หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ / “เท่”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
แรดนอเดียว - การทำงานปกป้องอย่างจริงจังของคนทำให้แรดนอเดียวในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ได้ใช้ชีวิตไปตามวิถี ไม่มีแรดที่นี่โดนฆ่าเพื่อเอานอมาหลายปีแล้ว

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เท่”

 

กลางเดือนพฤศจิกายน

SAURAHA เมืองเล็กๆ อันเปรียบเสมือนด่านก่อนเข้าสู่อุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศเนปาล คับคั่งไปด้วยคนทำงานในป่ากว่า 500 คน

พวกเขาเดินทางมาจาก 76 ประเทศทั่วโลก ทั้งคนทำงานในป่า ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ป่า รวมทั้งผู้ทำงานเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่า

มาที่นี่เพื่อร่วมประชุม “ผู้พิทักษ์ป่าโลก ครั้งที่ 9” (World Ranger Congress) ซึ่งจัดโดย International Ranger Federration หรือ IRF

การประชุมจัดทุกๆ 3 ปี 8 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จัดในประเทศแถบ ยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และอเมริกา

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในเอเชีย

“ผมอยากให้ทุกคนทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันนะครับ” Sean Willmore ประธาน IRF พูดในตอนกล่าวต้อนรับ

ผมร่วมมากับทีมของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

หลายประเทศนำงานมานำเสนอ

ในแอฟริกา พวกเขาคล้ายอยู่ในสมรภูมิที่ต้องรบกับคนล่าสัตว์ เสี่ยง และเกิดความสูญเสียเสมอๆ

พวกที่ทำงานในป่าอเมริกาใต้ เล่าเรื่องการทำงานในพื้นที่ยากลำบาก

จากภูฏาน เล่าให้ฟังถึงการทำงานในพื้นที่สูง

สุภาพสตรีจากอินเดียและแอฟริกา เล่าอุปสรรคในความเป็นผู้หญิงทำงานในป่า

Vimbai Anna Kumire จากซิมบับเว เธอมากับครูฝึก ซึ่งอดีตเป็น Sniper ในสงครามที่อิรัก

Vimbai เหมือนกับทุกคนที่นี่ ดูเข้มแข็งและเท่

“สิ่งที่จะช่วยพวกเราได้คือ นับถือและเคารพงานที่เราทำค่ะ” เธอพูดในตอนท้าย

ที่นี่ไม่ใช่เวทีของการพูดถึงปัญหา พวกเขามาเล่าถึงงานที่ทำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์

และทุกคนพูดเหมือนๆ กัน “ภูมิใจที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า”

ว่าตามจริง จากที่พวกเขามานำเสนอ ผมไม่เห็น “ความด้อยกว่า” ของงานพิทักษ์ป่าในประเทศไทย

งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่เกือบทุกประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ดูเหมือนว่าในประเทศไทย “ไปไกล” กว่าเสียด้วยซ้ำ

แน่นอน ความยากลำบาก ทุรกันดารที่เพื่อนๆ จากอเมริกาใต้พูดถึง พวกเขาอาจเปลี่ยนใจหากมาทำงานในป่าด้านตะวันตกของไทยในช่วงฤดูฝน

บางวัน เพื่อนชาวมาไซมาในชุดพื้นเมือง กระโดดขึ้นลงเมื่อเสียงเพลงดัง

เขาทำให้ผมนึกถึงเพื่อนๆ ในป่า ทุกคนมีความเท่ไม่น้อยไปกว่าพิทักษ์ป่าที่มาที่นี่

ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ทุกคนในป่าเรียกเขาว่า “จ่าแท็กซี่”

จ่าแท็กซี่มีชื่อจริงว่า วีรศักดิ์ มาจากที่ไหนไม่มีใครถาม รู้เพียงว่า เขาเคยไปขับแท็กซี่อยู่ในกรุงเทพฯ

การที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ นี่แหละ ทำให้เขามีเรื่องเล่าเยอะ และมักทำท่าอมภูมิว่ารู้มากกว่าบ่อยๆ

จ่าแท็กซี่เป็นลูกจ้างประจำในป่าทุ่งใหญ่

ความรู้มากของเขาทำให้เพื่อนๆ เรียก “จ่า” อย่างให้เกียรติ เช่นเดียวกับผู้โชกโชนเรื่องเดินป่า จะถูกเรียกว่า “อาจารย์”

เขาเป็นหนึ่งในลูกจ้างเขตที่เรียกได้ว่า “ชนกลุ่มน้อย” เพราะกว่า 90% ของคนที่นี่ มีเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย

