ่องเพื่อที่จะได้นำมาใช้ใส่ข้าวของอื่นๆ อีกต่อไป

ที่บ้านฉันขายหมู เราใช้ใบพลวงห่อเนื้อหมู ข้าวเหนียวในตลาดห่อใบตอง ผักต่างๆ ที่ขายในตลาดล้วนห่อและพันด้วยใบตองทั้งสิ้น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ถ้าไม่ห่อกระดาษก็ห่อใบตอง

ถุงพลาสติกนั้นใช้ถุงร้อนเป็นส่วนใหญ่ และใช้กับสิ่งที่มัน “ห่อ” ไม่ได้จริงๆ เท่านั้น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ โจ๊ก แกงที่เป็นน้ำๆ

และเหตุที่เราไม่ใช้พลาสติกกันพร่ำเพรื่อ ไม่ใช่เพราะเรารู้จักคำว่า “รักสิ่งแวดล้อม”

แต่เพราะถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อ มีราคาแพง

ในขณะที่ใบตองเป็นของฟรี ตองกล้วยมีในสวน ส่วนใบตองพลวงในสมัยที่ฉันเป็นเด็กราคาถูกกว่าถุงพลาสติก

จากวันนั้นถึงวันนี้ที่ใบตองทั้งตองกล้วย ใบพลวง กลายเป็นสิ่งหาไม่ง่าย ราคาไม่ถูก

ยิ่งมาคิดว่า ใบตองซื้อมาสามวันก็เหี่ยว ในขณะที่ถุงพลาสติก ซื้อมาใช้แล้วไม่บูด ไม่เน่า ไม่เหี่ยว

เมื่อคิดในเชิงต้นทุน ใช้ถุงพลาสติกย่อมมีต้นทุนที่ถูกกว่า

แล้วก็ตลกที่ใบตอง หรือวัสดุจากธรรมชาติทั้งหลาย หายากขึ้น ราคาแพงขึ้น ต้องการความประณีตในการเก็บรักษา ราคาถุงพลาสติกลับถูกลงเรื่อยๆ ในแง่ของการบริโภคสินค้า อาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ

การใช้ใบตองเป็นส่วนหนึ่งของการทำแพ็กเกจจิ้งที่ละเมียดละไม จึงเป็นการเพิ่มทั้งมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้า

ตำแหน่งแห่งที่ของเชือกกล้วย ตอกไม้ไผ่ ใบตอง กระติ๊บข้าวสาน ตะกร้า ฯลฯ จึงมีอยู่สองที่ที่ไกลกันสุดขั้ว

คือ ถ้าไม่อยู่ในตลาดชาวบ้านไปเลย (ด้วยเหตุผลว่าการใช้วัสดุธรรมชาติมีต้นทุนที่ต่ำกว่า) ก็อยู่ในร้านอาหาร “ไทย” ที่ค่อนข้างจะหรูหรา เพราะใบตอง หรือวัสดุธรรมชาติ ช่วยทำให้อาหารดูแพง ดูมีรสนิยม ดูละเมียดละไม ดูสี่แผ่นดิน ดูเป็นผู้ดีนั่งพับเพียบเจียนใบตอง แกะสลัก อะไรอย่างนั้น

ส่วนตัวฉันเองจะด้วยเติบโตมาจากบ้านนอกที่คุ้นเคยกับใบตอง ใบพลวง ไหข้าวที่ทำจากไม้ การใช้ตอกไม้ไผ่ เชือกกล้วย ไม้กลัดที่ทำจากทางมะพร้าว ในการทำบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน แล้วจำแลงร่างมาเป็นชนชั้นกลางในเมืองนั้นยอมรับว่ามีความโหยหาวัสดุธรรมชาติเหล่านั้น แล้วเฝ้าฝันให้มันได้กลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปโดยเฉพาะคนในเมืองอีกครั้ง และจะดีมาก ถ้ามันสามารถอยู่กับอาหารข้างถนน ในตลาด กับผู้คนธรรมดาสามัญ และไม่ต้องทำให้มันกลายเป็นของ “ไฮโซ”

ฉันไม่ปฏิเสธว่าพลาสติกมีประโยชน์มาก ในครัวบ้านฉันยังไงก็ต้องมีถุงพลาสติก ที่เป็นถุงร้อน ถุงเย็น ติดครัวไว้เสมอ รวมทั้งหนังยางด้วย (โดยมากเป็นหนังยางรีไซเคิล)

