มุกดา สุวรรณชาติ : ประชาธิปไตยแบบ 70:30 บรรลุเป้าหมายแล้ว จะปรองดองแบบไหนดี (2)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอน 1

หลังเลือกตั้ง 2554
อำนาจจากการเลือกตั้ง
ยังได้แค่ 50/50

การชนะเลือกตั้ง 2554 เป็นความก้าวหน้าของฝ่ายประชาธิปไตยขั้นหนึ่ง ที่ยกระดับจากการตั้งรับหลังการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 ขึ้นมายันกับกลุ่มอำนาจเก่าได้แค่ 50/50 โดยมี…

ส.ส. 265 เสียง เกินครึ่งสภา รวมกับพรรคร่วมรัฐบาลก็มีถึง 300 เสียง

มีฐานเสียงสนับสนุนของประชาชน จากพรรครัฐบาล กว่า 20 ล้านคะแนน

แต่อำนาจแบบนี้ใช้เฉพาะในสภา และในที่ประชุม ครม.

ไม่ได้มีความเหนือกว่าจนสามารถทำอะไรตามที่ต้องการได้ทุกเรื่อง

เพราะเป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากการปฏิวัติ จึงเป็นชัยชนะที่มีขอบเขตของอำนาจ ตามตัวอักษรในกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ใช้ในยุคนั้นๆ ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าได้วางยาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ผลก็คือ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งยังต้องอยู่ในคุก

ฝ่ายเผด็จการซ่อนรูปยังลอยหน้าอยู่ได้สบายมาก

ความยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ดำเนินต่อไป

สิ่งที่ไม่ได้แก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ หลังเลือกตั้ง 2554 คือ อำนาจฝ่ายทหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรฐานในระบบยุติธรรม รัฐบาลจึงถูกล้มจากปัจจัยที่ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขเหล่านั้น เพราะเป็นความได้เปรียบของฝ่ายตรงข้าม

การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงดำเนินไปแบบไม่ปิดบัง ทำไปตามสูตรเก่า

คือ ใช้ม็อบนำ ตามด้วยกฎหมาย และปิดท้ายด้วยรัฐประหาร เกม 50/50 จบลงในปี 2557

ความขัดแย้งดำเนินต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปี ถึงตอนนี้บอกว่า มาปรองดองกันซะดีๆ

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

การปรองดอง
โดยไม่พูดถึงอดีตทำได้หรือไม่?

ปัญหาอยู่ที่อดีตหรือเหตุการณ์ในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่โยงถึงปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ และหลายเรื่องขยายตัวออกไปร้ายแรงมากขึ้น หรือไปเพิ่มเรื่องใหม่

ดังนั้น ความขัดแย้งในอดีตที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน ถ้าไม่พูดก็แก้ไขปัญหาปัจจุบันไม่ได้ และถ้าแก้ไขปัญหาปัจจุบันไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาในอนาคต แล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร

ยกตัวอย่าง…

เหตุการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงการรัฐประหาร 2557 เกี่ยวเนื่องกันมาโดยตลอด คู่ขัดแย้งก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆ สุดท้ายจะเห็นว่าแม้หลังรัฐประหาร 2557 เรื่องเก่าก็ยังแก้ไม่จบ เช่น กรณีการสลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บ 2,000 คน ยังไม่ไปถึงไหน

ถ้าจะทำการนิรโทษแบบสมัยยุค พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่ละฝ่ายก็ไม่มีใครยอม เรื่องนี้จึงคาราคาซังอยู่เป็นบาดแผลที่ทั้งลึกทั้งกว้าง แต่คนที่เกี่ยวข้องและเหตุการณ์นั้นยังมีจำนวนหนึ่งติดคุกอยู่

เหตุการณ์การชุมนุมในแต่ละครั้งซึ่งมีผู้กระทำความผิดจำนวนมาก เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาลจะทำอย่างไร เช่น ปิดถนน ปิดสนามบิน ยึดกระทรวงทบวงกรม ล้มการเลือกตั้ง ยึดทำเนียบรัฐบาล ยังเป็นคดีติดค้างอยู่ ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2557 และลากต่อมาจนถึงทุกวันนี้

จนถึงปัจจุบันก็ยังเห็นคดีที่เกิดกับฝ่ายการเมือง จากนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งกำลังเป็นคดีอยู่ในศาล ไม่รู้จะยืดเยื้อนานเท่าไร แต่จะมีการให้ยึดทรัพย์จำเลยก่อนการตัดสิน

