ต่างประเทศ : โลกระอุ “ทรัมป์” จุดไฟสงครามอิหร่าน!

เพิ่งจะก้าวสู่ศักราชใหม่มาหมาดๆ ก็หวังใจว่าเรื่องเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงจะมลายหายไปพร้อมกับปีเก่า และมีสิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นแทน

แต่ไม่ทันไร “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐอเมริกาเจ้าเก่าก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับโลกขึ้นอีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ด้วยการส่งโดรนโจมตีสังหาร พล.ต.คัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ในสังกัดกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (ไออาร์จีซี) กองทัพที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอิหร่าน

ปฏิบัติการเด็ดชีพกระตุกหนวดเสืออิหร่านครั้งนี้ของทรัมป์ที่เป็นผู้ออกคำสั่งโดยตรงให้สังหารคัสเซม ที่นับเป็นบุคคลทรงอิทธิพลสูงสุดเบอร์ 2 ของอิหร่าน โดยเป็นรองแค่เพียงอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ได้จุดความโกรธแค้นเดือดดาลให้กับคณะผู้ปกครองและชาวอิหร่านที่ประกาศกร้าวจะตอบโต้เอาคืนสหรัฐอเมริกาอย่างสาสม!

เหตุใดจึงต้องสังหารนายพลคัสเซม?

ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์คือใคร มีนัยสำคัญมากเพียงใดในสายตาของอิหร่าน?

และเหตุการณ์นี้จะก่อแรงกระเพื่อม ส่งผลสะเทือนอย่างไรขึ้นตามมา?

 

ต้องย้อนไปดูปูมความขัดแย้งรอบใหม่ล่าสุดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน คู่ขัดแย้งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาช้านาน

เริ่มต้นขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนก่อนหน้าเป็นผู้ริเริ่มเอาไว้ โดยชักชวนสหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่ออิหร่าน แลกกับการระงับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ผลที่ได้จากข้อตกลงนี้ไม่เพียงคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านให้ผ่อนเบาลงเท่านั้น

หากยังช่วยลดอุณหภูมิตึงเครียดในภูมิภาคลงอย่างมากอีกด้วย

สภาพผ่อนคลายดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว เปิดทางให้อิหร่านกลับมาเสริมสร้างอิทธิพลในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ ภายใต้การเคลื่อนไหวร่วมกับรัสเซียและพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอย่าง ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่อิหร่านช่วยพยุงจนรอดพ้นวิกฤตการณ์ในซีเรียมาได้ในที่สุด

ยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลใหม่ในตะวันออกกลางของอิหร่านคือผลงานเป็นรูปธรรมของนายพลคัสเซม ผู้สร้างชื่อเสียงมาจากสงครามอิรัก-อิหร่านระหว่างปี 1980-1988

เป้าหมายถัดไปของนายพลคัสเซม คือการสถาปนารัฐบาลชีอะห์ที่มั่นคงขึ้นในอิรัก แทนที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ “ปลดปล่อย” ประเทศนี้จากเงื้อมมือเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003

อิรักจึงกลายเป็นเวทีประลองอิทธิพลอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านไปโดยปริยาย

 

ปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธต่อที่ตั้งทางทหารอเมริกันในภูมิภาคนี้ทวีความหนักข้อขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของกลุ่มฮาชิด อัลชาบี กลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ที่คัสเซม โซไลมานี จัดตั้งและให้การสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและยุทธวิธีอยู่ในอิรัก คาเตบ ฮิซบอลเลาะห์ คือกองกำลังส่วนหนึ่งของกลุ่มจัดตั้งนี้

พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการโจมตีต่อที่ตั้งทางทหารและอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาในอิรัก เริ่มถี่ขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา

กระทั่งถึงเหตุโจมตีที่ตั้งทางทหารใกล้เมืองเคอร์คุก ทางตอนเหนือของอิรักเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ทำให้ทหารอเมริกันหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส และพลเรือนในสัญญาจ้างของกองทัพอเมริกันรายหนึ่งเสียชีวิตลง

เหตุการณ์นี้ได้จุดไฟตอบโต้จากกองกำลังอเมริกันในอิรักอย่างเฉียบขาดรุนแรง โดยมีการส่งกำลังโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นของคาเตบ ฮิซบอลเลาะห์ ทั้งในอิรักและในชายแดนซีเรีย

กระทั่งมาถึงปฏิบัติการส่งโดรนจู่โจมขบวนรถของนายพลคัสเซมที่กำลังวิ่งอยู่ใกล้กับสนามบินในกรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา

เป็นการปลิดชีพนายพลอิหร่านผู้ทรงอิทธิพลแห่งตะวันออกกลางและแบ๊กอัพใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธชีอะห์อย่างไม่มีวันหวนกลับ

 

ผู้เชี่ยวชาญกิจการตะวันออกกลางให้ความเห็นตรงกันว่า อิหร่านต้องตอบโต้สหรัฐอเมริกาแน่นอนกับการสูญเสียเสาหลักทางด้านการทหารไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นในรูปแบบใด รุนแรงมากน้อยขนาดไหนเท่านั้น

แต่ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า การตอบโต้ดังกล่าวไม่ใช่การประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐอเมริกา แต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบหลากหลาย ตั้งแต่การเปิดไฟเขียวให้กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคเพิ่มปฏิบัติการด้วยจรวดและกับระเบิดต่อเป้าหมายที่เป็นบุคลากรทางทหารของอเมริกันในภูมิภาค

ก่อหวอดให้เกิดการประท้วงแล้วบุกจู่โจมสถานทูตอเมริกันในแบกแดด

มุ่งโจมตีทหารอเมริกันที่หลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยนายที่ทำหน้าที่อารักขาลานน้ำมันอยู่ทางตะวันออกของซีเรีย

หรือส่งสัญญาณโจมตีโดยตรงต่อกองทัพอเมริกันในอัฟกานิสถาน การก่อการร้ายของฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน

อิหร่านอาจใช้ขีปนาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของอเมริกันในอิรัก หรือในอีกหลายจุดหลายประเทศในย่านอ่าวเปอร์เซีย หรือเพิ่มการวินาศกรรมเรือบรรทุกน้ำมันและเรือพาณิชย์ในเส้นทางเดินเรือที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

เรื่อยไปจนถึงการใช้โดรนโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตน้ำมันในหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบีย ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกา

หรือแม้แต่การก่อการร้ายในดินแดนสหรัฐอเมริกา เหมือนเช่นที่เคยพยายามกระทำต่อเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในวอชิงตันมาแล้วเมื่อปี 2011

แต่ที่แน่ๆ โลกได้เห็นกันแล้วสดๆ ร้อนๆ กับการตอบโต้ยกแรกของอิหร่านเมื่อ 8 มกราคมนี้ จากการระดมยิงจรวดวิถีโค้งจากพื้นสู่พื้นจำนวน 15 ลูก ถล่มเป้าหมายทางทหารของสหรัฐอเมริกาในอิรัก!