นอกจากถุงพลาสติกบรรจุอาหาร (ที่พยายามใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ) สิ่งที่ขาดไม่ได้ในไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่คือ wrap พลาสติกที่เอาไว้ปิดอาหาร ผลไม้ ซึ่งก็พยายามใช้เท่าที่จำเป็นอีกนั่นแหละ

แต่ในท่ามกลางประโยชน์มหาศาลของพลาสติก และความสะดวกหลายประการที่เราได้รับจากพลาสติก ฉันก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า สินค้าหลายอย่างในท้องตลาดทุกวันนี้ เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้โฟมหรือพลาสติกเลย

และไม่น่าจะเป็นภาระแก่ผู้ผลิตหรือผู้ขายเท่าไหร่

เริ่มจากข้าวเหนียว ข้าวเหนียวที่ธรรมชาติของมันที่เป็นก้อนข้าวนุ่มๆ ไม่รั่ว ไม่หก มันไม่มีความจำเป็นต้องไปอยู่ในถุงพลาสติกสักนิดเดียว

งานขายข้าวเหนียวในทุกเงื่อนไข ควรคืนข้าวเหนียวให้กลับไปอยู่ในใบตองได้แล้ว

ยังจำได้ว่า ตลาดในเชียงใหม่ ลำปางสมัยก่อน เขาเอาข้าวเหนียวห่อใบตอง มัดด้วยตอกไม้ไผ่ ทั้งสวย ทั้งน่ารัก ทั้งใบตองยังระบายไอน้ำความชื้นจากข้าวเหนียว

ไม่นับว่าข้าวเหนียวร้อนไป เจอกับผิวของใบตอง ก็ได้กลิ่นหอมใบตองอ่อนออกมาอีก

ปลาทูเข่ง – ใช่ – ปลาทูเข่ง มันควรจะอยู่ในเข่งไม้ไผ่สาน

มันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมานอนในถาดโฟมที่หุ้มด้วยพลาสติกแร็พเลย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันก็เข้าใจว่า การแทนที่เข่งปลาทูไม้ไผ่ด้วยถาดโฟมน่าจะเกิดจากการดูแลรักษาเข่งไม้ที่ยากกว่า กินพื้นที่มากกว่า แถมยังดูมอมแมม สกปรก

ตรงกันข้าม ถาดโฟมขาวๆ ดูสะอาด น้ำหนักเบา ดูแลง่าย

แต่ได้โปรดเถอะ ไหนๆ กระแส “แบน” ถุงพลาสติกก็มาแล้ว ใครก็ได้ช่วยคืนปลาทูให้กลับไปอยู่ในเข่งไม้ไผ่แสนคลาสสิคด้วย ไม่เพียงแต่จะคลาสสิค เรายังจะได้ลดการใช้ถาดโฟมไปมหาศาล

มันจะดีแค่ไหน ถ้าเราอยู่ในยุคหิ้วถุงผ้า หิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาดแล้วไปซื้อปลาทู เราจะได้ปลาทูนอนเข่ง ที่แม่ค้าจะเอาออกจากเข่ง ห่อใบตองให้เรากลับบ้าน แล้วเข่งเหล่านั้นก็หมุนวนกลับไปที่คนทำปลาทูนึ่งต่อไปอีก

ขนมไทย และข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็พากันไปอยู่ในถาดโฟมขนาดเล็ก ปิดด้วยพลาสติกแร็พกันอีก ช่วยเอาขนมเหล่านี้กลับมาห่อใบตองขายกันอีกจะได้ไหม

บอกตามตรงว่า แพ็กเกจจิ้งมีผลต่อความอร่อย ข้าวเหนียวสังขยาที่ไปอยู่ในถาดโฟม มันไม่อร่อยเท่าที่อยู่ในห่อใบตองจริงๆ นะ

ข้าวเหนียวมะม่วง นี่เป็นอาหารไทยที่นักท่องเที่ยวชอบมากที่สุด ฉันเชื่อว่า ประเทศไทยทำรายได้จากข้าวเหนียวมะม่วงมหาศาล ในธุรกิจข้าวเหนียวมะม่วงนี้มีเม็ดเงินหมุนวนเวียนอยู่มากเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้แน่นอน

