สงครามการค้า : เขตเศรษฐกิจโลก-ดวงจันทร์ แผนเจ้าอวกาศของจีน ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และสงครามเทคโนโลยีควอนตัม

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (27)

เขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์

: แผนเจ้าอวกาศของจีน

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 นายเป๋าเหว่ยหมิน ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งบรรษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศจีน (เป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่ของจีน ติดทำเนียบบรรษัทใหญ่หนึ่งใน 500 ของนิตยสารฟอร์บส์) ได้กล่าวอภิปรายในการสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจอวกาศว่า

จีนควรทำโครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์ให้เป็นจริง โดยมีลำดับการปฏิบัติดังนี้คือ

ก) ส่งยานอวกาศลงสู่ดวงจันทร์และเก็บตัวอย่างกลับมาในปี 2020

ข) ศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะตั้งเขตเศรษฐกิจที่ตรงพื้นที่ใดสำเร็จปี 2030 ซึ่งในขั้นนี้ต้องดำเนินการวิจัยขั้นพื้นฐานบวกกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญจำนวนไม่น้อย

ค) ปี 2040 สร้างระบบการขนส่งโลก-ดวงจันทร์สำเร็จ เป็นเส้นทางขนส่งของเขตเศรษฐกิจนี้

และ ง) สร้างเขตเศรษฐกิจดังกล่าวในปี 2050 คาดว่าเขตเศรษฐกิจอวกาศนี้จะสร้างรายได้ถึงราวปีละ 10 ล้านล้านดอลลาร์ (ดูรายงานข่าวชื่อ China mulls $10 trillions Earth-Moon economic zone ใน globaltimes.com 01/11/2019 และบทความของ Ajey Lele ชื่อ China”s Earth-Moon space economic zone venture ใน thespacereview.com11/11/2019)

กล่าวได้ว่าโครงการเศรษฐกิจอวกาศนี้มีส่วนขับเคลื่อนสำคัญให้ความฝันของชาติจีน ขั้นที่สองให้จีนเป็นชาติสังคมนิยมที่ก้าวหน้ามีวัฒนธรรมสูง ปรากฏเป็นจริง

ความคิดในการสร้างเขตเศรษฐกิจโลก-ดวงจันทร์ก่อรูปในจีน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 โดยในปี 2002 อู๋หยาง ซีหยวน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์โครงการสำรวจดวงจันทร์ ชี้ว่า จีนควรคิดพัฒนาความสามารถในการขุดสกัดทรัพยากรจากดวงจันทร์

“(ซึ่งจะเป็น) แหล่งสนองพลังงานใหม่ขนาดใหญ่หลวง (เช่น การทำเหมืองฮีเลียม-3)…ใครที่พิชิตดวงจันทร์ก่อน จะได้ผลประโยชน์ก่อน”

เป็นที่สังเกตว่าความสำเร็จของจีนที่ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ลงบนดวงจันทร์ในปี 2019 สามารถอธิบายได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขุดสกัดทรัพยากรจากดวงจันทร์ และมีแผนที่จะตั้งฐานวิจัยถาวรบนขั้วจันทร์ใต้ในปี 2036 (ดูบทความของ Namrata Goswami ชื่อ Trump is focused on the China trade war when he should be concerned about space ใน washingtonpost.com 15/11/2019)

ในปี 2016 ชางยูหลิน รองผู้บัญชาการโครงการมนุษย์อวกาศจีนขณะนั้น ได้เสนอแนวคิดเรื่องการสร้างเขตเศรษฐกิจโลก-ดวงจันทร์ อีก 3 ปีต่อมา ก็มีการนำเสนอกำหนดเวลาที่จะทำให้แผนการนี้เป็นจริง

แนวคิดเรื่องการสร้างเขตเศรษฐกิจอวกาศนี้ ไม่ใช่ของจีนเพียงชาติเดียว หากยังเป็นของชาติอื่นด้วย

