วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี2017และหลังจากนั้น : ความขัดแย้งในชนชั้นนำ

ความขัดแย้งในชนชั้นนำเป็นอย่างไร

ความขัดแย้งในชนชั้นนำในปัจจุบันมีทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก

พื้นฐานเป็นการขัดแย้งในการธำรงรักษาความมั่งคั่งและอำนาจ เพื่อขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ในพื้นที่หนึ่ง

ชนชั้นนำในที่นี้หมายถึงชนชั้นผู้ปกครองในระดับสูง เป็นผู้กุมอำนาจและการปกครองที่แท้จริง

ชนชั้นนำมีบทบาทและเป็นที่สนใจมากขึ้น เนื่องจากมีการรวมศูนย์อำนาจและความมั่งคั่งชัดเจนขึ้น

ความขัดแย้งในชนชั้นนำขณะนี้ เกิดขึ้นในช่วงความเสื่อมถอยของโลกตะวันตก และวิกฤติในกระบวนโลกาภิวัตน์ ที่ประจวบกันเป็นกระแสน้ำเชี่ยวที่ต้านทานได้ยาก

ในที่นี้จะกล่าวถึงการมองสถานการณ์ดังกล่าวจากมุมมองสองมุมที่ต่างกัน ได้แก่ของ ออสวาลด์ สเปงเลอร์ (Oswald Spengler 1880-1936) นักปรัชญาประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ “ความเสื่อมถอยของตะวันตก” (เผยแพร่ระหว่างปี 1918-1922)

และมุมมองตามแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx 1818-1883) นักคิดและนักปฏิวัติชาวเยอรมันเช่นกัน

ความคิดของสเปงเลอร์ในหนังสือ “ความเสื่อมถอยของตะวันตก” สรุปได้ดังนี้

1) วัฒนธรรมมีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถศึกษาเข้าใจโดยอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ มันมีวิวัฒนาการจากวัฒนธรรม ไปสู่อารยธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อารยธรรมเป็นบทสรุปของวัฒนธรรมเปรียบเทียบเป็นฤดู ได้แก่ วัฒนธรรมเริ่มต้นที่ฤดูใบไม้ผลิ และเติบโตถึงจุดสูงสุดทางด้านการสร้างสรรค์ในฤดูร้อน จากนั้นพัฒนาเป็นอารยธรรมในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ซึ่งเน้นการไตร่ตรองเป็นเหตุผลและเป็นเชิงวัตถุนิยม และเริ่มเสื่อมถอยจากการสร้างสรรค์ และคุณค่าภายในสิ่งมีชีวิต สู่วัตถุและอำนาจเงิน พื้นฐานของวัฒนธรรมได้แก่ เชื้อชาติ ศาสนา ศิลปะ ค่านิยมและสัญลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องการขัดแย้งทางชนชั้นตามลัทธิมาร์กซ์

2) วัฒนธรรมตะวันตกมีจิตวิญญาณป็นแบบเฟาสต์ (ตั้งชื่อตามเฟาสต์บุคคลในตำนานของเยอรมนี เล่าขานตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และตัวละครเอกผู้ปรารถนาความรู้เพื่ออำนาจในบทละครของ โยฮันน์ เกอเทอ เผยแพร่ปี 1808) เป็นบุคลิกที่ต้องการไขว่คว้าสิ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มี “เจตจำนงทางปัญญาเพื่ออำนาจ” “การต่อสู้” “ความก้าวหน้า” “การเอาชนะอุปสรรค” และการต่อสู้กับ “สิ่งที่อยู่เบื้องหน้า จับต้องได้ และง่าย” สร้างเป็นอัตลักษณ์และลัทธิ อย่างเช่น “การเป็นปัจเจกชน” “คนมีเหตุผล” “จักรวรรดินิยม” “การเป็นแบบโลกวิสัย” “การไม่หยุดนิ่ง” และ “การถือเชื้อชาติ”

3) วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.900 (นักวิชาการคนอื่นกล่าวต่างไป) เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียน (ขึ้นสู่อำนาจปี 1804) เริ่มยุคประชาธิปไตยหรือการปกครองของเศรษฐี เมื่อเงินอยู่เหนือการเมือง เกิดเมืองใหญ่ “ปัญญาของชาวเมืองผู้ไร้ราก” ลัทธิบรรษัท ประโยชน์ตกอยู่กับเศรษฐีหยิบมือเดียว เพราะระบอบเสรีประชาธิปไตยไม่สามารถต่อต้านความฉ้อฉลเสื่อมโทรมของอำนาจแห่งความมั่งคั่ง “โดยอำนาจเงิน ประชาธิปไตย ได้ทำลายตนเองหลังจากที่เงินได้ทำลายปัญญาลง” เมื่อเสรีประชาธิปไตยและอำนาจเงินสิ้นสุด โลกตะวันตกจะก้าวสู่ลัทธิซีซาร์ในศตวรรษที่ 21 (ตั้งชื่อตามจักรพรรดิแห่งโรมัน)

4) คำอธิบายลัทธิซีซาร์ของสเปงเลอร์ คือ “หมายถึงรูปแบบการปกครองซึ่งไม่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแบบใด เป็นการกลับไปสู่การไร้รูปแบบ… ความสำคัญจริงแท้คืออำนาจส่วนบุคคลของซีซาร์” และ “เมื่อรูปแบบรัฐที่แข็งตัวหมดบทบาทไป ประวัติศาสตร์ก็กลับมาหลับใหล มนุษย์กลายเป็นพืชอีกครั้ง ฝังรากอยู่ในดิน กองรวมกัน และทรหดอดทน หมู่บ้านที่ไร้กาลเวลา และเกษตรกรที่เป็น “นิรันดร์” กลับคืนมาอีกครั้ง พากันมีลูก และหว่านเมล็ดพืชบนปฐพี ผู้คนจะมีชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ มีการออมน้อย ทรัพย์สมบัติน้อย และทรหดอดทน…”

เบาะแสของลัทธิซีซาร์ ได้แก่ การเกิดนักปลุกปั่นการเมือง ที่สถานปนาตนเป็นศูนย์อำนาจใหม่ ต่อสู้กับระบบอำนาจเดิมที่อ่อนล้าทางอุดมการณ์ มีการหันไปยึดตัวบุคคลแทน

(ดูฉบับตัดย่อหนังสือชื่อ The Decline of the West ของ Oswald Spengler ใน people.duke.edu และบทความของ John Michael Greer ชื่อ Perched on the Wheel of Time ใน thearchdruidreport.blogspot.com 01.02.2017)

ในช่วงชีวิตการศึกษาของเขา สเปงเลอร์เฝ้าหาเบาะแสของลัทธิซีซาร์ เขาเห็นลักษณะพิเศษของสังคมนิยมแบบปรัสเซีย (เยอรมนี) ซึ่งมีสาระคล้ายกับลัทธิสังคมชาตินิยมหรือลัทธินาซีที่มีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ

เขาสนับสนุนพรรคนาซีทางความคิดทฤษฎีจนกระทั่งเติบใหญ่เข้มแข็ง แต่หลังจากที่เขาพบปะสนทนากับฮิตเลอร์แล้วก็พบว่า ฮิตเลอร์เป็นเพียงผู้ส่งเสียงที่น่าประทับใจ แต่ไม่ใช่วีรบุรุษที่แท้จริง เช่น การถือเชื้อชาติอารยันอย่างสุดขั้ว และไม่ยอมรับเรื่องการเสื่อมถอยของตะวันตก จึงไม่เข้าร่วมพรรคนาซี กลับไปอยู่บ้านอย่างเงียบๆ

งานใหญ่สุดท้ายของเขาชื่อ “ชั่วโมงแห่งการตัดสินใจ” เขียนในปี 1933 ที่ฮิตเลอร์ขึ้นเถลิงอำนาจ พวกนาซีห้ามการเผยแพร่หนังสือทั้งหมดและชื่อของเขา

 

สําหรับมุมมองแนวมาร์กซ์ ซึ่งคนรุ่นหลังปรับปรุงจากมาร์กซ์โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีเพิ่มขึ้นมากมาย

