บทเรียนชาวพุทธ จากกรณีธรรมกาย

ในหนังสือ “บทเรียนชาวพุทธ จากกรณีธรรมกาย” ที่มี “เสฐียรพงษ์ วรรณปก” เป็นผู้เขียน มีใบปะหน้าที่เขียนโดย “ขรรค์ชัย บุนปาน” บอกว่า หนังสือเล่มนี้น่าศึกษาเรียนรู้ทั้งนักบวช และฆราวาส

ทั้งนั้นเพราะยุคสมัยของเรากำลังอยู่ในท่ามกลางความขาดสติทุกเพศทุกวัย เหมือนเหี้ยตะกวดกำลังกัดกัน เพื่อหมายขยายพันธุ์ให้ตะเกี่ยเพิ่มจำนวนมากขึ้น

กิเลสตัณหาบงการออกคำสั่งทุกอย่าง ความอยากปรุงแต่งนอกตำราเรียนปะทุ มิจฉาทิฐิแสดงมหรสพกลางเวทีใจทุกวี่วัน มโนสมมุติฉายเหงาทุกค่ำคืน

ดังนั้น ในความมืดมิดแห่งยุคสมัย ถ้าเราช่วยกันตะกายขึ้นยืนบนฝั่งได้บ้าง เมตตา และอารมณ์ขันจะตามมา

กรุณาปรานีจะเป็นเครื่องผลักดัน

อย่างน้อยจะหยุดยั้งเหี้ยตะกวดให้เงียบ และหันไปศึกษาหาความรู้เรื่องศีลธรรมระดับหนึ่ง

อันเป็นการเขียนใบปะหน้าที่โดนใจ “เสฐียรพงษ์” อย่างยิ่ง เพราะอย่างที่ทราบกัน วิชาธรรมกาย เป็นการกล่าวอ้างของ “หลวงพ่อสด” วัดปากน้ำ ซึ่งต่อมา “หลวงพ่อสด” เองยอมรับว่าเป็นแนวความคิดที่ผิดพลาด

แต่เมื่อสิ้น “หลวงพ่อสด” วัดธรรมกายกลับผสมเข้าพุทธพาณิชย์ ชักจูงผู้คนให้ทำบุญในลักษณะ “ซื้อบุญ” เพียงเพื่อหวังความร่ำรวยในชาติภพหน้า โดยมีเจดีย์วัดพระธรรมกายเป็นหมุดหมายสำคัญ

ผลเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ “เสฐียรพงษ์” ต้องออกหนังสือเล่มนี้เพื่อเตือนชาวพุทธอย่าได้หลงในลาภสักการะ และเสียงเยินยอ เพราะไม่เช่นนั้นชาวพุทธจะเปรียบเสมือนตัวกังสฬกะ (กุดจี่) ที่กินอุจจาระเป็นอาหาร แสบเผ็ด และเจ็บแปลบ

ที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน

แล้วทุกคนจะต้องชมชอบอย่างแน่นอน