ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : รัฐธรรมนูญไทย ในประวัติศาสตร์พิสดาร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลายท่านคงจะทราบดีว่า ที่ไทยเราถือเอาวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ ก็เพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 นั้น ได้ทำให้นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกขึ้น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ของปีเดียวกันนั้นเอง

แต่ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ใช้ คณะราษฎรก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือแค่เพียง 3 วันนับจากที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

และก็แสดงให้เห็นด้วยว่า คณะราษฎรคงจะได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไว้ ตั้งแต่ก่อนจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างทันควัน

แต่เรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ในสยามประเทศไทยนั้น ไม่ได้เพิ่งจะมาเริ่มมีคนพูดถึงเอาในหมู่คนหนุ่มเหน้าเมื่อครั้งนั้นอย่างกลุ่มคณะราษฎร หรือเมื่อแค่ พ.ศ.2475 เท่านั้นหรอกนะครับ ที่จริงแล้วยังมีประวัติให้สืบสาวเก่าแก่ขึ้นไปได้อีกหลายสิบปีเลยทีเดียว

 

ในหนังสือฉบับเล็กกะทัดรัด แต่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและมุมมองที่น่าสนใจอย่าง “จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา : ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่” ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (จัดพิมพ์โดยมูลนิธิ 14 ตุลา) ได้ตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้น ผูกโยงการเรียกร้องประชาธิปไตยในรุ่นต่อๆ มาไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภามหาโหด 35 (เราไม่ควรเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า พฤษภาทมิฬ เพราะเป็นการเหยียดชนชาติทมิฬ) รวมถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ต่างๆ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้

เช่นเดียวกับที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้นก็ผูกพันอยู่กับการเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีมาก่อนหน้า

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ กรณี “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103” ซึ่งมีบรรดาเจ้าและขุนนางสิริรวม 11 ราย ที่ประจำอยู่ ณ กรุงลอนดอน และนครปารีส นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงนำถวายต่อรัชกาลที่ 5 เมื่อเรือน พ.ศ.2428

ประเด็นสำคัญในคำกราบบังคมทูลที่ว่านี่ก็คือ ขอให้ทรงดำเนินการปกครองสยาม “ตามทางญี่ปุ่นที่ให้เดินทางยุโรปมาแล้ว” โดยมีระบอบที่ “เรียกว่าคอนสติติวชั่นแนลโมนากี ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ในยุโรป ที่มิต้องทรงราชการเอง” และมี “คาบิเน็ต” (คณะเสนาบดี/รัฐมนตรี)

 

แน่นอนว่าคำกราบบังคมทูลของกลุ่มยังบลัด (ผู้นำกลุ่มอย่าง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ณ ขณะจิตนั้น เพิ่งจะมีพระชนม์เพียงแค่ 33 พรรษาเท่านั้น) ไม่ก่อให้เกิดการปกครองระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่จะไม่ทรงมีบทบาททางการเมือง และจะทรงอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ขึ้นในประเทศสยาม

(ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงลาออกจากราชการในอีก 6 ปีต่อมา คือใน พ.ศ.2433 แล้วไปบวชเป็นพระสงฆ์อยู่ที่เกาะศรีลังกานาน 14 ปี ก่อนที่จะกลับเข้ามาครองเพศฆราวาสอีกครั้งในสยาม หลังรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์)

แต่เหตุการณ์ข้างต้นก็ยังไม่ใช่หลักฐานของการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญครั้งแรกสุดในสยามประเทศไทยนะครับ เพราะหลักฐานเก่าสุดที่เหลืออยู่มีอายุไปถึงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 4 โน่นเลย

หนังสือ (พิมพ์) จดหมายเหตุ The Bangkok Recorder ที่มีหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) นายแพทย์อเมริกันชน ควบตำแหน่งมิชชันนารีเผยแผ่คริสต์ศาสนา และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายปักษ์เล่มดังกล่าว ได้ลงตีพิมพ์บทแปลรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ฉบับประจำวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2408 เป็นเวลาต่อเนื่องติดต่อกันถึงสองเดือน

หมอบรัดเลย์ได้เกริ่นนำถึงบทแปลนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้ทำให้เห็นถึงความเข้าใจถึงอะไรที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” หรือการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ของชาวสยาม (โดยเฉพาะชนชั้นสูงชาวสยาม) ในยุคนั้นอย่างชัดเจน ดังนี้