แนวคิดนี้ชี้ว่าระบบทุนไม่ได้ดำเนินในความสมบูรณ์ “บริษัทที่สมบูรณ์ ปัจเจกชนที่สมบูรณ์ ความรู้ที่สมบูรณ์ ความเห็นแก่ตัวที่สมบูรณ์ และการคาดหมายอย่างมีเหตุผล” ไปจนถึง “การแข่งขันที่สมบูรณ์” หากแต่ดำเนินไปบนความเป็นจริงที่ไม่สมบูรณ์ มีแต่การแข่งขันที่เป็นจริง

นอกจากนี้ ระบบทุนนิยมเป็นเศรษฐกิจแบบแข่งขันเพื่อกำไร การแข่งขันคือความพยายามลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเพื่อเพิ่มกำไรและสัดส่วนในตลาด ไปจนถึงการผูกขาดตลาด เป็นการต่อสู้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และไม่มีวันสิ้นสุด

เป็นการแข่งขันที่ทำให้นายทุนเป็นปรปักษ์กันโดยธรรมชาติ และก่อความปั่นป่วนในการปฏิบัติ การแข่งขันที่เป็นจริง ก่อให้เกิดวงจรอัตรากำไร ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงจรทางเศรษฐกิจ อัตรากำไรที่ลดลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยิ่งเร่งการแข่งขันระหว่างกลุ่มนายทุนให้รุนแรงมากขึ้น

(ดูบทปริทัศน์หนังสือของ Anwar Shaike ชื่อ Capitalism : Competition, Conflict, Crisis (2016) โดย Michael Roberts ชื่อ Real capitalism : turbulent and antagonistic, but not imperfect ใน International Socialism Journal 07.10.2016)

แม้การมองแนวมาร์กซ์จะเห็นความขัดแย้งในหมู่นายทุนว่ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่ก็ให้ความสำคัญแก่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นคนงานมากกว่า

โดยเห็นว่ามีแต่ชนชั้นคนงานผู้ “ไม่มีอะไรจะสูญเสีย นอกจากโซ่ตรวน” เท่านั้น ที่สามารถขับเคลื่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่ยุคใหม่ได้

ลัทธิทรัมป์บนหนทางที่ขรุขระ

ลัทธิทรัมป์เกิดขึ้นคล้ายกับที่สเปงเลอร์ทำนายไว้ นั่นคือเกิดนักการเมืองที่เชี่ยวชาญในการปลุกปั่น สร้างฐานอำนาจของตนขึ้นมาโจมตีระบบอำนาจเดิมว่าฉ้อฉล มีการชักใย และเน่าเฟะ ตามแนวนโยบายว่า “ความฝันชาวอเมริกันตายแล้ว” จะเลิกขนบทำเนียมเดิมไม่ต้องสนใจระเบียบค่านิยมเก่า เชื่อเขาแต่ผู้เดียว ที่จะ “ระบายน้ำออกจากบึง” “ทำให้อเมริกันยิ่งใหญ่อีกครั้ง”

ที่ต่างกับฮิตเลอร์อยู่ที่ฮิตเลอร์มีนโยบายสังคมชาตินิยม ทรัมป์มีนโยบายแบบประชานิยมเชิงชาตินิยม เขาจะเป็นหน่ออ่อนของลัทธิซีซาร์ได้หรือไม่?

พบว่าหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ออกคำสั่งฝ่ายบริหารเชิงรุกอย่างเร็วและแรงในทุกด้าน เพื่อให้ผู้คนที่ลงคะเนนเชื่อว่าได้ปฏิบัติตามคำสัญญา

แต่สัญญาจำนวนมากที่เขาให้ไว้ บางส่วนทรัมป์เองก็ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติจริงจังอะไร

เช่น การเล่นงานกลุ่มการเงินวอลล์สตรีต บางส่วนก็ปฏิบัติได้ยากเนื่องจากระบบปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีการตรวจสอบและคานอำนาจ และเนื่องจากกระบวนโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ชาติต่างๆ พึ่งพากันและกัน และบางส่วนต้องใช้เวลานานจึงจะทำให้เป็นจริงได้

เช่น การฟื้นอุตสาหกรรมโรงงานให้เข้มแข็ง หรือการบูรณะซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เป็นต้น