ทำไม อีกนั่นแหละ นี่เป็นอาหาร (หรือขนม?) ที่ควรจะต้องกลับไปอยู่ในใบตอง ไม่ใช่ อยู่ในกล่องโฟมแบบทุกวันนี้

ถ้าเป็นข้าวเหนียวมะม่วงพร้อมเสิร์ฟ ฉันคิดว่าห่อมันได้แบบข้าวเหนียวสังขยา แต่ถ้าเป็นแบบซื้อกลับไปกินที่บ้าน ส่วนที่เป็นข้าวเหนียวมูนควรห่อใบตอง มะม่วง เอากลับบ้านไปทั้งลูก เวลาจะกินค่อยปอก น้ำกะทินั่นอนุโลมให้ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ ได้ แล้วการที่มันอยู่ในใบตองเนี่ยะ เรายังเอาไปอุ่นในไมโครเวฟได้แสนสะดวก

เส้นขนมจีน – มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมากๆ อีกนั่นแหละว่า เอาขนมจีนใส่เข่งพลาสติกนั้นมันคงสะดวกและราคาถูกกว่าจริงๆ

แต่ ณ ยามที่กระแสสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ เราก็ควรใช้โอกาสนี้แหละ รณรงค์ให้ลด ละ เลิก แฟชั่นขายขนมจีนในเข่งพลาสติกเสียทีเถอะ

แล้วถ้าใส่เข่งไม้ไผ่จะเสี่ยงต่อเชื้อรา ง่ายที่สุดก็กลับไปหาใบตองอีกนั่นแล

ของง่ายๆ อย่างขนมจีน มันไม่ควรไปอยู่ในเข่งพลาสติก หรือถาดโฟม โดยไม่จำเป็นเลย

เขียนมาถึงตรงนี้จินตนาการฉันก็บรรเจิดมาก เมื่อพบว่า สินค้า อาหารหลายอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์เลย

และเหตุผลเดียวที่พลาสติกเข้าไปแทนที่ทุกสิ่งอย่าง ก็เพราะมันสะดวก สะอาด ราคาถูก ตรงกันข้าม การใช้ใบตองนั้น ต้องมีคนมานั่งเช็ดใบตองทีละใบ และต้องเช็ดอย่างสะอาดที่สุด

ไม่พอ – ต้องมีคนตั้งคำถามอีกว่า ไอ้ใบตองที่ใช้ตามร้านค้านั้นเขาเอาผ้าอะไรเช็ด ผ้านั้นสะอาดหรือเปล่า จากนั้นต้องมานั่งฉีกใบตองให้ได้ขนาดที่เหมาะสมอีก แล้วในยุคที่แรงงานหายากหาเย็น ใคร้ ใครจะมานั่งฉีกใบตอง

จะใช้เข่ง ใช้ตะกร้าไม้ไผ่ก็เสี่ยงกับมอด กับเชื้อรา อายุการใช้งานก็สั้น ก็เปลี่ยนบ่อยๆ ตัดปัญหา กลับมาที่พลาสติกกับโฟมเหมือนเดิม

ทีนี้ถ้าเรามานั่งคิดกันใหม่ หากพ่อค้าแม่ขาย ร้านขายขนมจีน ปลาทูเข่ง สามารถไปซื้อใบตองที่ผ่านการเช็ด ฉีก ตัด หรือทำเป็นกระทง ในหลายไซซ์ พร้อมใช้งาน เหมือนเราไปซื้อกล่องโฟม หรือถุงพลาสติกมาใช้ได้โดยสะดวกล่ะ?

หรือเราสามารถซื้อตะกร้า ซื้อเข่ง ที่ผ่านกรรมวิธีอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่มีมอด ไม่มีรา ในราคาย่อมเยาได้ล่ะ?

