เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : อวสานเป็นเพียงนามสมมุติ

เรื่องของคนทำหนังสือในยุคหลัง 2500 ถึง 2516 มีผู้ที่เดินเข้ามาในแวดวงการทำหนังสือหลายรูปแบบ แม้ในแวดวงหนังสือพิมพ์รายวัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุคที่ผู้นำรัฐบาลวิตกกับการวิพากษ์วิจารณ์ของนักหนังสือพิมพ์ ขณะที่บรรดานิสิตนักศึกษาต่างมีกิจกรรมจัดทำหนังสือของสถาบันตัวเอง รวมถึงการรวมกลุ่มจากต่างมหาวิทยาลัย ออกหนังสือเล่ม

เช่นเดียวกับที่ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ต้องการทำหนังสือรายเล่มเพื่อสนองความคิดและ “รสนิยมวิไล” ในโลกหนังสือและงานเขียน

หลังจากพยายามจะใช้ชื่อ “เฟื่องนคร” เป็นชื่อหลักของหนังสือขนาดกระเป๋า “pocket book” ชื่อรองคือเดือนมีนามสกุล เริ่มจาก “พฤษภาคม อุไร” หวังจะให้เป็นหนังสือขนาดกระเป๋ารายเดือน แต่การทำหนังสือเล่มให้ออกตรงเดือนตามกำหนดในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ดัง “รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งดำเนินการประหนึ่งบรรณาธิการแจ้งไว้ในหน้าบทบรรณาธิการตอนหนึ่งว่า

หลังจาก พฤษภาคม อุไร ดูเหมือนห้องทำงานของเรายิ่งสะพรั่งด้วยน้ำใจจากเพื่อน จากผู้อาวุโส จากผู้ที่เราเคารพเทิดทูน จดหมายจากผู้อ่านและโทรศัพท์แสดงความยินดี การวิจารณ์ทั้งด้วยวาจาและบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ถ้อยตำหนิและถ้อยสรรเสริญ นั้นล้วนเป็นแรงให้เราขับเคี่ยวกับการทำงานและอย่างขะมักเขม้น แม้ยังไม่แน่นอนว่าการทำ มิถุนายน มณี ประดับไว้บนถนนหนังสืออีกเล่มจะเป็นไปได้ไหม?… และ

(ปิดท้ายว่า) มิถุนายน มณี เราห้าคนห้าพันธุ์ยังไม่สิ้นแรงดาลใจ

 

ปกของหนังสือชื่อเดือนมีนามสกุลยังเป็นแถบสีมีชื่อนักเขียนในแต่ละแถบตามที่บรรณาธิการพิจารณาชื่อนักเขียนทั้งมีชื่อเสียง ทั้งเพิ่งมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมและนักเขียนใหม่ เช่นผมเองยังมีโอกาสมีชื่อขึ้นปกกับเขาด้วย

หนังสือในยุคนั้นจะออกมาเป็นชื่อประจำไม่ได้ ดังนั้น ชื่อ “เฟื่องนคร” ที่หวังให้เป็นชื่อหนังสือขนาดกระเป๋ารายเดือนเหมือนหนังสือขนาดเดียวกันในต่างประเทศไม่ได้ จึงต้องใช้ชื่อเดือนมีนามสกุลเปลี่ยนไปเรื่อย

จาก พฤษภาคม อุไร ไล่ไปอีกหลายเดือน กรกฎาคม โกเมน สิงหาคม สมิต มกราคม “๑๓ เป็นตัวเลขขึ้นปีใหม่ 2513 กุมภาพันธ์ ๒๘ เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน แล้วไปได้ “หัวหนังสือ” ผดุงศิลป์ ที่มี อักษร เชื่อปัญญา เป็นเจ้าของ บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ใช้ชื่อสำนักงานและโรงพิมพ์ผดุงศิลป์ ซอยเทศาเป็นสำนักงานใหญ่ มี สุพล เตชะธาดา เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานสาขาสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เวิ้งนาครเขษม และโรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์ เป็นโรงพิมพ์สาขา

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนั้น ยังใช้มาตรา 17 ไม่ให้ออกหนังสือใหม่ทุกประเภท ขณะที่ผู้จัดทำยังเป็น “รงค์ วงษ์สวรรค์ ประเสริฐ สว่างเกษม เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ และ ช่วง มูลพินิจ กับเพื่อนร่วมงาน คือ ชาญณรงค์ ดิฐานนท์ อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มนู จรรยงค์ และ อดุล เปรมบุญ

หลังจากใช้ชื่อ “เฟื่องนคร” และปรับเปลี่ยนปกเป็นภาพเขียนจากจิตรกรหนุ่มยุคนั้น แต่ยังใช้ชื่อเดือนมีนามสกุลกำกับ เช่น สิงหาคม รมณี ได้ 3 เล่ม จึงกลับมาใช่ชื่อเดือนมีนามสกุลอีกครั้งหนึ่ง คือ กันยายน นลิน เพิ่ม “รงค์ วงษ์สวรรค์ กับ เพื่อนหนุ่ม อีกบรรทัด

แต่ภาพปกยังเป็นภาพเขียน

 

