เครื่องแบบในสภา / สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————–

เครื่องแบบในสภา

————————–

อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการทหาร

ฟันธงไว้ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับต้อนรับปีใหม่ 2563 ว่า ปีนี้ ยังคงเป็นปีแห่ง “นักการเมืองในเครื่องแบบ”

เราจะยังเห็น คนในเครื่องแบบ ออกมาให้ความเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย

เราจะยังเห็น คนในเครื่องแบบ ออกมาปกป้อง”รัฐบาล” ที่มิได้หมายถึง “รัฐ”

เราจะยังเห็น คนในเครื่องแบบ ออกมาชี้นำทางการเมือง ว่าใครคือศัตรูและไม่ใช่ศัตรูของชาติ

ทั้งที่ “ศัตรู”ดังกล่าวมิใช่มาจากฉันทามติ จนไม่อาจตัดสินได้ง่ายๆว่านั่นเป็นศัตรูหรือไม่ใช่ศัตรู

เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ นักการเมืองในเครื่องแบบ จะยังมีบทบาทสูง

แต่ก็จะเผชิญแรงเสียดทานมากขึ้น

ทั้งทาง สากล ที่ไม่ยอมรับ รัฐบาลที่มีทหารอยู่เบื้องหลัง

ทั้งในประเทศ ที่เริ่มมีการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แม้จะไม่มีใครการันตีว่าจะสำเร็จ

แต่ก็จะเป็นกระแสรั้งดึงมิให้ รัฐบาลอำนาจนิยม ดำเนินการตามอำเภอใจได้ดังเมื่อตอนที่รัฐประหารใหม่ๆ

ข้อเสนอที่มีน้ำหนัก เช่นที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร นำเสนอออกมา

นั่นคือ ให้ยกเลิก 6 เก้าอี้ ส.ว.ที่มาโดยตำแหน่ง ซึ่งล้วนเป็นผู้นำเหล่าทัพ และตำรวจ คือตัวอย่างดังกล่าว

และ เมื่อ สถานการณ์บ้านเมือง ขับเคลื่อนมาถึงขณะนี้ เหตุผลที่จะให้ ผู้นำเหล่าทัพมานั่งส.ว. ก็ดูจะเบาลง

ที่อ้างว่าจะทำให้ กองทัพได้รับรู้ว่า สภาขับเคลื่อนอะไร และผู้บังคับบัญชา จะได้ นำไปบอกกำลังพลนั้น

ดูจะเป็นเหตุผล ที่ไร้น้ำหนักลงทุกที

เพราะหน่วยราชการต่างๆ ก็ไม่เห็นจะต้อง มีส.ว.โดยตำแหน่ง เพื่อการนี้เลย

ขณะที่กองทัพ มีทั้งรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีปฏิสัมพันธ์กับทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอยู่แล้ว

สามารถ ส่งผ่าน ข้อมูล ข่าวสารกับกองทัพได้อย่างไร้ข้อจำกัดอยู่แล้ว

การให้มีส.ว.(ทหาร)โดยตำแหน่ง จึงไร้เหตุผล ลงทุกที

และถูกมองว่า เป็นเพียง “สิ่งตกค้าง” จากการรัฐประหารมากขึ้นทุกทีเช่นกัน

เราคงจำ นวัตกรรมใหม่ จากการรัฐประหาร ครั้งล่าสุดได้

นั่นคือ การดึงเอาผู้นำเหล่าทัพ เข้ามาเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยตำแหน่ง ถือเป็นการการันตีว่า ผู้นำทหารเป็นเนื้อเดียวกับคสช. ทั้งที่มิได้ร่วมกระทำปฏิวัติ มาเลย

และ เมื่อ คสช. ต้องสลายไปตาม รัฐธรรมนูญ

เหล่าเนติบริกร ก็ได้จำลอง เอาสิ่งนี้ ไปไว้ใน วุฒิสมาชิก ตาม “ดีไซน์เอาไว้เพื่อพวกเรา”นั่นเอง

คือไป กำหนดให้ ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและตำรวจ 6 เก้าอี้ ไปอยู่ในวุฒิสภา

เพื่อคงภาพ กองทัพคือกลไลสนับสนุนรัฐบาล

นั่นคือ มติ หรือบทบาทของ วุฒิสมาชิกทั้ง 6 ตำแหน่ง นี้ เมื่อแสดงออกไป ถือว่าเป็น ท่าทีของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดด้วย เพราะมาโดยตำแหน่งไม่ได้มาในนามส่วนบุคคล

ซึ่งนี่คือ ภาวะอันประดักประเดิด ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่าง ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งแม้วุฒิสมาชิก จะไม่ได้มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่วันดีคืนดี 6 ส.ว. ที่มาโดยตำแหน่ง เกิดผนึกกำลังออกมาแถลง ปกป้องรัฐบาล ว่าทำดี แล้ว

จะเกิดอะไรขึ้น

สังคม จะไม่รู้สึกว่า มีการ ลากดึงเอากองทัพมาสนับสนุนรัฐบาลหรือ

และเกิดสภาผู้แทนราษฏร มีมติไปอีกอย่าง –จะเกิดอะไรขึ้น

มิต้องแตกตื่นกันหรือว่า กองทัพจะทำอะไรอย่างอดีตหรือไม่

นี่ จึงเป็นหนึ่งในหลายภาวะประดักประเดิด ของการมีคนเครื่องแบบในสภาสูง อย่างที่ว่า

————-