มุกดา สุวรรณชาติ : ระบอบประชาธิปไตย… ที่ต้องใช้เสียงลิงกับงูเห่า

มุกดา สุวรรณชาติ

วันรัฐธรรมนูญเวียนมาอีกครั้ง

แต่มันน่าเศร้ามากที่ผลของการร่าง รธน.แบบต้องการสืบทอดอำนาจ พลาดไม่ได้ ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงจุดที่การจะเปิดประชุมสภาหรือโหวตเสียงในสภา

ต้องใช้เสียงลิงกับงูเห่ามาสนับสนุน ต้องใช้แม้กระทั่งเสียง ส.ส.ที่ถูกตัดสินให้จำคุก แอบเข้าไปแสดงตนให้ครบองค์ประชุม

ถ้าทุกเสียงมีความสำคัญขนาดนี้ พรรครัฐบาลคงต้องแย่งกันเลี้ยงลิงกับงูเห่า เพื่อให้มีอำนาจต่อรอง มิฉะนั้นอาจถูกกดหรือถูกเขี่ยกระเด็นออกไป ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็ต้องตั้งรับให้ดี เพราะถ้าซื้อไม่ได้ อาจมีการปล้น!!

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

คำตอบคือ

 

รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อ…พวกเขา

เรื่องนี้ต้นเหตุเป็นเพราะประชาชนธรรมดาแบบ…พวกเรา…ไม่ยอมเลือกกลุ่มอำนาจเก่าและพวกหัวอนุรักษนิยม ตลอดสิบกว่าปี เมื่อเลือกตั้งแพ้ทุกครั้ง สุดท้ายต้องทำการรัฐประหารยึดอำนาจและจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล

ถ้าจะให้ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบ 100% คือให้ตัวแทนประชาชนเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรีหรือจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มอำนาจเก่าต้องแพ้แน่นอน

ดังนั้น จึงต้องแต่งตั้ง ส.ว.โดยผู้มีอำนาจและกำหนดให้ ส.ว.มีเสียงในการเลือกนายกฯ ได้

แต่ถ้าอยากจะให้มีชื่อว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยบ้างก็ต้องมีเสียง ส.ส.มาเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ดังนั้น จะต้องได้เสียง ส.ส.ให้มากพอ นั่นหมายความว่าจะต้องชนะเลือกตั้งพอสมควร ถ้าไม่ชนะที่ 1 ก็จะต้องหาวิธีการรวบรวมให้เสียงเกินครึ่งสภา

มีเรื่องเล่ากันว่า คนที่รับผิดชอบด้านกฎหมายสั่งให้ลูกน้องคนหนึ่งหาวิธีเอาชนะการเลือกตั้ง และจะต้องทำเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะจะต้องใช้ได้หลายครั้ง

ลูกน้องคนนั้นเดินเข้าไปเที่ยวในสวนสัตว์ เขามีบทเรียนเรื่องงูเห่าของนายสมัคร สุนทรเวช มาแล้ว แต่เมื่อเดินผ่านกรงลิง พวกลิงก็กระโดดมาเกาะกรง ขออาหาร เขาจึงนึกถึงการเมืองสมัยก่อนที่มีการเปิดให้เลือก ส.ส.อิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.เหล่านั้นมาสนับสนุนรัฐบาลของผู้มีอำนาจได้

แต่ปัจจุบัน การมี ส.ส.อิสระ ถูกกล่าวหาว่าเปิดช่องให้มีการขายตัวขายเสียง ดังนั้น จึงทำได้แค่ ให้เกิดพรรคการเมืองเล็กๆ มากที่สุด แล้วค่อยหาวิธีดึงเข้าร่วม กรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังใช้กระบวนท่าเดิม ในการร่าง รธน.ในอดีตหลังรัฐประหาร

1. ต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง แต่คราวนี้ลดลงจากอดีต คือ

หลังรัฐประหาร ปี 2520 ส.ว. มี 3/4 ของ ส.ส.

หลังรัฐประหาร ปี 2534 ส.ว. มี 2/3 ของ ส.ส.

หลังรัฐประหาร ปี 2557 ส.ว. มี 1/2 ของ ส.ส.

2. การให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ มีชัยและ กมธ.ไม่ได้เสนอ แต่ สนช. และ สปท.อยากได้จึงเสนอเป็นคำถามพ่วง เปิดทางให้มีนายกฯ ที่หนุนโดย ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

3. วิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ให้เป็นแบบใหม่ที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่ได้รับความนิยม ที่ชนะเลือกตั้งเขตจำนวนมาก ถูกกำหนดให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง หรือไม่ได้เลย แต่ทำให้พรรคเล็กๆ มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น จากนั้นก็จะสามารถรวบรวม ส.ส.มาหนุนรัฐบาลได้

แต่ผู้สืบทอดอำนาจจะอยู่ได้นานเท่าไร? บทเรียนที่ผ่านมา นายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดย รธน.2521 อยู่ได้ไม่ถึง 9 เดือน นายกฯ พล.อ.สุจินดา คราประยูร โดย รธน.2534 อยู่ได้ 5 สัปดาห์

