สุจิตต์ วงษ์เทศ / พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ควบคุมลำตะคอง เมืองเสมา สูงเนิน นครราชสีมา

ปราสาทเมืองเก่า [ผังจำลอง] “สุคตาลัย” พุทธสถานมหายานประจำ “อโรคยศาล” ของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 อาณาจักรกัมพูชา ราวเรือน พ.ศ. 1700 ปัจจุบันอยู่ติดบริเวณวัดปรางค์เมืองเก่า บ้านเมืองเก่า ต. โคราช อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา สุคตาลัย หมายถึง ที่ประทับของพระพุทธเจ้า คือพระไภษัชยคุรุ [พระพุทธเจ้าแพทย์ ตามคติพุทธศาสนามหายาน] อโรคยศาล หมายถึง ศาลาไร้โรค เป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยเครื่องสมุนไพรใช้ถูทาและบีบนวด [กายภาพบำบัด] ส่วนศาลาบำบัดทำด้วยไม้ อยู่นอกกำแพงสุคตาลัย แต่ผุพังหมดไม่เหลือซาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ควบคุมลำตะคอง เมืองเสมา สูงเนิน นครราชสีมา

 

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธมหายาน แผ่บารมีทางศาสนา-การเมืองถึงลุ่มน้ำมูล ย่านลําตะคอง บริเวณเมืองเสมา แล้วสร้าง “อโรคยศาล” ราวหลัง พ.ศ.1700 ทุกวันนี้เรียกปราสาทเมืองเก่า [อยู่บ้านเมืองเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา]

ปราสาทเมืองเก่า เป็นพื้นที่ส่วนขยายของเมืองเสมา [จนาศะปุระ] จากคลองขวางถึงลำตะคอง บนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน แสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งด้านการค้าและการเมืองกับเมืองพระนครหลวง [นครธม] ในกัมพูชา แล้วกระชับเป็นเครือญาติสนิทต่อไปข้างหน้าซึ่งเป็นที่รู้ทั่วไปในนาม “เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง ราวหลัง พ.ศ.1800

เครือข่ายเครือญาติกัมพูชา สมัยจีนเริ่มค้าสำเภา

ก่อนที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 แผ่บารมีถึงเมืองเสมา พระเจ้าชัยวรรมันที่ 5 แผ่อํานาจทางศาสนา-การเมืองก่อนแล้วถึงลุ่มน้ำมูล แล้วสร้างเครือข่ายการค้า-การเมืองเข้าถึงลําตะคอง สมัยจีนเริ่มค้าสำเภาถึงอ่าวไทยระหว่าง พ.ศ.1400-1500

โดยสถาปนาเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปะปนกับวัดพุทธ เช่น ปราสาทบ่ออีกา แล้วขยายออกไปถึงปราสาทเมืองแขก, ปราสาทโนนกู่

สำเภาจีน

จีนเริ่มแต่งสำเภาออกค้าขายด้วยตนเองทางทะเลสมุทรถึงอ่าวไทย เพราะถูกกระตุ้นจากการค้าโลกสมัยแรกขยายกว้างขวาง [สืบเนื่องจาก พ.ศ.1000]

รัฐกัมพูชาเริ่มแผ่อำนาจโดยสร้างเครือข่ายทางเครือญาติ [ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปในนาม “วัฒนธรรมขอม”] เพื่อเข้าควบคุมเส้นทางการค้าบริเวณลุ่มน้ำมูลและชี เป็นต้นทางรวบรวมทรัพยากรส่งค้าขายกับนานาชาติ

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 5 [เสวยราชย์ พ.ศ.1511-1544] แผ่อำนาจถึงลุ่มน้ำมูลที่เมืองเสมา สถาปนาเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปะปนทับซ้อนกับพุทธสถานในศาสนาพุทธ ได้แก่ ปราสาทบ่ออีกา [อยู่กลางเมืองเสมา] แล้วขยายพื้นที่ออกไปถึงลำตะคอง ได้แก่ ปราสาทเมืองแขก, ปราสาทโนนกู่ [บริเวณนี้ไม่ใช่อีกเมืองหนึ่งต่างหากตามที่เคยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นเมือง “โฆราคะปุระ”]

เมืองเสมา [จนาศะปุระ] มีความสำคัญต่อการควบคุมเส้นทางการค้าลุ่มน้ำมูล, ชี ทำให้พระเจ้าชัยวรรมันที่ 5 ต้องโปรดให้ “พราหมณ์ยัญชวราหะ” ไปเมืองเสมาเพื่อสถาปนากระชับความสัมพันธ์เครือข่ายเครือญาติเป็นพิเศษ เสมอด้วยบ้านเมืองเครือญาติใกล้ชิดอื่นๆ ได้แก่ เมืองพิมาย, เมืองพนมรุ้ง

