หนุ่มเมืองจันท์ | คำถาม “คนหนุ่มสาว”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งอ่านนิตยสาร a day เล่มใหม่

หน้าปกเป็นรูป “อารยา ราษฎร์จำเริญสุข”

พร้อมคำสั้นๆ “ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า”

เรื่องหลักในเล่มเป็นการสัมภาษณ์ผู้อาวุโส 20 คน

ทีมงานตั้งใจจะให้หนังสือปกนี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง “คนหนุ่มสาว” กับ “ผู้อาวุโส”

เขาเชื่อว่า “คนหนุ่มสาว” คือคนที่ออกแรงหมุนโลก

แต่ช่วงชีวิตของ “คนหนุ่มสาว” เต็มไปด้วย “คำถาม” ที่ยังหา “คำตอบ” ไม่ได้

เกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งใดมีความหมายกับชีวิต ฯลฯ

“คำถาม” เหล่านี้เสิร์ชกูเกิลก็ไม่เจอ “คำตอบ”

มีคนกลุ่มเดียวที่จะตอบได้

คือ คนที่ผ่านวัยหนุ่มสาวมาแล้ว

“ด้วยความเชื่อว่า บางบทเรียนของผู้อาวุโสเหล่านี้อาจทำให้เราผ่านหลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตไปได้อย่างไม่ร้อนรน และอาจทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง

…ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่าอะไร”

แค่อ่านบทนำของเรื่องหลัก ก็อยากอ่านแล้ว

แม้จะพ้นวัยหนุ่มสาวมานานแล้วก็ตาม

a day ยังคงความเป็นนิตยสาร “ช่างคิด” เหมือนเดิม

ภาพจาก เพจ a day magazine

พลิกผ่านรูปกองบรรณาธิการ

ตอนนี้ “เบลล์” จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ เป็น “บรรณาธิการบริหาร”

เห็นรูปแล้วตกใจ ไม่เจอกันนาน ทำไมแก่ขนาดนี้

พอกวาดตาดูรูปคนอื่นๆ ในกองบรรณาธิการที่รู้จัก

เจ้า “ฟาน” ก็แก่

ทุกคนแก่หมด

ค่อยเข้าใจว่าเป็น “มุข” ของ a day

ทำเรื่อง “ผู้อาวุโส” เขาเลยใช้แอพพ์ “หน้าแก่” ทำให้ทุกคนในกองอาวุโสตามเรื่องหลักของเล่ม

ยังคงลูกเล่นน่ารักในสไตล์ a day ได้เหมือนเดิม

ช่างคิดจริงๆ

ในเล่มนี้มีบทสัมภาษณ์ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งที่ผมต้องรีบอ่านก่อนใคร

“พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน

ตอนนี้อายุย่างเข้า 76 ปี

ผมชอบอ่านบทสัมภาษณ์ “พี่ช้าง”

“พี่ช้าง” เป็น “กวี”

เขียนกลอน เขียนโคลงเล่นเหมือนเคี้ยวข้าว

สมัยก่อน ในคอลัมน์ “ของดีมีอยู่”

ช่วงไหน “พี่ช้าง” เขียน “กลอน”

เราจะรู้เลยว่าช่วงนั้นไม่ค่อยมีเวลา ต้องรีบปิดต้นฉบับ

สำหรับ “พี่ช้าง” เขียนกลอนง่ายกว่าบทความ

แต่ที่ดีที่สุดคือ “โคลง”

ใช้คำน้อย แต่ตีความได้เยอะ

“พี่ช้าง” ให้สัมภาษณ์เหมือนเขียน “โคลง” เลยครับ

สั้น กระชับ ได้ใจความ

แต่ “บาดลึก”

คนสัมภาษณ์คือ “เบลล์” บรรณาธิการบริหาร

เขาเป็นมือสัมภาษณ์ฝีมือดีคนหนึ่ง

“พี่ช้าง” เป็นคนมีอารมณ์ขัน

เป็นคนที่ยิงมุขได้คม และถูกจังหวะมาก

ผมชอบตอนที่ “เบลล์” ถามเรื่องประโยคฮิตของ “พี่ช้าง”

“โลกมีไว้เหยียบ ไม่ได้มีไว้แบก”

ภาพจาก เพจ a day magazine

“เบลล์” ใช้คำว่า “ประโยคอมตะ”

…ตอนนั้นคุณไปเจออะไรถึงว่าอย่างนั้น

ลองทายสิครับว่า “พี่ช้าง” จะตอบว่าอย่างไร

สั้นๆ ครับ

“เมา” (หัวเราะ)

เขายิงทิ้งความศักดิ์สิทธิ์ของ “ประโยคอมตะ” ของตัวเองด้วยมือตัวเอง

“เวลาเมาก็ไม่เห็นเคยแบกโลก เหยียบแม่งทุกที

ตอนนั้นนั่งกินเหล้ากับรุ่นพี่ศิลปากร คุยกัน แต่จำไม่ได้ว่าใครพูดก่อน”

…แล้วเชื่ออย่างนั้นไหมว่า โลกมีไว้เหยียบ ไม่ได้มีไว้แบก

“เบลล์” ยังถามต่อ

“เราไม่ได้ถือเป็นสรณะหรอก ก็พูดเอามัน”

ลั่นกระสุนนัดที่ 2 แล้วกลบฝังเลย

เช่นเดียวกับเรื่อง “วัย”