จากรัฐธรรมนูญที่เขียนปูทางไว้ (ซึ่งจะไม่ยอมให้แก้ไข) กลายมาเป็นสถานการณ์จริงที่เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ นายกฯ ที่มาจาก รธน.2560 อนาคตไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดงูเห่าและลิงที่อยากกินกล้วยขึ้นมา แต่ยังแอบซุ่มอยู่

 

มีคนซื้อ-มีคนขาย
ร่องรอยของลิงและงูเห่าจึงปรากฏขึ้น

ถึงเวลานี้คงรู้แล้วว่าคนซื้อเป็นใคร คนขายเป็นใคร คนซื้อมีความสามารถในการเจาะซื้อ

ไม่เพียงในพรรคอนาคตใหม่ ยังมีในพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ อีก ทั้งแบบเป็นครั้ง ผูกขาดเป็นขาประจำ รอโอกาสเปลี่ยนโปรย้ายค่าย

ตัวอย่างคือ การประชุมสภา 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในญัตติที่ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

ญัตตินี้เสนอโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ของ ปชป. แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านโหวตชนะด้วยคะแนน 234 ต่อ 230 เสียง งดออกเสียง 2 คน เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตเพียง 4 เสียง โดยมี ส.ส.ปชป.ร่วมโหวตสนับสนุนด้วย 6 เสียง ฝ่ายรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อ แต่ฝ่ายค้าน “วอล์กเอาต์” ทำให้สภาล่ม

การประชุมวันต่อมา ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบอีกเป็นครั้งที่ 2 นี่เป็นตัวชี้วัดว่าเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลมีปัญหาในสภาแล้ว และจะไปโทษกลุ่มของนายสาทิตย์ที่ยกเมื่อสวนมติวิปรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้เสนอญัตติด้วย ปัญหาคือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่มาประชุม 18 คน

ฝ่ายรัฐบาลจึงจัดงานสังสรรค์แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีนำทีมคุยเคลียร์ใจพรรคร่วม และยื่นคำขาดว่า ถ้าสภาล่มอีก อย่างเบาปรับคณะรัฐมนตรี อย่างมากยุบสภา

3 ธันวาคม ฝ่ายค้านยังสู้ด้วยเกมนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 261 เสียง ถือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมสภา คือ 249 เสียง และนับคะแนนใหม่ ด้วยการขานชื่อ ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 244 ต่อ 5 งดออกเสียง 6 โดยที่ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ร่วมโหวตญัตติดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบพบว่ามี ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านได้แสดงตนเพื่อให้องค์ประชุมเกินครึ่ง จำนวน 10 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน พรรคประชาชาติ 1

ชาวบ้านก็สงสัยว่างานนี้มีการแอบแจกกล้วย

แต่การโหวตในสภา แพ้แล้วไม่ยอมรับ ต่อไปฝ่ายค้านซึ่งจะแพ้บ่อยกว่าคงจะขอนับใหม่ทุกครั้ง

คำถามที่ตามมาคือรัฐบาลกลัวอะไรกันนักหนา เรื่องตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบการใช้ ม.44 เมื่อคิดว่าการใช้มาตรา 44 ถูกกฎหมาย

คำตอบก็คือ อาจจะมีที่เป็นปัญหาบ้างก็ได้ เช่น กรณีปิดเหมืองทองอัครา

 

การย้ายพรรคของ ส.ส.ได้
ตามมาตรา 101 (9) และ (10)
ทำให้การซื้อ-ขายงูเห่าและลิง
ถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง

(9) พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว

**ถ้าพรรคไล่ลิงหรืองูเห่าออกไป การขายตัวย้ายพรรค ก็จะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องทันที**

(10) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคําสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีคําสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกําหนดหกสิบวันนั้น

**การยุบพรรคก็เลยกลายเป็นเครื่องมือในการดึง ส.ส.ย้ายพรรคแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน**

แต่ ส.ส.ในสภา กลุ่มที่ยืนหยัดอยู่อุดมการณ์ น่าจะมีมากกว่า คนพวกนี้จะเป็นคนที่มีอนาคตทางการเมืองแน่นอน เพราะการเมืองมีแต่ก้าวหน้าขึ้น วันนี้ไม่ได้กินกล้วยก็เพราะเขาไม่ได้เป็นลิง และก็ไม่ได้เป็นงูเห่าที่มาแว้งกัดประชาชน

 

พรรคร่วมรัฐบาล
ต้องเพิ่มกำลังตามสัดส่วน
ถ้าไม่อยากเสียโควต้า รมต.