นี่ก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากอดีตดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะมีผลต่ออนาคตว่าการที่รัฐจะพยุงราคาพืชเกษตรจะทำได้หรือไม่

แต่ในขณะที่คดีกำลังดำเนินอยู่ รัฐบาลปัจจุบันก็มีนโยบายหลายอย่างที่อยู่ในลักษณะนำเงินหลวงมาพยุงราคาพืชเกษตร ซึ่งต้องขาดทุน

ถ้าไม่พูดถึงอดีตแล้วจะปรองดองดูแล้วเป็นไปไม่ได้เพราะเหตุการณ์ปัจจุบันชี้ชัดว่าความขัดแย้งเก่ายังดำรงอยู่และขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ต้องหยุดเลือดที่ไหลออกแล้วเย็บแผลจึงจะรักษาต่อได้

ถ้าพูดกันเรื่องอนาคต เพื่อความปรองดอง

ต่อให้ไม่พูดเรื่องเก่า ทำเป็นลืมไปชั่วคราว เพื่ออนาคตมองไปข้างหน้าดีกว่า

คำถามก็คือ อนาคตข้างหน้า ดูแล้วจะดีกว่าอย่างไร

1. ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจ วิเคราะห์จากสภาพการณ์ภายใน ภายนอกแล้ว เป็นอย่างไรถ้ามีปัญหา ปัญหาเกิดจากอะไร จากใคร จะแก้ไขอย่างไร?

2. ถ้ามองในเชิงการเมืองเห็นปัญหาอะไร ที่เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหานั้นปัจจุบันเป็นอย่างไร และองค์กรใด หรือบุคคลใด ที่เป็นปมปัญหา จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ อนาคตจะออกมาในรูปแบบไหน จะมีผลต่อประชาชนอย่างไร

3. ถ้ามองเรื่องความยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรให้ยอมรับเรื่องความยุติธรรม ทำอย่างไรจะได้กรรมการที่เป็นกลาง ทำอย่างไรจะได้กฎกติกาซึ่งยุติธรรมและเป็นมาตรฐานสากล

ถ้าจะปรองดอง วิธีการและมาตรฐานที่จะทำไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตจะเป็นอย่างไร

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ถ้าจะให้การปรองดอง
เป็นพิธีกรรมที่ทำจบ แล้ว…เลือกตั้ง

คนส่วนใหญ่ก็ต้องอดกลั้น อดทน ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นในอนาคต…

1. เพราะการช่วงชิงกำหนดกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จ และลงประชามติ 2559 เพื่อกำหนดเนื้อหาสำคัญที่มีความได้เปรียบในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การแข่งขันเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. บัดนี้บรรลุเป้าหมาย 70/30 แล้ว

ประชาชนเป็นเพียงชาวบ้านที่ไม่รู้ความ ถึงรู้ก็กลัว พวกเขาไม่กล้าค้าน การร่างรัฐธรรมนูญจึงตามใจคนร่าง คนกำกับ ชาวบ้านยังไงก็ต้องใช้ เพราะที่ผ่านมา มีอะไรที่ไม่กล้าทำ ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มีทั้ง ตุลาการภิวัฒน์ จัดรัฐบาลในค่าย ยึดสนามบิน ยึดกระทรวง ปิดเมืองหลวง ล้มเลือกตั้ง มีคนตาย คนเจ็บ ประชาชนถูกจับขังคุกได้ทุกข้อหา

2. ต้องยอมรับอำนาจนิติบัญญัติ จากการเลือกตั้งปี 2561 (ตามโรดแม็ปล่าสุดที่ปรับปรุงครั้งที่ 3) เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จะอยู่ที่ 280-300 แต่ไม่มีพรรคที่ได้เกินครึ่ง

เสียง ส.ว. ที่จะมาจากการแต่งตั้งและสรรหาทั้งหมด ทำให้อำนาจวุฒิสภารวมศูนย์ไปทางเดียว เหมือนเป็นพรรคใหญ่

พวก สนช. อย่าไปฝันว่าจะมีการสรรหาโดยกรรมการแล้วจะได้เป็น

นี่เป็นความเป็นความตายของอำนาจรัฐ ผู้กุมอำนาจจำเป็นต้องตั้งคนไว้ใจได้ รวมศูนย์ให้มากที่สุด ถ้ายิ่งกระจายมาจากหลายอำนาจ โอกาสเสียงแตกจะมีสูง

