‘หลวงปู่มั่น’ บุคคลสำคัญของโลก

เสมือนเป็นที่แน่นอนแล้วว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 ได้ยกย่องบุคคลสำคัญที่เป็นพระสงฆ์ถึง 2 รูป ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต) ครบรอบ 150 ปีชาตกาล (20 มกราคม 2563) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464)

ในที่นี้จะขอกล่าวคุณประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

เท่าที่ได้ศึกษาในชีวิตประวัติของท่าน แม้จะเพียงน้อยนิด แต่ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศาจารวัตรอันสง่างาม โดยเฉพาะข้อวัตรที่ภิกษุพึงกระทำได้ยากในยุคปัจจุบัน ก็คือธุดงควัตร

ธุดงควัตรของหลวงปู่มั่น ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นสมณกิจวัตรเป็นประจำวันมิได้ขาด ครบสมบูรณ์ถึง 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล

2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์

3. เอกปัตติกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์

4. เอกาสนิกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์

5. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม

6. เตจีวริตังคธุดงค์ ได้แก่ ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน คือ อุตราสงค์ (จีวร) อันตรวาสก (สบง) สังฆาฏิ

7. อารัญญิกังคะธุดงค์ ได้แก่ ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน

ปฏิปทาแห่งธุดงควัตร อันภิกษุพึงกระทำได้ยาก เพราะเป็นองค์คุณแห่งการเผากิเลสที่เร่าร้อนให้ดับ ให้หมดสิ้นไป

ในครั้งพุทธกาลภิกษุที่ได้รับยกย่องจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในการถือธุดงค์ ก็คือพระมหากัสสปเถระ

พระมหากัสสปเถระ ถือธุดงควัตร 3 ข้อ เป็นนิตย์ ได้แก่ 1.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร 3.อารัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร

พระมหากัสสปเถระมีข้อวัตรปฏิบัติสมบูรณ์ด้วยองค์แห่งธุดงค์คุณอย่างเคร่งครัด 3 ข้อ และยังปฏิบัติธุดงค์ข้ออื่นๆ ทั้งเอกปัตติกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ เอกาสนิกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ได้แก่ ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม ท่านก็ปฏิบัติมิได้ขาดเช่นเดียวกัน

พระมหากัสสปเถระถือเป็นต้นแบบแห่งธุดงค์อย่างแท้จริง ผมเชื่อว่าหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติธุดงค์ของพระมหากัสสปะเถระมาเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินรอยตามหลักธุดงค์อย่างเคร่งครัด

เมื่อปฏิบัติธุดงค์ตามปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เลิศในธุดงควัตรแล้ว ปฏิสัมภิทา 4 ย่อมปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแจ่มแจ้ง

หลวงปู่มั่นจึงได้ชื่อว่าอริยสงฆ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยธรรมและวินัย สมบูรณ์ด้วยอาจาริยวัตร สมบูรณ์ด้วยศีลาจาริยวัตรแห่งสมณะผู้เจริญ

หลวงปู่มั่นไม่ได้เขียนตำราวิชาการเหมือนนักวิชาการพระพุทธศาสนาทั่วไป แต่ท่านปฏิบัติได้เหนือกว่านักวิชาการเขียนตำราทั้งหลาย ดังคำว่า แม้เขียนตำราวิชาการเป็นแสนหน้า ล้านหน้า แต่ปฏิบัติไม่ได้แม้สักหน้าเดียวที่ตนเขียน การเขียนตำรานั้นถือว่าสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

นักเทศน์ที่เทศน์สอนผู้อื่นเป็นร้อยเป็นพันกัณฑ์ สาธกยกหลักธรรมในพระไตรปิฎกมาเป็นร้อยเป็นพันสูตร แต่ตัวเองปฏิบัติไม่ได้แม้แต่สูตรเดียว การเทศน์นั้นก็ชื่อว่าสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

ดังคำสอนของหลวงปู่มั่นที่พร่ำสอนลูกศิษย์ว่า “บรรดานักปฏิบัติต้องให้เฉลียวฉลาดรู้เท่าทันโจร เมื่อรู้เท่าทันโจรแล้ว โจรย่อมไม่มีโอกาสลักสิ่งของไปได้แม้ฉันใด การปฏิบัติให้มีสติและปัญญารักษาตน กิเลสก็มิอาจเข้าถึงได้”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการธุดงค์จะถือเป็นการฝึกตนที่สำคัญ แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่ละเลยการศึกษาหาความรู้ด้านสัทธรรม

ท่านกล่าวว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ ดังหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใด ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรม 3 อย่างนี้จะแยกกันไม่ได้เลย”

หลวงปู่มั่นได้วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันควรแก่สมณะและประชาชนอย่างกว้างขวาง ด้วยความถึงพร้อมทั้งปฏิบัติ ปริยัติและปฏิเวธเช่นนี้

หลวงปู่มั่นจึงได้รับการยกย่องจากผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาทั้งหลายว่า เป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร และมีผู้ติดตามศึกษาอบรมกับท่านเป็นจำนวนมาก

ทำให้พระป่าสายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกเดือน ทุกปี จนสามารถขยายงานการเผยแผ่ธรรมในภาคอีสานได้อย่างกว้างขวาง จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชนหมู่มากในภาคอีสาน

จึงได้ขนานนามว่าพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือบางท่านก็ยกย่องว่าเป็นอริยสงฆ์

เมื่อมาพิจารณาตามรูปศัพท์คำว่าอริยะ ซึ่งเป็นคำนำหน้าของบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้มีคุณอันเลิศ มีเกียรติประวัติที่ดีงาม สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามในศีล สมาธิ ปัญญา หรือสรรพสิ่งที่ทรงคุณค่าที่มีความสูงค่าหาสรรพสิ่งอื่นเปรียบไม่ได้

เมื่อพิจารณาดูจากภิกษุสงฆ์ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ผ่านมา ได้แก่

1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533

2. ท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549

3. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต) ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 150 ปี วันที่ 20 มกราคม 2563

4. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวาระครบ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464) ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564

จึงอยากเชิญชวนให้พุทธบริษัททั่วไทยได้แสดงประชาปีติร่วมเฉลิมฉลองเกียรติประวัติที่เป็นเกียรติคุณอันสูงส่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มวลมนุษยโลกว่า พระสงฆ์ไทยประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขในตนเองด้วย ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดสันติภาพแก่ประชาชนทั่วโลกด้วย

นี่คือคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นบุคคลผู้ประเสริฐในโลก ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศในโลก ทรงเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จึงเป็นวันสำคัญของโลก