สมหมาย ปาริจฉัตต์ : บ้านแห่งการบ่มเพาะ หนูสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เด็กพิการ 9 ประเภท

กลุ่มที่สอง เด็กด้อยโอกาส 11 ประเภท

แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ผมรายงานไปแล้วตั้งแต่เปิดฉากตอนแรก

มีคำถามว่า เด็กนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ ทั่วประเทศมีเท่าไหร่ กล่าวเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตัวเลขเป็นไปตามตารางที่นำมาเสนอนี่แหละครับ

นอกจากนี้ ยังมีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอื่นอีก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข กับที่องค์กรการกุศลของภาคเอกชนหลายแห่งจัดการศึกษาและดูแลอยู่

การจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการและด้อยโอกาสเหล่านี้ นอกจากมีโรงเรียนเฉพาะทางของคนพิการแต่ละประเภทแล้ว นักเรียนพิการที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติในโรงเรียนทั่วไปมีจำนวนมากที่สุด กระจายอยู่ใน 24,020 โรง

สพฐ.ยังมีศูนย์การศึกษาพิเศษซึ่งจัดว่าเป็นสถานศึกษาเช่นเดียวกัน จัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมคนพิการทุกประเภท

 

ปัจจุบันมีศูนย์การศึกษาพิเศษระดับเขตการศึกษา 12 แห่ง ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง 1 แห่ง ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด 64 แห่ง มีนักเรียนพิการในศูนย์การศึกษาพิเศษ 25,936 คน

ส่วนครูการศึกษาพิเศษมีทั้งสิ้น 7,667 คน และพี่เลี้ยงเด็กพิการมี 9,394 คน

การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กพิเศษต้องได้รับบริการ ทั้งทางการศึกษา สังคม และสาธารณสุข เช่นเดียวกับคนปกติ

โดยมีบทบัญญัติทางกฎหมายและข้อตกลงต่างๆ รองรับ ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 10 วรรคสอง ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดยให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 มาตรา 5(1) คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา

นอกจากนี้ ยังได้รับการคุ้มครองจากข้อตกลงระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับสากล ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการด้านการศึกษา ปราศจากการเลือกปฏิบัติและบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน ไม่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาทั่วไป หรือเรียนร่วมในระดับการศึกษาภาคบังคับและเรียนฟรี

แผนแม่บท Asean 2568 การไม่เลือกปฏิบัติ การมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างเต็มเปี่ยมและมีประสิทธิภาพ การเคารพความแตกต่างและการยอมรับคนพิการว่าเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายของมนุษย์และมนุษยชาติ ความเสมอภาคของโอกาส

โดยกลไกที่มีหน้าที่ดูแลการให้บริการการศึกษากับคนพิเศษคือ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติให้ทุกองค์กรที่ดูแลคนพิการและคนด้อยโอกาสบูรณาการข้อมูลร่วมกันรวมทั้งภาคเอกชน

การจัดการศึกษาเพื่อคนพิเศษ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู พี่เลี้ยง และผู้เกี่ยวข้อง หนักและเหนื่อยอย่างไร พวกเขาล้วนยินดี ภูมิใจในการทำหน้าที่

ความคิด ความรู้สึก ถ่ายทอดออกมาจากใจผู้บริหาร ครู และเด็กนักเรียนที่เราได้ยินจาก 4 โรงเรียนในเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างให้ได้รับรู้ว่า ที่อื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน

นักการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิเศษพร้อมทำหน้าที่ต่อไป ด้วยความสุขจากความเสียสละเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ทั้งนายสุมน มอนไข่ ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ นางสุวิชญา ชินธนาชูกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 อ.แม่อาย นางวิลาวัลย์ ปาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อ.แม่แจ่ม และนายนัษฐภัทร ไกรงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

“นอกจากการเรียนการสอนด้านวิชาการ วิชาสามัญ วิชาชีพแล้ว สิ่งที่ทุกโรงเรียนทำก็คือ กิจกรรมสร้างทักษะชีวิต 8 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสร้างเสริมสุขนิสัย กิจกรรมส่งเสริมสมรรถนะทางร่างกาย กิจกรรมหลักโภชนาการร กิจกรรมหลักไตรรงค์ กิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมสร้างเสริมภาวะผู้นำ กิจกรรมส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น กิจกรรมพัฒนาสุนทรียภาพ”

ภาพกิจกรรมแต่ละประเภทฉายขึ้นจอวีดิทัศน์หน้าเวที นำเสนอโดยพิธีกร นักเรียนหญิงชนเผ่า เธอเล่าว่า กิจกรรมหลักไตรรงค์ เป็นวิตามินเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

“โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่แจ่ม บ้าน รปค.31 บ้านแห่งการบ่มเพาะ คือโอกาส คือทุกสิ่งทุกอย่าง หนูสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี กลับมาพัฒนาบ้าน รปค.31 ให้ก้าวหน้าต่อไป”

ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาวเล่าว่า ยังมีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก นักเรียนจากโรงเรียนประถมทั่วไปมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อยู่แล้วจะย้ายมาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ช่วงกลางเทอม ทำให้ผลการทดสอบเราต่ำ แต่เราไม่อาจปฏิเสธการรับเด็กได้

“โรงเรียนยังมีปัญหานักเรียนไม่มีเลข 13 หลัก 187 คน งบฯ สนับสนุนจัดการทวิศึกษาน้อย กิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ โรงเรียนทำร้านกาแฟเชียงดาว อร่อย มีชื่อ ราคาหลักสิบแต่ทิวทัศน์หลักล้าน ชิมกาแฟไปชมวิวไป มองเห็นทั้งอำเภอเชียงดาว ติดเชียงราย ชายแดนพม่า”

“ถึงแม้ครูต้องทำงานเอกสารมากจนกระทบการเรียนการสอน แต่ก็ทำกิจกรรมพาน้ำกลับบ้าน ถือหลัก ตื่นก่อน นอนทีหลัง รักลูกเขาเหมือนลูกเรา”

ผู้อำนวยการนักสู้จากอู่ทอง แดนสุพรรณ ผันตัวไปเป็นครูอยู่บนดอย กล่าวทิ้งท้าย

 

ก่อน รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.แย้มว่า กรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภากำลังพิจารณาจัดทำมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะแยกออกมาต่างหาก เพราะมีความต่าง ความยากลำบาก มีลักษณะเฉพาะ

เป็นข่าวดีสำหรับครู นักการศึกษาพิเศษ ทำให้มีขวัญ กำลังใจ มีพลังทำงานเพื่อคนพิเศษต่อไป

ส่วนจะมีผลในทางปฏิบัติจริงเมื่อไหร่

ต้องติดตาม