“กระษัตริย์ เมืองยูในติศเทศ

คนที่ดูในหัวข้อนี้ก็คงจะถามว่า, เมืองยูในติศเทศมีกระษัตริย์ฤๅ, ได้ยินข่าวเปนความปะรำปะราว่ามาว่า, ไม่มีกระษัตริย์, มีแต่เปรศซิเดนต์ที่ฝูงราษฎรจัดเลือกตั้งขึ้นไว้, ให้เปนเจ้าเมืองสี่ปี, เมื่อครบแล้วก็จัดเลือกใหม่, เข้าใจดั่งนั้น ก็ถูกบ้างผิดบ้าง แต่เมืองยูในติศเทศ ไม่มีคนเปนกระษัตริย์ก็จริง, มีแต่กอนสติติวชัน คือ กดหมายอย่างหนึ่งสั้นๆ เปนแบบอย่างสำรับจะให้เจ้าเมืองรักษาตัว และรักษาเมืองตามกดหมายนั้น…ให้บทกอนสติติวชัน ตั้งไว้เปนต่างกระษัตริย์ ถ้าแม้นเปรศสิเดนต์จะหักทำลายกอนสติติวชันเมื่อใด ก็คงจะเปนโทษใหญ่ เมื่อนั้น ถ้าหัวเมืองใดๆ เอาใจออกห่างจากกอนสติติวชันนั้น ก็จัดถือได้ว่าเป็นขบถ. ฝูงราษฎรหัวเมืองทั้งปวงนั้นเปนผู้จัดเลือกตั้งบทกอนสติติวชัน ขึ้นเปนใหญ่แทนกระษัตริย์. แลราษฎรทั้งปวงได้คนตั้งเปนเปรศสิเดนต์, สำรับจะป้องกันรักษาบทกอนสติติวชันให้มั่นคง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

จะเห็นได้ว่าจากข้อความที่คัดมาข้างต้นนั้น หมอบรัดเลย์ต้องใช้คำทับศัพท์อยู่หลายคำ เพราะยังไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทย ซึ่ง อ.ชาญวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพราะเรื่องเหล่านี้ยังใหม่อยู่มากในสังคมไทยสมัยนั้น

และยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่ อ.ชาญวิทย์ได้ชวนให้เราขบคิดก็คือ หนังสือพิมพ์จดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์นั้น มีผู้สมัครเป็นสมาชิกทั้งเจ้า ขุนนางระดับสูง (ทั้งในพระนคร และที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่) คหบดี ชาวต่างชาติ ฯลฯ รวม 105 คน โดยมีสมาชิกคนสำคัญอย่างรัชกาลที่ 4, สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ, เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ต่อมาคือ รัชกาลที่ 5) และหม่อมราโชทัย เป็นต้น

ดังนั้น ความคิดเรื่องระบอบการปกครองอย่างประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญ และอะไรอื่นที่แปลกใหม่สำหรับชาวสยามเมื่อครั้งนั้น ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกนักเรียนนอกในยุครัชกาลที่ 5 เพิ่งนำเข้ามาจากโลกตะวันตก อย่างที่มักจะอธิบายกันหรอกนะครับ แต่เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำความเข้าใจกันมาแล้วตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ 4 แล้ว (แม้อาจจะจำกัดอยู่เพียงแค่ในหมู่วงสังคมชั้นสูงเท่านั้น) ต่างหาก

 

ประวัติศาสตร์ของกำเนิดรัฐธรรมนูญในสยาม จึงเป็น “ประวัติศาสตร์ยาว” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “long history” แต่ อ.ชาญวิทย์เลือกที่จะใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์พิสดาร” มากกว่า ซึ่งจะเป็นเพราะอะไรอาจารย์ท่านไม่ได้บอกไว้ในหนังสือเล่มนี้ มากกว่าที่จะเป็น “ประวัติศาสตร์เฉพาะ” (eventual history, หรือที่ อ.ชาญวิทย์บอกว่าเรียกประวัติศาสตร์อีเวนต์ก็ไม่ผิด) ที่ใช้ศึกษาเหตุการณ์เป็นการจำเพาะเจาะจง เป็นระยะสั้นๆ

การเกิดของรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม เมื่อ พ.ศ.2475 ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกนึกคิดของคณะราษฎรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผ่านกระบวนการสั่งสมทางสังคมมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 จนผลิดอกออกผลเป็นคำกราบบังคมทูลของกลุ่มพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในยุครัชกาลที่ 5

เหตุการณ์ “กบฏ ร.ศ.130” หรือกบฏหมอเหล็ง ที่นำโดยขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ที่ไปไกลถึงขั้นต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ เมื่อ พ.ศ.2455 ในสมัยของรัชกาลที่ 6

ทำให้เกิดนักคิดนักเขียนสามัญชนอย่าง “เทียนวรรณ” (พ.ศ.2385-2458) ที่เรียกร้องระบอบประชาธิปไตย โดยมีชีวิตอยู่ถึง 3 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 6

แต่รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยามประเทศไทย ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยอยู่นั่นเอง เพราะเรามีรัฐธรรมนูญถาวรนับรวมมาจนทุกวันนี้ได้ทั้งสิ้นถึง 19 ฉบับ (จะมีสิ่งของที่ถูกทำขึ้นมาใช้ถาวรอะไรบ้าง ที่ถูกเปลี่ยนทิ้ง เปลี่ยนขว้างบ่อยขนาดนี้?)

ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของไทยจึงเป็นประวัติศาสตร์ยาว และก็เป็นประวัติศาสตร์พิสดาร อย่างที่ อ.ชาญวิทย์เรียกจริงๆ นั่นแหละครับ