ที่สำคัญได้แก่ อินเดียที่เป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ มีประชากรมาก เป็นอู่อารยธรรมโบราณ แต่ยากจน มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะก้าวพ้นจากสถานะประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนนี้

ผู้นำการเคลื่อนไหวโดดเด่นที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ ดร.เอ.พี.เจ. อับดุล กลาม (A.P.J. Abdul Kalam 1931-2015) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์อวกาศ ได้สมญาว่าเป็น “บิดาแห่งจรวดอินเดีย” และเป็นที่เคารพรักของชาวอินเดีย ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินเดียระหว่างปี 2002-2007)

ผลงานสำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหวปลุกเร้าชาวอินเดียโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนนักศึกษา ให้ตื่นขึ้นมาสร้างชาติอินเดียให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพราะว่าอินเดียมีความพร้อมในฐานะเป็นสังคมแห่งความรู้มายาวนาน

กลามมีความเห็นว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยการอยู่รอดและการพัฒนาของมนุษย์ การวิจัยทางอวกาศเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของเทคโนโลยีทั้งหลาย

เทคโนโลยีอวกาศจะช่วยสร้างโลกนี้ให้เป็นที่อาศัยอยู่ได้อย่างยั่งยืนสำหรับมนุษย์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตมนุษย์ในโลกแก้ปัญหาประชากรล้นเกิน ความมั่นคงทางพลังงานและน้ำจืด

การใช้ดวงจันทร์เป็นฐานผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ การพยากรณ์อากาศ การจัดการภัยธรรมชาติ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่

ในการประชุมวิทยาศาสตร์อินเดียครั้งที่ 97 ปี 2010 เขาชี้ว่า “นักวิทยาศาสตร์ควรจะได้ตั้งต้นถือว่าโลก ดวงจันทร์ และดาวอังคาร เป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่สำหรับการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในอนาคต” (ดูบทรายงานชื่อ Earth, Moon and Mars as a Single Economic Entity ใน specialdaily.com 08/01/2019 และปาฐกถาของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ชื่อ Space Future in the 21st Century ใน space.nss.org 2013)

จีนเองก็ได้ยกย่องเขาว่าเป็นนักวิชาการ นักคิด และนักกลอน

มหาวิทยาลัยปักกิ่งที่มีชื่อเสียงของจีนได้เชิญเขาเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ไปปาฐกถาชุดว่าด้วยระบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ และการนำแบบสร้างสรรค์ในปี 2014

ขณะที่ ดร.กลามมีเป้าหมายในการสร้างอินเดียให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก จีนต้องการมากกว่านั้น คือการแซงขึ้นหน้าสหรัฐ ดังที่เคยประกาศว่าจะทำให้จีนเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลกในปี 2030

เขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์ที่มีลักษณะเฉพาะของจีน

ลักษณะเฉพาะของจีนในการพัฒนาทางเทคโนโลยีโดยทั่วไป และรวมถึงเทคโนโลยีอวกาศเป็นดังนี้

ก) การรักษาตลาดและโซ่อุปทานของตนให้มีอิสระพึ่งตนเองได้ ไม่ถูกแทรกแซงหรือได้รับผลกระทบจากอิทธิพลภายนอกมากเกินไป นั่นคือวงจรธุรกิจรุ่งเรือง-ซบเซาแบบทุนนิยม และการถูกกีดกันแซงก์ชั่นที่จีนต้องเผชิญด้วยตัวเองหลายครั้ง

เห็นได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงของจีน เช่น คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร จีนได้พยายามที่จะพัฒนาตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือการผลิตแร่ธาตุหายาก การผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ การพัฒนาระบบปฏิบัติการ การสร้างโครงข่ายกลุ่มข้อมูล ไปจนถึงแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ และการครอบครองตลาด

เรียกว่าได้เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เป็นโซ่อุปทานครบวงจร สงครามการค้าที่สหรัฐกระทำต่อจีนเป็นเวลานานกว่าปีครึ่ง

ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของจีนว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเห็นได้ว่าการปฏิบัติสำคัญของสหรัฐได้แก่การตัดโซ่อุปทานไม่ให้จีนได้รับหรือเข้าถึงสินค้าและบริการจากบริษัทสหรัฐประเภท ไมโครโปรเซสเซอร์ ระบบปฏิบัติการ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ

รวมไปถึงการปิดตลาดสหรัฐและพันธมิตรของตนไม่รับสินค้าและบริการจากบริษัทจีน หวังให้การพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย 5 จี ของจีนต้องหยุดชะงักหรือล้มคว่ำลง

ดังนั้น โครงการอวกาศของจีนจำต้องดำเนินอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เพื่อประโยชน์ของจีนเป็นหลัก กระทั่งถึงขั้นแตกหักคือการหย่าขาดจากสหรัฐ และขึ้นมาเป็นผู้นำโดยลำพังตน โดยประสานกับความร่วมมือของมิตรประเทศ และคบค้าร่วมมือกับสหรัฐเท่าที่จำเป็น

ข) การพัฒนาที่มีลักษณะบูรณาการ รวมเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและธุรกิจการตลาด ไปจนถึงการทหารและสังคมเป็นหนึ่งเดียว โดยมีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นองค์นำ

การปฏิบัติเช่นนี้มีข้อดี ได้แก่ ทำให้การพัฒนามีลักษณะค่อนข้างรอบด้านและทั่วถึง และมีพลังมากในการทำให้เป็นจริงในเวลาอันสั้น

เมื่อเทียบนโยบายสหรัฐ มีแนวโน้มแบ่งเป็นส่วนๆ บางทีขัดแย้งกัน เช่น ระหว่างผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจกับกองทัพทางทหาร แต่การปฏิบัติของจีนก็มีจุดอ่อนที่ถ้าหากการนำผิดพลาด หรือเกิดการฉ้อฉลขึ้นก็จะเกิดความเสียหายร้ายแรงแบบยั้งไม่ทัน

กล่าวในด้านการแข่งขันแล้ว ถือได้ว่าจนถึงปัจจุบัน จีนยังสามารถรักษาการนำของตนไว้ได้ ไม่เกิดความผิดพลาดร้ายแรง

สังเกตได้ว่าโครงการที่เป็นแบบบูรณาการของจีนนิยมใช้ธุรกิจการตลาดเป็นตัวนำหน้า เป็นการสร้างตัวแบบการพัฒนาแบบพหุภาคี หลายฝ่ายเข้าร่วมอย่างเสมอภาคหรือตามใจสมัคร เป็นการเล่นเกมแบบชนะ-ชนะ เพื่อเอาชนะ ตัวแบบการพัฒนาชนิดอเมริกาเหนือชาติใด

การปฏิบัติตามอำเภอใจ ที่ก่อความโกลาหลและความไม่แน่นอนอย่างสูงขึ้นในโลก ยุทธศาสตร์การให้ธุรกิจการตลาดนำหน้านี้ สร้างความได้เปรียบสำคัญในการหามิตรของจีนและโดดเดี่ยวสหรัฐ ตัวอย่างโครงการใหญ่ที่จีนได้นำเสนอต่อชาวโลกแล้วได้แก่ แผนริเริ่มแถบและทางหรือเส้นทางสายไหมใหม่

แต่ควรกล่าวเพิ่มให้ครบถ้วนว่า ในระบบธุรกิจที่เป็นอยู่ ผู้ลงทุนมากกว่าย่อมได้ผลตอบแทนมากกว่า ในโครงการทางสายไหมใหม่ มีหลายสิบชาติเข้าร่วม จีนเป็นผู้ลงทุนมากที่สุด ทั้งลงทุนของตนเอง และระดมทุนหรือให้ชาติอื่นกู้ไปลงทุนก่อนก็ย่อมได้ผลประโยชน์มากที่สุด เขตเศรษฐกิจโลก-ดวงจันทร์ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ค) โครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศของจีนเกิดจากสถานการณ์ทั่วไปทางเศรษฐกิจบางประการ นั่นคือเศรษฐกิจอวกาศเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขปี 2018 พบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์