แทนที่แม่ค้าข้าวเหนียวสังขยาจะต้องมานั่งเจียนใบตองเอง ก็มีกิจการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ใบตอง เป็น expert เรื่องใบตอง ทำใบตองขายอย่างเดียว ทั้งสด ทั้งแห้ง ซื้อไปแล้วพร้อมใช้ พร้อมห่อ ออกแบบสำหรับบรรจุอาหารได้หลายแบบ หลายรูปทรง

มันคงไม่สามารถแทนที่พลาสติกได้ทั้งหมด แต่ลองจินตนาการว่า ในพลาสติกที่เราใช้ร้อยละร้อย มีใบตองค่อยๆ แทรกไปร้อยละห้า ร้อยละสิบของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งประเทศ

แค่นี้เราก็ลดปริมาณการใช้พลาสติกกับโฟมไปมหาศาล ไม่นับการค่อยๆ ปรับทั้งพฤติกรรม วัฒนธรรม และความเคยชินของทั้งคนซื้อ คนขาย เป็นแรงจูงใจให้คนพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้คนมีอาชีพ

ที่สำคัญมันนำไปสู่วัฒนธรรมของการใช้วัสดุจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเหลือการใช้พลาสติกเท่าที่มันสำคัญและจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่นับการลดขยะได้มหาศาล

ฉันเห็นด้วยที่จะมีการ “ยกเลิก” การใช้ถุงก๊อบแก๊บใส่ของในร้านค้า และลูกค้า ผู้บริโภคต้องเรียนรู้ที่จะพก “ถุง” จากบ้านตัวเองไปใส่สิ่งของที่ตนเองซื้อ ไม่จำเป็นต้องเป็นถุงผ้า เป็นตะกร้า เป็นถุงก๊อบแก๊บใบเก่าที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ เป็นถุงพลาสติกใบใหญ่ เนื้อหนา ที่ได้มาจากห้างตอนซื้อผ้า หม้อ ซื้อกระทะ อะไรก็ว่าไป ไม่จำเป็นต้องเป็นถุงผ้าเก๋ไก๋ สกรีนคำว่า รักษ์โลก ถุงอะไรก็ได้ ที่เรามีอยู่ในบ้าน พับเล็กๆ พกติดกระเป๋าไว้เสมอ เผื่อใช้ ไม่เพียงแต่จะเห็นด้วย ฉันว่าเราเริ่มช้าไปเสียด้วยซ้ำ

เป็นธรรมดาที่ตอนเริ่ม คนที่ไม่คุ้นเคยก็อาจจะบ่น และเนื่องจากเราชอบคิดว่าถุงก๊อบแก๊บจากห้างเป็นของแถม เป็นของฟรี เราเลยรู้สึกว่า เสียผลประโยชน์ แต่เชื่อฉันเถอะ การที่เราใช้อะไรก็ตาม (ไม่ใช่แค่ถุงพลาสติก) ให้น้อยลง ใช้อย่างรู้คุณค่า ใช้อย่างคุ้มค่า มันก็ดีทั้งนั้นแหละ

เมื่อเราใช้ถุง “ซ้ำ” หิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาดบ่อยๆ ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นความเคยชิน ในอนาคต ไม่เพียงแต่การไปซื้อของในห้าง การไปตลาดสด เราก็จะหิ้วถุงผ้า เดี๋ยวนี้แม่ค้าผักในตลาดหลายรายก็เริ่มเสนอถุงก๊อบแก๊บเก่าใช้แล้ว เป็นทางเลือกให้เราว่า เอาผักใส่ถุงที่ใช้ซ้ำแต่ยังสะอาดไหมคะ?

สำหรับฉันนี่เป็นสัญญาณที่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐจะต้องทำไปพร้อมกันหากมีความจริงใจเรื่องการลดขยะพลาสติกจริงๆ เป็นอย่างที่ฉันสาธยายไปข้างต้น อย่าให้เราต้องแบกกล่องโฟม และตะกร้าพลาสติก และอีกหลายพลาสติก ใส่ถุงผ้ากลับบ้านมาด้วยอีกเลย

เนื้อสัตว์ต่างๆ ห่อกระดาษได้ไหม?

ทำยังไงจะให้การใช้ใบตองกลับมาอยู่ในชีวิตประจำวัน ในราคาที่ย่อมเยา สะอาด และสะดวกอีกครั้ง แทนที่จะทำให้ใบตองเป็นสัญญะของความเป็นไทยปลอมๆ ที่เอาไว้อัพราคาของให้แพงขึ้น

สำคัญที่สุด รัฐต้องพิสูจน์ให้เห็นว่านโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายสร้างภาพฉาบฉวย

แต่เรากำลังจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการปฏิวัติระบบจัดการขยะให้เป็นที่ประจักษ์

รัฐต้องเปิดเผยมาให้หมดว่า ระบบการจัดการขยะประเทศนี้อยู่ในความรับผิดชอบของใคร

เป็นของรัฐบาลกลาง หรือเป็นของท้องถิ่น หรือทั้งคู่ และใครรับผิดชอบที่จุดไหน งบฯ เท่าไหร่ ไหนๆ ก็สามารถแบนถุงก๊อบแก๊บได้แล้ว สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ “แผนที่ขยะ” ของไทย ขยะเดินทางออกจากบ้านเราแล้วไปไหน?