เวลาผ่านไปเพียงสามสี่สัปดาห์ ลัทธิทรัมป์ก็เผชิญกับความยากลำบาก ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก ไม่ได้ลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำและประชาชนสหรัฐลง ทั้งยังมีเสียงคัดค้านจากทางสากลอีกด้วย ลัทธิทรัมป์ก้าวเดินไปบนหนทางที่ขรุขระและเสี่ยงภัย ในที่นี้จะยกตัวอย่างสามกรณี คือ

(ก) การจัดการกับกลุ่มการเงินวอลล์สตรีต

(ข) การห้ามบุคคลจากเจ็ดประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐเป็นการชั่วคราว

และ (ค) การสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก โดยให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามข้อเท็จจริง

ดังนี้

 

1.การจัดการกับกลุ่มการเงินวอลล์สตรีต เป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อทรัมป์เปิดโอกาสให้คณะผู้บริหารการเงินวอลล์สตรีตเข้าพบในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2017 และให้คำมั่นว่าเขาจะยกเลิกกฎหมายปฏิรูปการเงินดอดด์-แฟรงก์ ที่ตราขึ้นช่วงวิกฤติการเงิน 2008 เพื่อควบคุมสถาบันการเงิน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ไปสัมภาษณ์ทัศนะของ เบอร์นี แซนเดอร์ส เกี่ยวกับการบริหารของทรัมป์ แซนเดอร์สเป็นผู้นำปีกซ้ายแห่งพรรคเดโมแครต มีมวลชนเหนียวแน่น และกำลังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านลัทธิทรัมป์

แซนเดอร์สกล่าวว่า “ผมอดหัวเราะไม่ได้ที่เห็นประธานาธิบดีทรัมป์นั่งท่ามกลางเหล่าผู้บริหารวอลล์สตรีต คนคนนี้ (ทรัมป์) ตอนปราศรัยหาเสียง เคยกล่าวว่า “ผมคือ โดนัลด์ ทรัมป์ และผมจะเล่นงานพวกวอลล์สตรีต คนเหล่านี้ลอยนวลหลังก่อเหตุฆาตกรรม…”

แต่ทันใดนั้นเขาก็ให้ตำแหน่งแก่พวกเศรษฐีพันล้าน ที่ปรึกษาใหญ่ทางการเงินของเขามาจากโกลด์แมน แซกส์

และตอนนี้เขากำลังล้มล้างกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค คนคนนี้ขณะหาเสียง กล่าวว่า “ผมเป็นคนเดียวในพรรครีพับลิกันที่จะไม่ตัดงบฯ ด้านประกันสังคม ประกันสุขภาพ และการดูแลรักษา-แต่เขากลับตั้งคนต่างๆ ที่จะตัดงบประกันสังคม ประกันสุขภาพ และการดูแลรักษา” และว่า “ผมไม่ได้ต้องการแสดงความไม่เคารพ…แต่คนคนนี้เป็นคนฉ้อฉล”

(ดูรายงานข่าวการสัมภาษณ์ของแซนเดอร์ส โดย Jon Queally ชื่อ Bernie Sanders : Trump “Is a Fraud” Sending Nation in “Authoritarian Direction” ใน commmondreams.org 05.02.2017)

 

2.กรณีห้ามคนจากเจ็ดประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว ก่อให้เกิดการคัดค้านอย่างกว้างขวาง มีหลายรัฐนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลเพื่อยกเลิกคำสั่งนี้ เมื่อ เจมส์ โรบาร์ต ผู้พิพากษาศาลกลางแห่งซีแอตเติล ตัดสินห้ามปฏิบัติ ทรัมป์ทวีตว่า “ที่เรียกว่าผู้พิพากษา” ได้ตัดสินอย่าง “ไร้สาระ” และทวีตเพิ่มเติมว่า “หากมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องตำหนิเขาและระบบตุลาการ”

แซนเดอร์สกล่าวในการสัมภาษณ์ที่อ้างแล้วว่า เขารู้สึกกังวลมากที่เห็นทรัมป์ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีทวีตข้อความว่า “ที่เรียกว่าผู้พิภากษา” ซึ่งเป็นการดูหมิ่นระบบตุลาการทั้งระบบ และตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับหลักการการแบ่งแยกอำนาจ