“พี่ช้าง” ล้อเล่นกับ “ความอาวุโส” ของตัวเองอย่างสนุกสนาน

“เบลล์” ถามว่าทุกวันนี้ยังต่อสู้กับอะไรอยู่ไหม หรือปล่อยวางแล้ว

“สู้กับหวัดก็แย่แล้ว แค่หาหมอก็ตายแล้ว (หัวเราะ)”

…คุณเคยบอกว่า ทุกวันนี้อยู่บนโลกนานเกินไปแล้ว คุณพูดจริงหรือพูดเล่น

“อยู่มาตั้ง 76 ปีแล้ว เป็นภาระกับคนอื่น เป็นภาระกับลูกหลาน เพื่อนฝูง นี่ เสียงยังไม่ดีเลย”

“พี่ช้าง” หลังผ่าตัดใหญ่ เสียงเขาแหบและเบาลงมาก

“วันนั้น คุยกับพระ ท่านหูไม่ดี ส่วนเราเสียงไม่ดี ผมก็เลยบอกท่านว่า เขียนหนังสือคุยกันดีกว่า หลวงพ่อ (หัวเราะ)”

ชอบมุขนี้มาก…555

เมื่อประเด็นของเล่มนี้คือ ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า…

“เบลล์” เริ่มต้นด้วยการถามผู้อาวุโสในเรื่อง “คนรุ่นใหม่”

…ทุกวันนี้เวลาเจอสื่อรุ่นใหม่ คุณมักจะบอกอะไรเขา

“ก็ขอความรู้จากเขาสิ”

…ไม่สอน

“ไม่สอนๆ สอนเขาก็เตะเอาสิ (หัวเราะ) ก็คุยกัน เขาอาจมีประสบการณ์มากกว่าเราก็ได้

ถ้าไม่เรียนรู้จากเด็กหนุ่มเด็กสาวจะไปเรียนรู้จากใคร

คนรุ่นใหม่ต้องให้เกียรติเขา เขาเก่งกว่าเราทั้งนั้น

เราต้องเรียนรู้จากเขา ถ้าเราฉลาดเป็น”

…คุณปรับตัวอย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

“ก็อยู่เฉยๆ ให้รู้ว่าแก่แล้วอย่าไปยุ่ง มันเขยิบตามวัย

บางงานไปแย่งหนุ่มสาวเขาทำ เขาก็ไล่เตะออกมาข้างนอกสิ

ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นยุคสมัยของเขา ยุคของเรามันเลยมาแล้ว

วิ่งผ่านมาแล้ว จะวิ่งกลับไปทำไม”

และมาถึงเรื่องสำคัญคือ “คำถาม” ของคนหนุ่มสาว

“เบลล์” ถามได้ดีมาก

แล้วลองฟัง “พี่ช้าง” ตอบสิครับ

…บางคนหวังว่าตอนแก่จะสบาย คุณมีคำถามไหมว่าทำไมยังต้องทำงาน

“ไม่มีคำถาม คนเกิดมาลำบากอยู่แล้ว คนตายจะไปลำบากได้ยังไง (หัวเราะ)

คนเราชอบใช้เวลาไปกับการหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ที่ค่อนข้างไร้แก่นสาร

เหมือนเมื่อก่อนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี สอน ถ้าคิดถึงฉันเมื่อไร ให้ทำงาน พระพุทธเจ้าก็สอนแบบนี้

แต่บางทีเรามัวแต่จะหาคำตอบ ซึ่งหาทั้งชีวิตก็ไม่เจอหรอก

เพราะว่ามันไม่มีคำตอบอยู่ดี”

“เบลล์” ถามต่อ

….ตอนคุณเป็นวัยรุ่นมีคำถามอะไรในชีวิตไหม

“ไม่มี ตอนนั้นเราแค่อยากทำงานเกี่ยวกับหนังสือ แค่นั้น พอได้ทำมันก็เหมือนสำเร็จ ตั้งแต่ได้ทำแล้ว

ชีวิตแทบจะไม่เคยทำอะไรเลยนอกจากทำหนังสือ เรามีความสุขในการทำงาน แค่นั้นเอง

แล้วสุขทุกวันด้วยนะงานหนังสือพิมพ์

เดี๋ยวก็เสร็จๆ”

การได้ทำในสิ่งที่เรารัก ก็เหมือนกับเราไม่ได้ทำงาน

ครับ “พี่ช้าง” เหมือนคนที่ผ่านโลกมานานจนมองทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ

รู้ว่า “คำถาม” บางคำถามก็ไม่มี “คำตอบ”

ถ้ามัวแต่นั่งนิ่งๆ แล้วคิดหา “คำตอบ”

จะไม่เจอ

การลงมือทำอาจนำมาซึ่ง “คำตอบ”

ตอบว่า “อย่าถามเลย”

ผมนึกถึงเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน มีโอกาสนั่งร่วมวงกับ “พี่ช้าง” และคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ศูนย์สิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ทั้งคู่คุยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ

โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทั้ง 2 คนอยู่กับมันมานานกว่าครึ่งชีวิต

ก่อนตบท้ายสั้นๆ

“โชคดีที่เราแก่แล้ว ผ่านไปแล้ว”

พูดจบก็หัวเราะ

แล้วทั้ง 2 คนก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม