“ละคร” การเมือง

ถามว่ามีใครแปลกใจที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ “ยุบพรรค” พรรคอนาคตใหม่หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่”

แม้ กกต.จะให้เหตุผลการเสนอ “ยุบพรรค” ในเอกสารข่าวอย่างชัดเจน

ถึง 8 บรรทัด

สรุปว่าพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้านบาท

เป็นการกระทำผิดมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ในมาตรา 72 นั้นกำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กกต.สงสัยว่าการให้กู้ยืมครั้งนี้เป็น “นิติกรรมอำพราง” ของ “การบริจาค”

ไม่เหมือนกับกรณี “โต๊ะจีน” ของบางพรรคการเมือง

ที่ชัดเจนว่าทุกบริษัทอยากบริจาคจริงๆ

ไม่ได้ “นิติกรรมอำพราง”

และไม่มีหน่วยงานรัฐไหนขอร้องบริษัทเหล่านั้น

จริง-จริ๊ง

เหตุที่ไม่มีใครแปลกใจว่า กกต.จะมีมติเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่

ไม่ใช่เพราะทุกคนศึกษาเรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี

แต่เพราะทุกคนเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง

พอรู้ว่าคนที่เจอคดียืมนาฬิกาเพื่อน

ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ทุกคนฟันธงเลยว่า “รอด”

คนที่เจอคดี “รุกป่า” ชื่อ “ปารีณา ไกรคุปต์”

ไม่ต้องดูเอกสารอะไร

หรือพลิกกฎหมายฉบับไหน

…รอด

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

ทำผิดอะไร ไม่รู้

…ไม่รอด แน่นอน

มีคนบอกว่ากระบวนการยุติธรรมยุคนี้

เขาไม่สนใจ “What” และ “Why”

ทำอะไร ทำไมถึงทำแบบนี้

ประเด็นที่อยู่ “Who”

สนใจเพียงอย่างเดียวว่า “ใคร”

ใครเป็นคนทำเรื่องนี้

เหมือนละครบู๊ช่อง 7 สี ที่พอคนดูเห็นหน้าตัวละคร

รู้เลยว่าคนนี้เป็น “พระเอก”

คนนี้เป็น “ผู้ร้าย”

ไม่ต้องดูจนจบก็รู้ชะตากรรมเลย

นี่คือกระบวนการยุติธรรมไทย

แบบช่อง 7 สี