ทราย เจริญปุระ | ไม่เปลี่ยนยางรถ

วันก่อนนัดกินข้าวกับเพื่อน แน่นอนว่าวัยนี้ก็ต้องคุยถึงเรื่องชีวิต การจากลา ความป่วยความไข้

ปีนี้ถ้าจะให้สรุปผลงานก็ต้องนับว่าเป็นปีที่หนักมือกับฉันมาก ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน หรือความสัมพันธ์

แต่ฉันก็ตอบเพื่อนแบบออมๆ เสียงว่า ก็โอเคนะ พอไหว

ยังไม่ทันสิ้นประโยค เพื่อนก็พูดขัดขึ้นมา ว่ามันโอเคได้ยังไงวะ? แม่ตายนี่นะโอเคของแก?

ก็ใช่, แม่ตายมันไม่โอเคหรอก แต่ถ้าจะพูดกันอย่างไม่โกหกคือการจากลานี้ก็นำเอาความโล่งอกมาให้ฉันด้วย

จะบอกว่าไม่รำคาญตัวเองก็คงไม่ได้ ที่ทำไมถึงยังพูดเรื่องแม่ตายได้ทุกสัปดาห์

ถึงขั้นลาบทความไปสองอาทิตย์เพื่อหวังจะล้างผลจากการตายนี้ จะได้หัดไปเขียนเรื่องอื่นๆ บ้างก็ยังไม่วาย

หนังสือที่ฉันเลือกมาคุยกันในวันนี้แสนจะห่างไกล ห่างกว่าเล่มก่อนๆ ที่คอยจะวกเวียนเข้าเรื่องแม่ๆ แน่นอน

นั่นก็คิอหนังสือว่าด้วยเศรษฐศาสตร์

แน่นอนว่าไม่ใช่การวิเคราะห์แนวคิดเศรษฐศาสตร์เชิงลึก หรือดูแนวโน้มเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไป

แต่เป็นการกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่ค่อยพัฒนาขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย ความเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน ความเปลี่ยนแปลงของสังคม

นี่ ที่สุดแล้วของความไม่เกี่ยวข้อง

ตอนเรียนอยู่ปี 1 (ซึ่งก็เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว) ฉันไม่รู้สึกถึงความน่าสนใจของวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นมากไปกว่าจะทำยังไงให้สอบผ่าน

ผ่านในที่นี้คือเอาเกรดอะไรมาก็ได้ที่ไม่ใช่เอฟ จะได้สะสมหน่วยกิตไปลงเรียนวิชาอื่น

มันช่างดูเป็นวิชาที่แห้งแล้ง ห่างไกล และนอกระบบคิดของฉันอย่างจริงจัง

จนเมื่อโตขึ้นและเริ่มมีสำนึกถึงผู้คนรอบตัว

ก่อนๆ นี้ฉันเห็นผู้คนเป็นแค่ผู้คน แบนๆ ราบๆ ไร้มิติ

แต่หลังๆ พอตัวเองเริ่มโดนตัดสินโดยพลการบ่อยเข้า ฉันก็เริ่มมีความพยายามที่จะมองมากขึ้น ว่าคนคนหนึ่งนั้นผ่านอะไรมาบ้าง จึงมาเป็นคนอย่างที่เป็น ทุกการกระทำมีที่มาไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไ

ฉันไม่อยากตัดสินคนง่ายๆ อย่างที่ตัวเองโดนมา

ในยุคแรกๆ ที่มีโฆษณา “จน เครียด กินเหล้า” ฉันฟังแล้วก็ผ่านไป อือ มันก็คงเป็นอย่างที่โฆษณาเขาบอกแหละ ไปกินเหล้าก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็จน พอจนก็เครียด พอเครียดก็กินเหล้า

จบ

เป็นความคิดอันเหมารวมและตัดสินคนอย่างยิ่ง

จนตัวเองโตขึ้นมาอีกระดับ ได้ตัดสินใจเลือกบางทางออกให้ชีวิตด้วยเหตุผลหลักคือข้อจำกัดทางการเงิน และไอ้ทางออกนั้นก็พาฉันตะลุยไปสู่ทางใหม่มากมาย

การตัดสินใจนั้นคือการไม่เปลี่ยนยางรถ

ในยุคที่แม่ยังอยู่ ฉันจะได้รับเงินจากแม่เป็นรายเดือน คือเงินรายได้ทั้งหมดของฉันอยู่กับแม่ และแม่จะโอนให้เป็นเงินเดือนฉันอีกที ฉันมีแต่เอทีเอ็ม ไม่มีบัตรเครดิต

ฉันต้องจ่ายค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จากเงินเดือนก้อนนี้ รวมถึงค่าหนังสือ ค่ากินค่าอยู่ต่างๆ

รถที่ใช้นั้นแม่ฉันซื้อมา ฉันไม่เคยได้เลือก เพราะแม่แค่เอาเงินฉันไปซื้อแล้วก็ยื่นกุญแจให้เป็นอันสิ้นเรื่องสิ้นราว

การทำงานของฉันนั้นมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่เวลานัดเช้ามืด สถานที่ไกลเกินกว่าที่จะเรียกรถรับจ้าง ข้าวของอีกสารพันที่จะต้องหอบต้องขนกันไป

ฉันใช้รถอย่างคนใช้รถผู้มืดบอด คือไม่ได้รู้เรื่องเครื่องยนต์หรืออะไรใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเวลาก็พาไปเข้าศูนย์ จ่ายเงินไป ซึ่งถึงแม้จะมีส่วนลดบ้าง แต่ก็ทำให้เดือนนั้นต้องกระเบียดกระเสียรเป็นอย่างยิ่ง หนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ฉันรู้สึกว่าสูงมาก ก็คือค่าเปลี่ยนยาง

บ้าที่สุด เปลี่ยนครั้งหนึ่งเหยียบหลักหมื่น ฉันผ่อนชำระก็ไม่ได้เพราะไม่มีทั้งบัตรเครดิต แถมรถก็ไม่ใช่ชื่อตัวเอง

ไปบอกแม่ แม่ก็บอกว่าจะหักเอาจากเงินเดือนฉันนั่นแหละ ก็ใช้รถอยู่คนเดียว ไม่มีสิทธิ์เบิก

ช่วงนั้นฉันเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านกับปทุมธานี บ้านกับนครปฐมเป็นว่าเล่น ค่าน้ำมันก็ทำเอาซีดแล้ว ถ้าเปลี่ยนยางขึ้นมาอีกคงต้องโบกรถไปทำงาน

ที่ศูนย์ตรวจเช็กก็สลับยางให้แล้ว เตือนแล้วว่าถึงเวลาเปลี่ยน ไปแบนหน้ากองถ่ายจนต้องหาช่างมาปะให้วุ่นวายก็ผ่านมาแล้ว ทุกคนเตือนหมดว่าอย่าลืมเปลี่ยนนะ

ก็ไม่มีเงินน่ะ

ไม่มีในที่นี้ยังไม่ได้หมายถึงสิ้นเนื้อประดาตัวเสียด้วยซ้ำ แต่มันคือความประมาทของฉันเอง ร่วมกับความ “ไม่มี” แบบไม่รู้จะหมุนเอาตรงไหนมาใช้ก่อนเพื่อจะได้ออกไปทำงานทำการหาเลี้ยงชีพได้

เรื่องจะยืมคนอื่นนั้นไม่อยู่ในความคิดฉันเลย

แล้วก็นั่นล่ะ

ยางระเบิด

ง่ายๆ แบบนั้น

ดีแค่ไหนแล้วที่ไม่เป็นแผลที่หน้า ดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ตกจากทางด่วน ดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ไปโดนรถคันอื่น

ดีแค่ไหนแล้วที่แค่คอหัก

แม่ซึ่งฟูมฟายมาที่โรงพยาบาลก็ครวญแต่เรื่องค่าใช้จ่าย อาการของฉันซึ่งหมอว่าไม่สู้ดี ถ้ายังชักช้าเห็นทีจะได้นอนยาวๆ กันไปชั่วชีวิตก็ทำให้แม่ยิ่งโวยวาย ว่าจะทำได้ยังไง ก็ทั้งบ้านมีฉันหาเงินอยู่คนเดียว เป็นอะไรไม่ได้นะ

เอ้า เงินค่ารักษาก็ไม่อยากออก

แต่ฉันไม่หายก็ไม่ยอม

นั่นล่ะ ฉันเลยเข้าใจถึงความขัดสน

น้องชายฉันคอยมาบอกอยู่ตลอด ว่าจริงๆ แม่เขามี เขาแค่ไม่อยากจ่าย

นั่นก็ยิ่งเศร้า เรื่องทั้งหมดมันเริ่มจากตรงนี้เอง

ความขัดสนนั้นบีบทางเลือกของเรา เวลามีคนมาตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่ใช้อันนี้ ทางออกยังมี

แต่ทางออกส่วนใหญ่ก็สำหรับคนมีต้นทุนชีวิต มีฟูกให้ล้มใส่ มีเงินใช้สำรอง

เอาจริงๆ คือ, ฉันซึ่งมีเงินแท้ๆ ยังต้องมาเป็นแบบนี้

แล้วคนที่เขาไม่มีเขาจะเลือกยังไง

ค่าแรงขั้นต่ำมันต้องอดข้าวอดน้ำกันกี่วันกี่เดือนถึงจะได้มีชีวิตที่ดี ถึงจะไม่ต้องยืมนอกระบบ เพราะเข้าถึงทุนในระบบไม่ได้ มันจะป่วยได้ไหม มันจะพาคนในครอบครัวไปหาหมอได้ไหม มันจะซื้อความบันเทิงอะไรในชีวิตได้บ้าง

เหล้าไม่ช่วย แต่มันราคาถูกและเป็นได้ทั้งจิตแพทย์ ยานอนหลับ ยาขยันได้ในเวลาเดียวกัน

จน เครียด กินเหล้า ไม่ใช่สาเหตุ ไม่ใช่ทางออก ไม่ใช่คำตอบ

ไม่ใช่อะไรที่คนคนหนึ่งควรจะต้องแก้ปัญหาเองตั้งแต่เกิดไปจนตายเลย

“การที่คุณถือหนังสือเล่มนี้อยู่ทำให้คุณอยู่ในสถานะพิเศษ แรกที่สุด คุณ (หรือใครก็ตามที่ให้หนังสือเล่มนี้แก่คุณ) มีเงินมากพอจะซื้อมัน หากคุณมาจากประเทศยากจน ครอบครัวของคุณก็อาจประทังชีวิตด้วยเงินไม่กี่ดอลลาร์ต่อวัน เงินส่วนมากจะหมดไปกับค่าอาหาร และไม่น่าจะมีเหลือพอซื้อหนังสือได้ หรือแม้คุณถือหนังสือเล่มนี้ในมือจริงๆ มันก็อาจไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมีโอกาสที่คุณจะอ่านหนังสือไม่ออก ในบูร์กินาฟาโซซึ่งเป็นประเทศยากจนในแอฟริกาตะวันตก มีคนหนุ่มสาวไม่ถึงครึ่งที่อ่านหนังสือออก แต่หากเป็นเด็กผู้หญิงก็จะเหลือแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่อ่านออก แทนที่จะได้เรียนเลขคณิตหรือภาษา เด็กสาววัย 12 ปีในประเทศนั้น อาจใช้เวลาทั้งวันไปกับการแบกน้ำเป็นถังกลับมาเพิงพักอาศัย คุณอาจไม่คิดว่าตัวเองกับครอบครัวร่ำรวยอะไรเป็นพิเศษ แต่กับคนอีกมากมายทั่วโลก การมีเงินซื้อหนังสือแล้วอ่านได้ คงเหมือนกับการได้ไปเที่ยวดวงจันทร์

…เศรษฐศาสตร์ช่วยแสดงให้เราเห็นว่า ทำไมการบอกว่าคนในบูร์กินาฟาโซยากจนเพราะขี้เกียจอย่างที่มีบางคนพูดนั้น จึงเป็นคำกล่าวที่ผิด หลายคนในประเทศนั้นที่ทำงานหนักมาก แต่พวกเขาเกิดมาในระบบเศรษฐกิจที่ผลิตอะไรไม่ได้มากนักเมื่อมองแบบองค์รวม ทำไมอังกฤษจึงมีอาคารเรียน หนังสือ และคุณครู อันเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการให้การศึกษาเด็กๆ ในขณะที่บูร์กินาฟาโซกลับไม่มี

นี่เป็นคำถามที่ยากเหลือประมาณ และยังไม่มีใครขุดพบต้นตอ แต่เศรษฐศาสตร์จะพยายามหาให้เจอ”*

“เศรษฐศาสตร์ : ประวัติศาสตร์มีชีวิตของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์” (A Little History of Economics) เขียนโดย Niall Kishtainy แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์ Bookscape, 2562