ทีมวิเคราะห์คาดว่า …สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล การดึง ส.ส.ที่ย้ายพรรคมาร่วมด้วยกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเท่ากับเป็นการเสริมกำลังของตนเองให้เข้มแข็งขึ้น ถ้าหากปล่อยให้พรรคพลังประชารัฐดึง ส.ส.จำนวนมากไปเพิ่มกำลัง จะทำให้เป็นพรรคใหญ่ขึ้นมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ไม่ต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

ตอนนี้ในพรรคร่วมรัฐบาล นับเอาจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค แล้วหารแบ่งโควต้ารัฐมนตรี แต่พลังประชารัฐขาดทุน เพราะพรรคชาติพัฒนามี ส.ส. 3 คน ก็ได้โควต้ารัฐมนตรี ทำให้หลายกลุ่มก็ไม่ค่อยพอใจ ถ้ามีลิงและงูเห่าเข้ามาเปลี่ยน ตัวเลข ส.ส.จะเปลี่ยน ชาติพัฒนาอาจโดนเขี่ยทิ้งไป เอาเก้าอี้ไปให้ลิงหรืองูเห่า

ดังนั้น แนวทางของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นน่าจะรีบดึง ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคมาอยู่กับฝ่ายตนให้มากที่สุดจะได้กลายเป็นกำลังต่อรองที่แข็งขึ้น

พวกลิงอาจต้องการแค่กล้วย แต่งูเห่าอาจต้องการตำแหน่ง รมต. ซึ่งไม่ง่ายเพราะเต็มแล้ว ถ้าปรับ ครม.เมื่อไร คงมีเรื่องวุ่น

ถ้าใช้ทฤษฎีลิงอยากกินกล้วย คนที่ยื่นกล้วยให้อาจมีหลายคน ดังนั้น ถ้าไปอยู่กับพรรคการเมืองบางพรรค ข้อหาที่ทรยศอุดมการณ์ยังเบาลง หรือบางพรรคอาจจะอยู่ได้อย่างสบายใจ การต่อรองในการขอกล้วยเป็นครั้งคราวก็จะทำให้ยิ่งกระจายกันไปอยู่หลายๆ พรรค

การไม่ให้แกนนำรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดก็จะยิ่งต่อรองได้ง่ายได้มากขึ้น จะได้กินกล้วยบ่อยขึ้น

 

ทางเลือกของ ส.ส.
ที่ต้องการย้ายพรรคการเมือง

สามารถไปยังพรรคการเมืองใดก็ได้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย เพราะไม่ระบุเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แต่จะมีผลทางการเมืองแตกต่างกัน

เช่น การได้มาซึ่งความเป็น ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ หมายความว่าประชาชนสนับสนุนแนวทางและนโยบายของพรรคอนาคตใหม่จึงเลือกเขาเข้ามาเป็น ส.ส. การย้ายไปพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามหรืออยู่คนละฝั่งคนละขั้วการเมืองก็จะกลายเป็นการตบหน้าประชาชน ทรยศอุดมการณ์

ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่คิดเล่นการเมืองต่อ อาจพอใจแค่กล้วย 10 หวี ขออยู่สมัยเดียว แต่พวกเขาจะได้ชื่อเสีย…ที่ติดตัวไปจนตาย ถึงลูกหลาน

ส.ส.เขตที่คิดจะเล่นการเมืองซ้ำอีก กล้วยที่ได้มา 10-20 หวี จะไม่พอเป็นเสบียง เพราะจะหมดไปในไม่ช้า

แต่พวกเขายังมีทางเลือกอีก เช่น ย้ายไปอยู่กับพรรคเล็กที่เป็นกลางๆ หรือไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา เป็นต้น

ยิ่งไปอยู่ในพรรคขนาดเล็กยิ่งมีบทบาทมาก

ยิ่งถ้ามีวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคต คนที่ย้ายข้างอยู่กับแกนนำที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของประชาชนจะถูกกระแสกดดันหนักที่สุด ถ้ามีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อนาคตทางการเมืองมีโอกาสดับไปเลย แต่การหลบอยู่กับพรรคการเมืองระดับรองปลอดภัยกว่า

คำถามที่ตามมาคือ พวกเขาเอาเงินจากไหนมาซื้อกล้วย ก็เงินภาษีจากประชาชนนั่นแหละ ชาวบ้านซื้อของทุก 100 บาท เสียภาษี 7 บาท เติมน้ำมันก็จ่ายภาษี ไอ้ที่แจกๆ กันอยู่นี่ ทั้งเงินทั้งกล้วย ก็เงินภาษีชาวบ้านทั้งนั้น

สิ่งที่ประชาชนคนเลือกตั้งจะไม่พอใจมากๆ คือ ตอนที่พวกเขาเลือก ส.ส.เพราะผู้สมัครประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ร่วมกับกลุ่มสืบทอดอำนาจ

แต่มาวันนี้เจอโปรย้ายค่าย คนละ 10 หวี ก็ขายตัวทันที

ลืมไปว่า ที่สวมอยู่บนหัว คืออำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นแสน เป็นล้าน ที่เลือกแต่ละพรรค ไม่ใช่สิทธิส่วนตัว