E-DUANG : “สังคมไทย” กับ 1 ชีวิตบน”เสาโทรศัพท์”

ไม่ว่าจะมองและประเมินการเสียชีวิตของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ บนเสาโทรศัพท์อย่างไร

มองว่าเป็น “ศิษย์ธรรมกาย”

มองว่าเป็น “ชาวบ้าน” ซึ่งเคยบวชเรียน เพียงแต่บวชเรียนจาก วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

มองว่าเป็นเพราะ “ความเครียด”

แต่ความเป็นจริงที่แม้กระทั่ง “ดีเอสไอ” ก็ต้องยอมรับว่า คือการเสียชีวิตของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ เนื่องมาแต่ความรู้สึกและ ความคิดเห็นต่อ

“มาตรา 44”

ประจักษ์พยานอันเด่นชัดก็คือ การนำกระดาษและเขียนข้อความในกระดาษจำนวน 3 แผ่น ก่อนตัดสินใจอย่างเฉียบขาดในเวลา 21.00 น.

ทั้งๆที่เป็นการตายอย่างมี “เป้าหมาย” ทั้งๆที่ “เป้าหมาย”นั้นมีความแจ่มชัด

ทำไมจึงนำมาเป็น “คำถาม”

 

คำตอบไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะมาจากมุมของคนที่เศร้าสะ เทือนใจ ไม่ว่าจะมาจากมุมของคนที่สะใจ เยาะเย้ย หยามหยัน

ไม่สลับซับซ้อนเพราะสะท้อนลักษณะ “เลือกข้าง”

หากเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับ “มาตรา 44” เห็นด้วยกับคำสั่งหัว หน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560

ก็หงุดหงิด ไม่พอใจ

หากเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ “มาตรา 44” ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560

ก็เศร้าและรู้สึกสะเทือนใจ

นี่คือสภาพอันสะท้อนลักษณะ “เลือกข้าง”ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

จากรัฐประหาร 2549 มายังรัฐประหาร 2557

การเสียสละชีวิตของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ จีงเท่ากับเป็นการตอกย้ำอีกคำรบ 1

ถึง”ทศวรรษ” แห่งความขัดแย้ง แตกแยก

 

ไม่ว่าจะยืนมองในด้านใด ด้านที่เห็นด้วยกับ”มาตรา 44″ ด้านที่ไม่เห็นด้วยกับ”มาตรา 44″

ก็ล้วนแล้วแต่เกิด “คำถาม”

คำถามเพราะไม่แน่ใจว่า การเสียสละชีวิตของ นายอนวัช ธน เจริญณัฐ จะเป็นความสูญเปล่าหรือไม่

หากแทนที่จะทำให้เกิดความฉุกคิด ไตร่ตรอง

หากแทนที่จะเป็นการสูญเสียเฉพาะชีวิตของ นายอนวัช ธน เจริญณัฐ เท่านั้น หากแต่มีแนวโน้มและความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายชีวิต

เพราะ “มาตรา 44” ก็ยังเดินหน้าต่อไป

เพราะ “มาตรการ” ต่างๆอันเกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 ก็ยังดำเนินอยู่ ทั้งยังตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 12/2560

การประจันหน้ากันที่ “คลองหลวง” ก็ยังเป็น “สภาพ”ที่เห็นอยู่ทุกวัน