“เมียจ่าเขาเป็นกะเหรี่ยงนอก” อดิเทพคู่หูผมเล่า เขาหมายถึงเมียจ่าเป็นคนมาจากประเทศพม่า

“พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก จ่าได้เขาตั้งแต่อายุ 17 พออายุ 22 เขาก็ทิ้งจ่าไปมีผัวใหม่ แต่ก็มีลูกด้วยกันสองคน เมียเอาลูกไปอยู่เมืองนอกด้วย” อดิเทพรู้รายละเอียดชีวิตครอบครัวเพื่อนดีมาก

การไปเมืองนอกของพวกเขา ไม่ยาก แค่เดินไปไม่กี่ร้อยเมตรก็ข้ามชายแดนแล้ว

สำหรับพวกเขา พรมแดนไม่ใช่สิ่งกั้นขวางความสัมพันธ์

“ถ้าเราเป็นเมียจ่าก็ไม่เอาเหมือนกัน จ่าไม่เคยให้เงินใช้เลย พอเขาขอก็ว่า จะเอาเงินหรือจะเอาผัว พูดแบบนี้ใช้ได้ที่ไหน เป็นผู้ชายอย่างนี้ใช้ไม่ได้” อดิเทพเคร่งครัดกับการเป็นสามีที่เคารพภรรยา

เขามีลูกชายหลายคน ทุกคนมีครอบครัวแล้ว

ทุกครั้งที่ลูกชาย ลูกสะใภ้ ทะเลาะกัน เขาจะเรียกลูกชายมาด่า

“เป็นผู้ชายทะเลาะกับเมียไม่ได้ ต้องฟังเขา ลูกๆ เคยเห็นพ่อเถียงแม่ไหม ไม่เคยเลย ถึงพ่อจะดื้อๆ กับคนอื่นๆ บ้าง แต่ถ้าแม่ด่าต้องฟัง”

นับว่าคู่หูผมคนนี้เท่ และเป็นผู้ชายที่น่านับถือไม่น้อย

จ่าแท็กซี่กลายเป็นผู้ชายเจ้าน้ำตาตั้งแต่เมียสาวพาลูกแยกทางไป

กินเหล้ามากขึ้น เมาและพร่ำพรรณนาถึงลูก

“ตอนเขาอยู่ ทำไม่ดี มาเสียใจตอนนี้ไม่มีประโยชน์” อดิเทพแนะนำ

ผมเรียบเรียงประโยคที่อดิเทพพูดใหม่เป็นภาษาไทย

เขาเป็นครูสอนภาษากะเหรี่ยงให้ ผมสอนภาษาไทยแบบชัดๆ ตอบแทน

อยู่หน่วย หรือไปในหมู่บ้าน คนเห็นจ่าแท็กซี่เมาเจ้าน้ำตา

แต่ขณะทำงาน เขาเป็นอีกคนหนึ่ง

“จ่าไม่กินเหล้าตอนลาดตระเวนครับ ข้าวปลาก็กินน้อย บ่ายๆ กินกาแฟเท่านั้น”

เขาจริงจังกับงาน และร่ำไห้ทุกครั้งที่เจอซากสัตว์ป่าตายเพราะคมกระสุน

หลายครั้งผมเห็นเขาตอนเพิ่งกลับจากป่า ชุดลายพรางขะมุกขะมอม ผ้าโผกหัวสีดำชุ่มเหงื่อ

ผม “เห็น” ผู้ชายที่เท่มากคนหนึ่ง

คนทำงานในป่าจากทั่วโลกมาพบกัน

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทุกคนรู้ดีว่า สัตว์ป่าในทุกมุมโลก กำลังพบกับปัญหาเดียวกัน

เป็นเป้าหมายของการฆ่าเพื่อเอาอวัยวะ

และแหล่งอาศัยถูกคุกคาม

คนทำงานในป่า ทำงานไม่ง่ายหรอก จ่าแท็กซี่กับ Vimbai ทำงานเรื่องเดียวกัน นอแรด หรืองาช้าง จากซิมบับเว อาจเดินทางมาถึงไทยก่อนไปปลายทาง

จุดหมายเดียวกับซากเสือโคร่งจากป่าตะวันตกของไทย

ผู้ชายเจ้าน้ำตา พร่ำพรรณนาถึงลูกและเมียที่ทิ้งไป

แต่งานที่เขาตั้งใจทำ ช่วยให้เห็นความเท่

“เท่” ในแบบที่เขาเป็น

และผมนับถือในงานที่พวกเขาทำ