บทเรียน การเมือง สรุป บทเรียน ประชามติ แนวทาง ปรองดอง

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ทั้งๆ ที่มีการขับเคลื่อน “ปรองดอง” ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ถามว่ามีปัจจัยอะไรที่ปรากฏขึ้นในลักษณะฝืน ต้าน หรือทวนกระแสหรือไม่

ตอบได้เลยว่า มี

ปัจจัย 1 คือ การไม่ยอมยกเลิกประกาศและคำสั่งอันเป็นผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่จำกัดกรอบการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเมือง

พื้นฐานที่สุด คือ คำสั่งห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน

ปัจจัยนี้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารได้อย่างเสรี ทำให้การระดมทางความคิดไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง

ปัจจัย 1 คือ การยังติดกับแนวทางในแบบ “ประชามติ”

การเปิดกิจกรรมสร้างพัฒนาบุคลากรอาสาสมัครประเทศไทย โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่มี พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก เป็นผู้อำนวยการ คือรูปธรรมอันเด่นชัดอย่างยิ่ง

เพียงแต่เปลี่ยนโครงสร้างจาก “กกล.รส.” มาเป็น “ศปป.” เท่านั้น

ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้กระบวนการ “ปรองดอง” มีปัญหาหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ยากเป็นอย่างยิ่งจะสกัดและขัดขวางการเดินหน้าไปของ “ปรองดอง” ได้ในทางเป็นจริง

พราะว่า “ปรองดอง” ดำเนินไปอย่างมี “กัมมันตะ” อันเป็นของตนเอง

พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ

การขับเคลื่อน การเมือง
ใต้เงา “คำสั่งของ คสช.”

พลันที่มีหนังสือเชิญจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง อันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน พรรคการเมืองทุกพรรคก็มีการเคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา

รูปธรรม 1 ก็คือ การหารือเพื่อสรรหาตัวแทนเข้าไปร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รูปธรรม 1 คือ การหารืออย่างเป็นการภายในเพื่อจัดทำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ

ทุกพรรคการเมืองล้วนต้องมีการประชุม และเป็นการประชุมเกินกว่า 5 คน

การเคลื่อนไหวนี้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา และรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะมิได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามี “การประชุม”

คสช. และรัฐบาลอาจสามารถหาข่าวสารอันเป็นรายละเอียดที่แสดงออกภายในที่ประชุมหารือนั้นได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

แต่ก็ไม่สามารถระงับการประชุมเหมือนที่เคยทำในยุค “ประชามติ” ได้

เพราะในห้วงแห่ง “ประชามติ” ไม่เพียงแต่ คสช. กระทำถึงขั้นไม่ยอมให้มีการเปิด “ศูนย์ปราบโกง” และมีการจับกุมตัวบุคคลทั้งใน กทม. และในต่างจังหวัดนำฟ้องร้องได้ตามอำนาจแห่งคำสั่งที่มีอยู่ หากแม้กระทั่ง นายวัฒนา เมืองสุข ประกาศว่าไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญยังถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติภายใน มทบ.11

แต่พลันที่เข้าสู่กระบวนการ “ปรองดอง” มาตรการแบบเดียวกับที่เคยกระทำในห้วงแห่ง” ประชามติ” ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้

พลานุภาพ ปรองดอง
พลานุภาพ ประชาธิปไตย

ไม่ว่า คสช. และรัฐบาลจะต้องการ หรือไม่ต้องการ แต่พลันที่มีการผลักดัน “ปรองดอง” ให้เป็นนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง

คำประกาศเป็น “นโยบาย” อาจเป็นของ “คสช.”

แต่ถามว่า คสช. จะสามารถกำกับ บงการและควบคุมให้กระบวนการของ “ปรองดอง” เป็นไปอย่างที่ คสช. ต้องการได้หรือไม่

อาจได้ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ติดตามมา

อย่างน้อยที่ตามมาพร้อมกับคำว่า “ปรองดอง” ก็คือ คำว่า “เปิดกว้าง” และที่ตามมาติดๆ กระทั่งกลายเป็นองค์ประกอบที่ทุกฝ่ายล้วนพูดและเห็นร่วมกัน

นั่นก็คือ ต้องเสียสละ นั่นก็คือ ต้องยอมถอยกันคนละก้าว

เหมือนกับว่าคำว่าเสียสละ คำว่ายอมถอยกันคนละก้าว จะเป็นการเสนอและเรียกร้องไปยังอีกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ คสช. หรือรัฐบาล

แต่ “ปรองดอง” เป็นอย่างนั้นหรือ

“ปรองดอง” เรียกร้องอย่างเข้มงวดและจริงจังว่า หากจะมีการถอยก็จำเป็นต้องถอยทุกฝ่าย ไม่มีใครเสียสละฝ่ายเดียว หากแต่จะต้องเสียสละทั้ง 2 ฝ่าย

ไม่มีใคร “ได้” อย่างเดียว ไม่มีใคร “เสีย” อย่างเดียว

เช่นนี้เองจึงมีการเอ่ยถึง “เปิดกว้าง” ในระยะกาลเดียวกันกับคำว่า “ปรองดอง” นี่ย่อมต่างไปจากบรรยากาศอันเคยเกิดขึ้นในห้วงแห่ง “ประชามติ” อย่างสิ้นเชิง

หาก “ปรองดอง” ยังยึดกุมแนวทางเดียวกับ “ประชามติ” ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า มาตรการที่ลงมืออาจทำให้สามารถผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้ แต่มาตรการอย่างนั้นเองที่ทำให้ “ความโปร่งใส” ของประเทศไทยเกิดปัญหา

กลายเป็นราคี แปดเปื้อน และมีผลต่อ “ภาพลักษณ์” ของประเทศ

AFP / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

บทเรียน ประชามติ
แนวทางปรองดอง

ก็อย่างที่มีการเน้นย้ำอย่างหนักแน่นจริงจัง ต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า “ปรองดอง” ต้องดำเนินอย่างเปิดกว้าง อาศัย “ประชาธิปไตย” มาเป็นเครื่องมือ

ไม่อาจใช้วิธีการแบบ “เผด็จการ” ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะว่า “ปรองดอง” เป็นเรื่องในทางความคิด เป็นเรื่องในทางจิตใจ เรื่องในทางความคิด จิตใจ ไม่สามารถใช้กำลังและบังคับให้เกิดขึ้น

อาจบังคับได้โดยคำสั่ง “เผด็จการ” แต่ก็จะไม่ “ยั่งยืน”

ความสำเร็จ ความล้มเหลว อันเนื่องจากกระบวนการ “ปรองดอง” จึงต้องใช้กระบวนการ “ประชาธิปไตย” มิใช่กระบวนการ “เผด็จการ”

ต้องสรุปบทเรียนจาก “ประชามติ” ต้องยึดกุมหลักการและแนวทาง “ประชาธิปไตย” อย่างแน่วแน่มั่นคง ไม่ควรถลำลงไปในปลักแห่งหลักการและแนวทาง “เผด็จการ” อย่างเด็ดขาด

เพราะ “เผด็จการ” มีแต่จะตีบตัน คับแคบ มองไม่เห็นแสงแห่ง “ปรองดอง”