เมื่อวันเวลาเดินทางมาถึง พฤศจิกายน ชารี “ในที่สุดวลีที่ข้าพเจ้าใช้น้อยหนมากในงานเขียน — และในที่สุดเราก็มีโอกาสมองเห็นตัวเองผละจากความสับสนออกไปพักผ่อนบ้าง หรือไปลงนรก เราไม่แยแส

“เฟื่องนคร จาก พฤษภาคม อุไร ถึงพฤศจิกายน ชารี แล้วนิตยสารรายเดือนจาก “รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม คงจะไม่มีต่อไปอีกนาน 6 เดือน 12 เดือน หรือชั่วนิรันดร์ เทวดาหรือปีศาจไม่มีคำตอบ…”

แล้ว “รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกผู้อ่านว่า

“ข้าพเจ้ากำลังมองเพื่อนหนุ่มทุกคนในสำนักงานคับแคบของเรา

“ขอยืมเวลาผู้อ่าน 2 นาฑีได้ไหม” ว่าแล้วก็ร่ายสั้นร่ายยาวถึง “เพื่อนหนุ่ม” แต่ละคนด้วยความรู้และความรู้สึกที่มีต่อกัน พร้อมกับลงท้ายว่า

“ถนนหนังสือคงจะเหงาไปบ้างหลังจาก เฟื่องนคร เดินไปหยุดอยู่ริมหลุมฝังศพ แต่สัปเหร่อไม่อนุญาตให้ลงไปนอน “รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม – ตราปลาตะเพียน – จึงยังคงทำงานทางด้านพิมพ์หนังสือปกอ่อน — เพื่อสาระและบันเทิงในรสนิยมวิไล — กันต่อไปอีกในวาระอันสมควร

“ฉีกยิ้มบนมุมปากให้เราหน่อยได้ไหม

“ลมชวยมา เกษรดอกไม้ปลิวไปสังวาสกันเพื่อเกิดเป็นต้นไม้ และมีดอก แมลงภู่เฝ้าระแวดระแวงพายุและไฟป่า ความตายหรืออวสานเป็นเพียงนามสมมุติ – “รงค์ วงษ์สวรรค์ – 19 พฤศจิกายน 2513”

ด้านในปกหน้าบอกไว้ว่า เฟื่องนคร เกิด – พฤษภาคม อุไร ฆ่าตัวตาย – พฤศจิกายน ชารี ยังไม่ตาย

 

คืนนั้น ผมเสียน้ำตาให้กับงานที่รักครั้งแรกบนระเบียงบ้านบางซ่อน เลขที่ 40 กับเพื่อนบางคน และในความคิดคำนึงจะไม่เสียน้ำตากับการสูญเสียหน้าที่การงานในอนาคตโดยเฉพาะงานหนังสือและหนังสือพิมพ์อีก

หนังสือชื่อเดือนมีนามสกุล เป็นหนังสือเล่มปกอ่อนที่สอนให้ผมได้รับความรู้ถึงการทำหนังสือ ไม่ว่าจะในหน้าที่ใด ตั้งแต่ติดตามทวงถามต้นฉบับจากนักเขียนผู้ใหญ่ การออกแบบหน้าหนังสือ การพิถีพิถันกับเส้นสายและรูปเล่ม ขนาดของภาพ และความเหมาะสมของภาพที่นำมาลงตีพิมพ์ รวมไปถึงสำนวนล่อแหลมของนักเขียน และสำนวนเพรียวนมของ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่คนอ่านและคนเขียนหนังสือรุ่นข้าพเจ้าติดงอมแงม

บางคนที่เข้ามาทำงานร่วมกันในการนำหนังสือไปวางแผง ได้กำลังสำคัญจากน้องของ “รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ นรา วงษ์สวรรค์ และ ประเสริฐ สว่างเกษม ที่เขียนบอกไว้ว่า “ประเสริฐ สว่างเกษม มีรอยแห่งกังวลบนใบหน้า และในหัวใจ เขาได้รับบทเรียนแห่งความรับผิดชอบในราคาแพงมาก นาฑีถัดจากนี้ทั้งเขาและข้าพเจ้าคงไม่ได้รับความผิดหวังเป็นรางวัลอีกเป็นแน่นอน – ในการทำงานที่ลงทุนด้วยเหงื่อ เลือด ความจน และความรักเพื่อน” (มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นไหม ไม่มีใครตอบได้ เพราะวันนี้ทั้งสามชีวิตจากไปพบกันบนสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์ – บรรณพิภพ ในต่างกรรมต่างวาระและวัย)

ส่วนที่พี่ปุ๊เขียนถึงผมเป็นคนแรกจริงจังและจริงใจว่า

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ควรเคร่งเครียดกับงานเขียนให้มากกว่าที่กำลังบอกตัวเองว่าพากเพียร และควรกลับจากวงเหล้าถึงบ้านโดยไม่มีรอยแผลโดนยุงนับพันแห่งกรุงเทพฯ กัด – เพราะเผลอหลับท้าทายมัน

งานหนังสือและหนังสือพิมพ์เป็นงานที่ต้องเอาใจใส่เรียนรู้ตลอดเวลา ดังบรรพชนคนหนังสือพิมพ์ได้รับบทเรียนถึงรุ่นผม และต่อจากนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ความเป็นคนหนังสือพิมพ์ไม่เปลี่ยนไป