ถ้าดูจากการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โอกาสที่จะมีตัวแทนเข้าไปเป็นปากเสียงให้ประชาชน ไม่น่าเกิน 220 คน ในเมื่อรัฐสภาประกอบด้วย ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 500 คน 220 จาก 750 ก็คือประมาณ 30% ประชาธิปไตยแบบ 70/30 จึงถือว่าบรรลุเป้าหมาย

3. ต้องยอมรับนายกฯ และผู้บริหารแม้ประชาชนจะไม่เลือกเข้ามา แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ตั้งได้ นายกฯ ที่ถูกเลือกโดยรัฐสภาปี 2561 จะมีเสียงหนุนจาก ส.ส. 280-300 และ ส.ว. 250 รวมกันเกินกว่า 500 เสียง มีประมาณ 70% อำนาจในการแต่งตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งเกือบจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ฝ่ายบริหาร รวมศูนย์อำนาจสูงสุด สามารถกำหนดนโยบายได้สะดวก เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันกับกรรมการยุทธศาสตร์

4. ถ้ามองอำนาจรัฐโดยรวม จะพบว่า

นอกจากเลือก ส.ส. แล้ว ประชาชนไม่มีส่วนในการคัดเลือกบุคลากรในสายอำนาจอื่นๆ

ทั้งอำนาจตุลาการและอำนาจทางทหาร ไม่มีสิ่งใดผูกพันกับเสียงของประชาชน

ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้งสองระบบดำรงความยุติธรรมและเป็นกลาง ก็จะไม่มีความยุ่งยากเกิดขึ้น

แต่ถ้าหากมีการกระทำที่เอนเอียงหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามแรงผลักดันของอำนาจนอกระบบ ปัญหาจะเกิดซ้ำแบบเก่า กระทบทั้งประชาชนและรัฐบาล เช่น การรัฐประหารและการใช้ตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาลแบบที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้ง 2561 ประเมินว่าตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

และถ้าอำนาจทางการทหารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แสดงว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นนายกฯ เป็นผู้นำฝ่ายบริหารที่จะมีอำนาจแท้จริง เกินกว่า 80% ภายใต้ระบบ

5. หลังเลือกตั้ง 2561 อำนาจนอกระบบและอำนาจจากกลุ่มทุน จะไม่ขัดขวางรัฐบาล พลังมวลชนจากกลุ่มต่างๆ แม้มีขนาดใหญ่และมีความรู้ทางการเมือง แต่ไม่มีคุณภาพทางการนำจึงไม่อาจผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคม ในระยะสั้น มีเพียงพลังที่อยู่เหนือระบบ อาจทำให้มีอุบัติเหตุทางการเมืองได้

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

สรุปว่า…
คงเป็นการปรองดองแบบชั่วคราว
เพื่อการเลือกตั้ง

การปรองดองถ้าหวังผลจะให้เสร็จโดยเร็วแล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง ไม่รู้ผลที่ออกมาจะเป็นการปรองดองจริงหรือไม่ แต่ถ้ารอให้สำเร็จจริงๆ แล้วค่อยเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่สามารถกำหนดวันเวลาแน่นอนได้เพราะไม่รู้จะต้องยืดเยื้อไปนานเท่าไร? กี่ปี? เหมือนกำหนดโรดแม็ปจากถนนที่ยังไม่มีแผนก่อสร้าง

ถ้าคำว่าปรองดอง คือเอาคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาเจรจาลงสัตยาบันแล้วบอกว่าดีกัน ไปเลือกตั้งดีกว่า แบบนี้พอทำได้ชั่วคราว แต่ความขัดแย้งเดิมยังคงอยู่ครบถ้วน และเพิ่มของใหม่ทุกเดือน

ล่าสุดก็คือ กรณีวัดพระธรรมกาย และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งทุกปัญหาจะต้องปะทุขึ้นมาถ้าแก้ไม่ถูกทาง

สถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือน 3-4 ปีก่อน ไม่ใช่ความขัดแย้งของกลุ่มสีเสื้อเก่าเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผู้กุมอำนาจรัฐ กับกลุ่มต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือความขัดแย้งหลัก ถ้าไม่ปรองดองตรงนี้ก็เหมือนสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ กำลังถูกกระแสน้ำเชี่ยวเซาะผืนดินที่คอสะพาน

ปูนกับเหล็กที่แข็งแกร่งก็ต้องพังเพราะกระแสน้ำ