“พราหมณ์ยัญชวราหะ” เป็นมหาพราหมณ์ในราชสำนักพระเจ้าชัยวรรมันที่ 5 ต่อมาได้รับยกย่องเป็นเจ้า [ภาษาเขมรว่า “กมรเตง อัญ”]

[สรุปจากบทความเรื่อง “จารึกหลักใหม่จากพนมรุ้ง : ภาพสะท้อนอำนาจพราหมณ์ยัญชวราหะ” โดย ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นพยานว่าเมืองเสมามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าและการเมืองของอาณาจักรกัมพูชา จึงผลักดันต่อไปข้างหน้าให้เมืองเสมาถูกเรียกว่า “เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง และเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา

ชาวสยาม ลุ่มน้ำโขง

ช่วงเวลาเดียวกัน บริเวณลุ่มน้ำโขง [ตอนบน] ภาษาไทย (ไต-ไท) มีบทบาทสำคัญมากเป็นภาษากลางทางการค้า โดยดูจากความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคนภายนอกเรียก “ชาวสยาม” มีศูนย์กลางอยู่เมืองเวียงจัน [เอกสารจีนเรียก เหวินตาน]

ชาวสยาม เป็นคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” มีจำนวนมากอยู่สองฝั่งโขง พูดต่างภาษา ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู, ม้ง (แม้ว), เมี่ยน (เย้า), จีน, ทิเบต, พม่า เป็นต้น แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสื่อสารต่อกันในตลาดการค้า

ภาษาไทย มีรากจากภาษาตระกูลไต-ไท แหล่งเก่าสุดอยู่มณฑลกวางสีต่อเนื่องเวียดนามภาคเหนือ ต่อมาแผ่กว้างขวางตามเส้นทางการค้า

เสียมกุก [อ่าน เสียมกก หมายถึง เสียมก๊ก คือ สยามก๊ก] ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เมื่อเรือน พ.ศ.1650 ในพิธีถือน้ำพระพัท เป็นขบวนเกียรติยศของชาวสยาม ซึ่งเป็นเครือข่ายเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา คือหลักฐานสำคัญแสดงว่าชาวสยามและภาษาไทยเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในราชสำนักกัมพูชา

……………………………………………………………………………………………………………………………………………..

 

ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า เป็นจารึกประจำ “สุคตาลัย” ศาสนสถานอโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ภาพจากรายงานการขุดแต่งปราสาทหินเมืองเก่าฯ หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากร พ.ศ.2533)

จารึกปราสาทเมืองเก่า พบเมื่อ พ.ศ.2533 จนถึงขณะนี้ พ.ศ.2562 ยังไม่มีผู้อ่านและแปลเป็นภาษาไทย [ขณะนี้จารึกถูกรักษาไว้ในห้องเก็บโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ จ.นครราชสีมา]

จารึกอโรคยศาล พบหลายหลักในอีสาน มีข้อความถ้อยคำเหมือนกันเกือบทุกหลัก ต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย โดยมีลำดับดังนี้

1. บทนมัสการพระพุทธเจ้าตรีกาย ได้แก่ พระธรรมกาย พระนิรมาณกาย และพระสัมโภคกาย

2. คุณสมบัติพระโพธิสัตว์ พระไภษัชยคุรุ, พระโพธิสัตว์สูรยไวโรจนะ และพระโพธิสัตว์จันทรไวโรจนะ ว่าผู้ป่วยเพียงเอ่ยนามของพระองค์ก็หายจากโรคภัยได้

3. สรรเสริญพระเกียรติ พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ปราบปรามโรคระบาดด้วยการระดมหมอผู้เชี่ยวชาญในการใช้ยา เช่นเดียวกับกองทัพที่ต้องใช้ทหารปราบข้าศึก พระองค์จึงสร้างอโรคยศาลและสุคตาลัย ประดิษฐานพระไภษัชยคุรุ และพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยของประชาชน จากการศึกสงคราม และโรคระบาด โดยเปรียบเทียบว่าเป็นกลียุค ที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ได้เป็นผู้มาปราบยุคเข็ญ

4. จำนวนเจ้าหน้าที่ ในอโรคยศาล เช่น หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต้มยา เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ โหราจารย์ ฯลฯ ซึ่งจะมีจำนวนแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง โดยน่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของอโรคยศาล ที่สัมพันธ์อยู่กับความสำคัญของพื้นที่อีกทอดหนึ่ง

5. เครื่องบำบัด รายชื่อสมุนไพร เครื่องยา เครื่องใช้ และสิ่งของต่างๆ ที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 พระราชทานให้ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในจารึกแต่ละหลัก ตามแต่ความสำคัญของแต่ละอโรคยศาลเช่นกัน