เตือน จาก “ผบ.ทบ.” ต่อกรณี วัดพระธรรมกาย จำเป็นต้อง น้อมหูฟัง

ท่าทีของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ต่อปัญหาธรรมกายมีความแจ่มชัดอย่างยิ่ง กล่าวในทางยุทธศาสตร์ เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องเข้าไปจัดการ แต่กล่าวในทางยุทธวิธี เห็นว่าจำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ

เรียกร้องให้ “อดทน”

เรียกร้องให้มองว่า ที่เห็นอยู่เบื้องหน้ามิได้เป็นป้อมค่ายของ “ข้าศึก” หากแต่เป็น “คนไทย” ด้วยกัน จำเป็นต้องรอบคอบ จำเป็นต้องรัดกุม

ไม่ว่าความเห็นนี้จะมาจากฐานอะไร

1 ฐานแห่งความเป็นผู้บัญชาการทหารบก ขณะเดียวกัน 1 ฐานแห่งความเป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ก็สมควรให้ความสนใจ

อย่างน้อยเสียงอันมาจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ก็สะท้อนมุมมองที่แตกต่างไปจากมุมมองอันถือได้ว่าเป็นด้านหลักมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

กล่าวในด้านแนวทาง นี่คือหลัก “การเมืองนำการทหาร”

ไม่ว่าเสียงเตือนจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท จะได้รับการรับฟังจากทิศทางด้านหลักของการจัดการกับปัญหาธรรมกายหรือไม่ อย่างไร

แต่ก็ควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

1 เป็นความสนใจต่อตัวบุคคล ขณะเดียวกัน 1 เป็นความสนใจต่อกระบวนการในทางความคิดที่ดำรงอยู่และแสดงออกมา

เพราะว่าปัญหาธรรมกายเป็นปัญหาในทาง “ความคิด”

ทิศทาง ด้านหลัก
ปัญหา ธรรมกาย

ต้องยอมรับว่าปัญหาธรรมกายอันมีจุดเริ่มจาก พระเทพญาณมหามุนี ได้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไปในลักษณะอันเรียกได้ว่าบานปลาย

บานปลายจากปัญหาในทางคดีความ กลายเป็นปัญหาทางการเมือง

เห็นได้จากเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 อาจต้องการเข้าไปจับตัวพระเทพญาณมหามุนี อย่างเป็นด้านหลัก

แต่เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก็มีลักษณะพัฒนา เติบใหญ่

1 ความต้องการในการจับตัว พระเทพญาณมหามุนี ยังดำรงอยู่และเป็นตัวการหลักในการอ้างอิง ขณะเดียวกัน 1 มีความต้องการเข้าไปบริหารจัดการกับวัดและมูลนิธิธรรมกายมากยิ่งกว่านั้น

นั่นก็คือ การเข้าไปกำกับและควบคุม

สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาอันเกี่ยวกับ พระเทพญาณมหามุนี ได้กลายเป็นปัญหาของวัดพระธรรมกาย กลายเป็นปัญหาของมูลนิธิธรรมกาย

นั่นเห็นได้จากปริมาณของคดีความ

เป็นคดีความตั้งแต่เรื่องมโนสาเร่ กีดขวางการจราจร ไปจนถึงการก่อสร้างตั้งแต่กำแพงวัดไปจนถึงโบสถ์วิหารการเปรียญ การรุกป่าสงวนฯ อันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และที่ตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาก็คือคดีอันเกี่ยวกับรับของโจร ฟอกเงิน

รวมแล้วมากกว่า 300 คดี

กระทั่ง ในที่สุดถึงกับตัดสินใจประกาศใช้ “มาตรา 44” โดยหัวหน้า คสช. อันเท่ากับแปรเรื่องของธรรมกายให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง

เรื่องทาง “ศาสนา” ก็พลันกลายเป็นเรื่อง “การเมือง”

การเมือง การทหาร
ด้านหลัก ด้านรอง

เมื่อปัญหาธรรมกายเป็นเรื่องในทางความคิด เป็นเรื่องในทางการเมือง แต่เนื่องจากอีนุงตุงนังมาจากการจับตัว พระเทพญาณมหามุนี ในคดีรับของโจรและฟอกเงิน

และเนื่องจากปฏิบัติการล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนธันวาคม 2559 สร้างความอับอายให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจเป็นอย่างมาก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จึงขยายมาตรการ “การทหาร” ให้เข้มข้นขึ้น

ปมเงื่อนในทางความคิด ปมเงื่อนความขัดแย้งอันกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองจึงถูกมองข้าม เน้นหนักไปในเรื่อง กวาดล้าง จับกุม และเข้าไปปรับรูปใหม่ให้กับวัดพระธรรมกายอย่างด้านเดียว

ตรงนี้เองที่นำไปสู่ข้อสังเกตด้วยความห่วงใยจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท

1 เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวัง ดำเนินการต้องรอบคอบ อดทนและควบคุมอารมณ์ให้ได้ กลัวว่าจะนำไปสู่การปะทะกัน บางครั้งเราอาจต้องยอมเสียเวลา แต่จะไม่ยอมให้มีการเสียเลือดเนื้อหรือเสียชีวิต

“หากทำแบบไม่คิดอะไรเลย ถือเป็นเรื่องง่ายแค่ใช้กำลังบุกเข้าไปจะปะทะ”

1 ขออย่าใจร้อน เพราะไม่ใช่เป็นที่ตั้งทางทหาร ฝ่ายข้าศึกเข้าตีแล้วก็จบ แต่เป็นคนไทยด้วยกันเอง ทำความเข้าใจและตั้งสติแล้วคิดถึงผลประโยชน์ของภาพรวม

นี่คือแนวทางที่เรียกว่า “การเมืองนำการทหาร” อย่างเด่นชัด

รากฐาน ความคิด
ของ ผบ.เฉลิมชัย

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นนายทหารที่เติบใหญ่มาจากหน่วยรบพิเศษ ฐานอยู่ที่ลพบุรี ความโน้มเอียงจึงไปในแบบของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

คงจำกันได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นอย่างไร

ในห้วงที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเคยสรุปบทเรียนอย่างแหลมคมยิ่งว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง”

นั่นยืนยันว่า เอา “การทหาร” ไปแก้ปัญหาทางการเมืองจะไม่ประสบผลสำเร็จ

บทเรียนอย่างสำคัญในระยะใกล้ก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อันเป็นต้นธารแห่งการเกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ซึ่งยังไม่ได้คำตอบว่าจะเป็นรัฐประหารเสียของเหมือนเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือไม่

ต่อกรณีของธรรมกาย หากว่ากระบวนการในการบริหารจัดการกับปัญหาไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมและไม่สมบูรณ์ ในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง

เหมือนกับความผิดพลาดอันเกิดจากรัฐประหารในปี 2549