จากนั้นต้องเซ็ตระบบ แยกขยะจากครัวเรือน ระบบการผลิตถุงขยะตามประเภทขยะที่รีไซเคิล แล้วกระบวนการนี้ต้องมีแผนที่ให้ประชาชนรู้ว่า ขยะที่เราแยกเนี่ย แยกแล้วไปไหน? ถูกนำไปรีไซเคิล รียูส ทำลายอย่างไร ด้วยวิธีการใด ภายใต้ความรับผิดชอบของใคร?

พร้อมๆ กันนั้น ในประเทศที่มีวัสดุธรรมชาติ พร้อมสำหรับนำมาทำบรรจุภัณฑ์แทนที่พลาสติกเยอะแยะไปหมดอย่างประเทศไทย ทั้งไม้ไผ่ ใบตอง ใบลาน ใบพลวง รัฐพร้อมจะอุดหนุน สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลาง และขนาดเล็ก หันมาใช้วัสดุธรรมชาติทดแทนพลาสติกที่เคยใช้ได้อย่างไรบ้าง?

แค่ข้าวเหนียวทั่วไทยได้ห่อด้วยใบตองทั้งหมด หรือปลาทูกลับไปอยู่ในเข่งได้ทั้งหมด

ทำได้แค่นี้เพื่อเป็นการนำร่องก่อนได้ก็จะเป็นพระคุณ

นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาประเทศไทยกลายเป็นประเทศนำเข้าขยะเป็นอันดับต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก

นี่ยังไม่พูดถึงปัญหามลพิษทั้งดิน น้ำ อากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

นี่ยังไม่พูดถึงปัญหารักษาต้นไม้ไว้ไม่ได้ และไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้อย่างจริงจังอีก

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการออกแบบเมืองเพื่อเอื้อให้ไลฟ์สไตล์กรีนๆ เป็นสิ่งที่ “ง่าย” เพราะความกรีน ไม่ควรยาก และมาพร้อมกับความฟุ่มเฟือยบางอย่างในชีวิตถึงจะทำได้

เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะ เรื่องลดการใช้โฟม และพลาสติก เป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่กระแส ไม่ใช่แฟชั่น และการเชื่อว่า การแบนถุงก๊อบแก๊บสำเร็จเท่ากับการได้เป็นประเทศกรีนๆ เหมือนญี่ปุ่น เหมือนยุโรปแล้ว เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ส่วนปัจเจกบุคคลท่านใดที่คิดว่าหิ้วถุงผ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว เท่ากับท่านได้รักษ์โลกแล้วเซฟเดอะฟักกิ้งเวิร์ดแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง หรือความพิลึกพิลั่นเกี่ยวกับโรงเผาขยะ การนำเข้าขยะพิษ ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องอยู่ในเมืองที่ต้องขับรถเผาผลาญเชื้อเพลิงขนาดนี้

ไม่เคยตั้งคำถามว่าเราสามารถเปิดแอร์น้อยกว่านี้ได้ไหม ถ้าเพียงแต่บ้านเราจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ หรืออื่นๆ

นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน

เขื่อน บิลลี่ ป่าแก่งกระจาน ไร่ข้าวโพด การเผาไร่ การผูกขาดอุตสากรรมเกษตร อาหาร และถุงผ้าที่รัฐบาลเผด็จการ กับร้านสะดวกซื้อสนับสนุนให้เราใช้ ต่างๆ เหล่านี้ บางทีก็พัวพันกันอย่างพิลึกพิลั่นพันลึก

ถือถุงผ้านั้นดีแน่ แต่ทุกครั้งที่ถือก็อย่าลืมนึกถึงความพิลึกพิลั่นพันลึกเหล่านี้เพื่อเตือนตัวเองว่าใจกลางของปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข