โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระพุทธบาทปิลันทน์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดระฆังโฆษิตาราม

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์)

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระพุทธบาทปิลันทน์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด)

วัดระฆังโฆษิตาราม

 

วัตถุมงคล “พระพุทธบาทปิลันทน์” ขนานนามตามชื่อผู้สร้างคือ หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ หรือหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต เสนีย์วงศ์) ศิษย์เอกเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

ต่อมาได้จำเริญในสมณศักดิ์ จนสุดท้ายดำรงสมณศักดิ์เป็นที่หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) เทียบเท่ากับพระอาจารย์

พระพุทธบาทปิลันทน์จัดสร้างมากมายหลายพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์ปกโพธิ์ใหญ่, พิมพ์ปกโพธิ์เล็ก, พิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร, พิมพ์ครอบแก้วใหญ่, พิมพ์ซุ้มประตู, พิมพ์เปลวเพลิง, พิมพ์หยดแป้ง และพิมพ์ปิดตา ฯลฯ

ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู” ได้รับความนิยมและยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ของชุดเบญจภาคีพระเนื้อผง

“พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู” เนื้อขององค์พระจะออกไปในทางสีเทาอมดำ บางท่านก็ว่าเป็นเขียวอมดำและมีคราบไขขาวเกาะแน่น พุทธลักษณะองค์พระปฏิมากรประทับยืน แสดงปางห้ามญาติ เหนือฐานบัว ภายใต้ซุ้มจระนำ ลักษณะเหมือนซุ้มประตูสลักเสลาอย่างงดงาม มีลายเส้นอักขระรายล้อม ลักษณะเส้นค่อนข้างกลมคล้ายเส้นขนมจีน

เป็นพระเครื่องที่มีความงดงามสมกับที่ได้รับการยกย่อง

พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าทัด ประสูติเมื่อวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม 2365 เป็นพระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแตง กรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีย์วงศ์) กับหม่อมบุญมา

พระองค์เจ้าชายแตง เป็นเจ้านายจากวังหลัง โดยเป็นโอรสของเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (อุปราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระน้องนางของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติในช่วงต้น ก่อนที่จะทรงผนวช ซึ่งบันทึกไว้โดยพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์พระราชธรรมภาณี ดังนี้

“เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กยังไม่ได้บวชเณร เคยได้ฟังมาจากโอษฐของหม่อมเจ้าหญิงสืบ พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (พระองค์เจ้าเกต) รับสั่งเล่าถึงเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แล้วเลยรับสั่งถึงหม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์) ต่อไปให้พวกผู้ใหญ่ฟัง รับสั่งเล่าว่า

“เจ้าพระทัดนี้เป็นเจ้าวังหลัง รูปร่างขี้ริ้ว มีพี่ชายชื่อเจ้าพยอม บวชอยู่วัดบางหว้า เป็นท่านเจ้าฯ พี่พระสังวรประสาท

“หม่อมเจ้าพระสมเด็จฯ องค์นี้ เมื่อเป็นฆราวาสได้ไปสู่ขอกุลสตรีผู้หนึ่ง บิดามารดาทางฝ่ายหญิงเขาติว่าขี้ริ้วและเป็นเจ้าจนๆ อายุมากแล้ว เสียพระทัยจึงออกผนวชเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใครจะเป็นพระอุปัชฌาย์สืบไม่ได้ ทราบแต่ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อครั้งยังเรียกกันว่าพระมหาโต เปรียญหก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วมาประทับอยู่วัดระฆังฯ ทรงเล่าเรียนภาษาบาลีกับพระอาจารย์มหาโตแต่ผู้เดียว จนถึงสอบไล่ได้เป็นเปรียญ 7 ประโยค เมื่อเจริญด้วยพระชนมายุพรรษา จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระพุทธบาทปิลันท์”

โดยที่พระราชวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข อยู่ติดกับวัดระฆังโฆสิตาราม และทรงเป็นผู้อุปการะวัด ดังนั้น เจ้านายสายวังหลัง จึงรู้จักมักคุ้นและสนิทสนมกับพระภิกษุสงฆ์ของวัดระฆังโฆสิตารามเป็นอย่างดี ซึ่งก็รวมทั้งหม่อมเจ้าทัดด้วย เมื่อมีพระชนมายุถึงเวลาอันสมควรจะบรรพชา ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปก็มักจะจัดกันที่วัดใกล้บ้านของตน

ด้วยเป็นราชวงศ์ จึงต้องทำพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้บรรพชาแล้วก็ไปเล่าเรียนกับพระมหาโตที่วัดระฆังฯ จนอายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2385 จึงผนวชเที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามโบราณราชประเพณี มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แต่ครั้งยังเป็นพระมหาโต เปรียญ 6 เป็นพระกรรมวาจาจารย์

 

หลังจากผนวชแล้วได้มาประทับอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามตามเดิม ทรงศึกษาด้านพระธรรมวินัย สมถกรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์มหาโตแต่ผู้เดียว

พ.ศ.2392 ได้สอบพระปริยัติธรรม ซึ่งจัดที่สนามสอบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค อีก 12 ปีต่อมา ถึงปี พ.ศ.2404 ได้สอบอีกที่สนามสอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค

พ.ศ.2407 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ หม่อมเจ้าพุทธุปบาทปิลันทน์

ต่อมาในปี พ.ศ.2415 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เป็นเจ้าอาวาส แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่มรณภาพ

พ.ศ.2430 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ หม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์พระธรรมเจดีย์

พ.ศ.2435 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายเหนือที่ พระพิมลธรรม์ ย้ายไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

พ.ศ.2437 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะอรัญวาสีและเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

สิ้นชีพิตักษัยด้วยพระโรคชราเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน 2443 เวลาบ่าย 2 โมงเศษ สิริชันษา 77 ปี 244 วัน