และการแข่งขันเริ่มเข้นข้นมีผู้แสดงมากหน้าหลายตา ทั้งชาติใหญ่น้อยไปจนถึงบรรษัทเอกชน จำต้องประกาศตัวโครงการใหญ่ของตนไว้หาไม่แล้วจีนก็อาจถูกมองข้ามหรือลดความ สำคัญลงไป เหมือนกับสร้างศตวรรษแห่งความอัปยศสำหรับจีนขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังเกิดจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน สาเหตุใหญ่เกิดจากการผลิตล้นเกิน สินค้าล้นโลกไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหนและให้ใคร แหล่งลงทุนใหญ่ที่เหมาะสมก็เหลืออยู่ไม่มาก

โครงการใหญ่ เช่น ทางสายไหมใหม่ที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในไม่ช้าก็ทำจนหมดโครงการ หาที่ลงทุนซึ่งคุ้มทุนยากขึ้นไปทุกที ประชาชนหมดกำลังซื้อ และมีหนี้สินเพิ่มอย่างรวดเร็ว

เหล่านี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สองด้าน

ด้านหนึ่ง ราคาสินค้าและบริการถูกกดต่ำจนแทบไม่มีกำไรและก็ยังหาคนซื้อยาก

อีกด้านหนึ่ง เกิดการเก็งกำไรดันราคาทรัพย์สินทางการเงินมีหุ้นพันธบัตร เป็นต้น

นอกจากนี้ มีอสังหาริมทรัพย์ขึ้นจนสูงเกินความจริง ซึ่งยิ่งขยายช่องว่างทางสังคม

การมีโครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศจึงเป็นเหมือนการต่อยอดโครงการทางสายไหมใหม่ ขณะที่เขตหรือระเบียงเศรษฐกิจในโลกอ่อนล้า ก็สามารถอาศัยเขตเศรษฐกิจอวกาศช่วยต่ออายุไป และหากบังเอิญโชคดี เช่น เกิดการก้าวหน้าใหญ่ทางเทคโนโลยีพลังงาน ก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกก้าวเดินต่อไปได้อีกนานพอสมควร

ในเฉพาะหน้าก็คือช่วยให้จีนรักษาการเป็นแหล่งน่าลงทุนของโลกต่อไป

และถ้าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงหลั่งไหลไปประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง สงครามการค้ากับสหรัฐก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะรับมือ

ง) ลักษณะเฉพาะของโครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศของจีนข้อสุดท้ายก็คือ เป็นการยืนยันนโยบายของจีน ที่ประกาศในระยะหลังว่าต้องการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติอย่างเป็นรูปธรรม

และสามารถทำให้เป็นจริงได้ รวมทั้งสามารถสร้างความเป็นไปได้ในการก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงของเทคโนโลยี จนกระทั่งสร้าง “อุตสาหกรรม 5.0” ขึ้นได้

และหากเป็นเช่นนั้น จีนก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการสร้างอุตสาหกรรมขั้นใหม่นี้ขึ้น ไม่ปล่อยให้สหรัฐและตะวันตกเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ และคุณค่าต่างๆ ตามลำพังดังที่เป็นอยู่

โดยสรุปการสร้างเขตเศรษฐกิจอวกาศจะช่วยให้จีนสามารถทำสงครามการค้ายืดเยื้อกับสหรัฐโดยไม่ประสบความยากลำบากมากเกินไป และยังสร้างความหมายใหม่แก่คำแถลง “การรุ่งเรืองอย่างสันติของจีน” ว่ามันไม่เพียงต้องการให้สหรัฐและตะวันตกเห็นเช่นนั้น แต่ต้องการให้จำต้องยอมรับว่าความจริงว่ามันเป็นเช่นนั้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของจีน และการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอวกาศสหรัฐ-จีน