เขาหวั่นเกรงว่า “เราได้มีประธานาธิบดี…ที่กำลังขับเคลื่อนเราไปตามหนทางของการรวบอำนาจอย่างยิ่ง”

เรื่องได้ลุกลามไปจนถึงศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษายกเลิกคำสั่งบริหารของทรัมป์ดังกล่าว

อนึ่ง ประธานสภาผู้แทนอังกฤษประกาศจุดยืนว่าจะไม่เชิญทรัมป์มาปาฐกถาในห้องประชุมของสภาที่เวสต์มินสเตอร์ โดยอ้างว่าทรัมป์มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยม และเพศนิยม

(ดูบทความของ Anushka Asthana และคณะ ชื่อ Donald Trump should not be allowed to speak in UK parliament, says Speaker ใน theguardina.com 06.02.2017)

 

3.การประกาศสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก กดดันให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หาไม่แล้วจะขึ้นภาษีผ่านแดนจากเม็กซิโกร้อยละ 20 ซึ่งประธานาธิบดี เอ็นริเก้ เปนญา เนียโต ตอบโต้ด้วยการยกเลิกการไปเยือนสหรัฐ

แม้เม็กซิโกจะมีขนาดเล็กและขึ้นต่อสหรัฐทางเศรษฐกิจสูง แต่เรื่องจริงซับซ้อนกว่านั้น

กล่าวคือ ร้อยละ 40 ของสิ่งที่ประกอบเป็นสินค้าส่งออกของเม็กซิโกมาจากสหรัฐ การเพิ่มภาษีดังกล่าวย่อมกระทบต่อตำแหน่งงานในสหรัฐ

เม็กซิโกยังเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าใหญ่จากรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส รวมทั้งอิลลินอยส์ ไอโอวา และเนบราสกา ทั้งผู้บริโภคในสหรัฐก็จะได้รับผลสะเทือนจากสินค้าราคาถูกจากเม็กซิโก เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ และสินค้าการเกษตร ที่มีราคาสูงขึ้น

(ดูบทความของ Kormal Sri-Kumar ชื่อ Mexico Blowback Should Dissuade Trump From Taking on China ใน Bloomberg L.P. 03.02.2017)

ปฏิบัติการสร้างกำแพง และนโยบาย “อเมริกาก่อนชาติใด” ของทรัมป์ ที่ต้องการเปลี่ยนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟต้าใหม่ กระทั่งยกเลิกทั้งหมด ได้สะเทือนขวัญของผู้นำในละตินอเมริกาโดยทั่วไป จีนได้ฉวยโอกาสนี้เร่งแทรกแซงในสนามหลังบ้านของสหรัฐ

ในกลางเดือนพฤศจิกายน 2016 ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ไปเยือนเอกวาดอร์ เปรู และชิลี ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของจีน และภูมิภาคนี้ค้าขายกับจีนมากเป็นอันดับสอง

นักการทูตบราซิลกล่าวว่า “(จีน) ได้กลายเป็นผู้แสดงระดับโลก ขณะที่คนอื่นทำตัวเป็นผู้กีดกันการค้าและก้าวร้าว” (ดูบทความของ Mac Magolis ชื่อ Trump Opens Doors for China in Latin America ใน Bloomberg L.P. 18.11.2016) เมื่อความสัมพันธ์อเมริกา-เม็กซิโกร้อนระอุขึ้น บริษัทรถยนต์ของเม็กซิโกและจีนประกาศร่วมลงทุนผลิตรถยนต์เพื่อส่งไปจำหน่ายที่จีน

ถ้าสเปงเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ และได้สนทนากับทรัมป์ก็คงพบว่าทรัมป์เป็นเพียงผู้ส่งเสียงที่น่าประทับใจ แต่ไม่ใช่วีรบุรุษที่แท้จริง และกลับไปฟังเพลงบีโธเฟน อ่านหนังสือเช็กสเปียร์อยู่ที่บ้านอย่างที่เคยทำ