วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ก่อนจะมาถึง พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2476

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ก่อนจะมาถึง พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2476

 

ทําไมผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์จึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพทั้งในชีวิตประจำวัน ความเป็นหนังสือพิมพ์

คนหนังสือพิมพ์ มานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ บันทึกเรื่อง “กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์” ไว้ในหนังสือ “คำอธิบาย พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พุทธศักราช 2550” ดังนี้

นับแต่นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ แพทย์ชาวอเมริกาที่รู้จักในนาม “หมอบรัดเลย์” ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกขึ้นในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภาษาไทยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2387 ชื่อ “หนังสือจดหมายเหตุ” (Bangkok Recorder) เพื่อเสนอข่าวสารและข้อมูลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นการบอกเล่าข่าว และมีการเสนอความคิดเห็นลงไปในข่าวด้วย

การทำงานของหมอบรัดเลย์ ทำงานคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีผู้สื่อข่าว จึงต้องใช้วิธีฟังข่าวจากที่ต่างๆ กัน เป็นเรื่องจริงบ้าง ข่าวลือบ้าง บัตรสนเท่ห์บ้าง บ้างก็แกล้งกันโดยเขียนมาฟ้องให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์—ประกาศดังกล่าวอาจนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่อำนาจรัฐได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์

นั้นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยซึ่งมีวิวัฒนาการต่อมาที่เจ้านายและสามัญคนไทยออกหนังสือพิมพ์เป็นรายปักษ์ รายสัปดาห์ และรายวัน ทั้งยังเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีบทแสดงความคิดเห็น มีการถกเถียงในหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่างหนังสือพิมพ์ด้วยกัน

รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมาควบคุม ตราขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสิอพิมพ์ พระพุทธศักราช 2464

 

กฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเน้นไปที่โรงพิมพ์โดยการควบคุมแท่นหรือเครื่องพิมพ์ ต้องขออนุญาตต่อสมุหเทศาภิบาล ซึ่งมีอำนาจถอนใบอนุญาตได้ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว

ขณะเดียวกันด้านการออกหนังสือพิมพ์ต้องแจ้งรายละเอียดการออกหนังสือพิมพ์ สำนักงาน โรงพิมพ์ และบรรณาธิการต่อเจ้าพนักงานกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ก่อนจะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์พระพุทธศักราช 2465 รัฐบาลได้ใช้กลไกด้านกฎหมายอื่นที่มีผลบังคับใช้อยู่เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่อีกหลายฉบับ อาทิ กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ทั้งยังได้นำกฎหมายด้านความมั่นคงมาใช้ในอีกหลายฉบับ อาทิ กฎหมายโปลิศ ประมวลกฎหมายอาญาทหาร พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 เริ่มประกาศใช้คราวสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชบัญญัติจัดการตรวจข่าวทหารก่อนการโฆษณา พ.ศ.2460

การบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปจัดการกับหนังสือพิมพ์ “วายาโม” กลางปี 2466 มีผลทำให้นายสถิตย์ เสมานิล บรรณาธิการ และเจ้าของ (ในนาม) เอวี ซูฟวาลี คนในบังคับอังกฤษต้องถูกจำคุกประเดิมพระราชบัญญัติฉบับนี้

ต่อมามีการถอนใบอนุญาตโรงพิมพ์และฟ้องร้องบรรณาธิการอีกมากราย

 

5ปีต่อมา รัฐบาลออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 ขึ้นแทนกฎหมายเดิมเพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น แต่ทว่าหนังสือพิมพ์ต่อมากลับมีเนื้อหาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบการปกครองประชาธิปไตย (บทความของ “ศรทอง” นามแฝงของพระยาศราภัยพิพัฒน์ ชื่อ “ชีวิตใหม่ของประเทศ”)

เชื่อกันว่าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมีบทบาทอันสำคัญในการปูพื้นฐานความคิดประชาธิปไตย และมีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เรียกว่า “การอภิวัฒน์” เป็นไปด้วยความราบรื่นอยู่ไม่น้อย

นอกจากนั้น ยังห้ามมิให้ลงข่าวต่างประเทศที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ห้ามข้าราชการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์

มีข้อที่น่าสังเกตว่าตลอดสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีหนังสือพิมพ์ถูกปิดเพียงฉบับเดียว คือหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ซึ่งลงตีพิมพ์บทความค่อนข้างรุนแรงเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง

แต่ภายหลังที่เจ้าของ (นายมานิต วสุรัต) ได้ไปทำความเข้าใจกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว หนังสือพิมพ์นั้นก็เปิดได้ใหม่ภายในเวลาไม่นานนัก

 

หลังการ “อภิวัฒน์” ได้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนิยมกษัตริย์ซึ่งเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง อีกฝ่ายหนึ่งนิยมระบอบใหม่

พ.ศ.2476 รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับส่งต้นฉบับตัวเรื่องไปให้ “กองตรวจข่าว” ของสภาแห่งชาติตรวจสอบก่อน แต่ทำได้เพียง 2 สัปดาห์ก็เลิก เพราะหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เสมือนหนึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้สถาปนาระบอบใหม่ให้มั่นคงเสียก่อน

แต่ความวิตกกังวลต่อสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลกลับมีเพิ่มมากขึ้น เกรงว่าจะมีการช่วงชิงอำนาจและหวาดระแวงการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจ

มูลเหตุดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมหนังสือพิมพ์ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยได้ออกประกาศใช้พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475 อันมีสาระสำคัญคือ การลงข่าวราชการทหารและข่าวต่างประเทศจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเท่านั้น

กฎหมายฉบับใหม่ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านในหนังสือพิมพ์อย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะมีบทลงโทษในการถอนใบอนุญาตและปิดโรงพิมพ์ มีการตรวจข่าวก่อนลงพิมพ์ หรือเซ็นเซอร์

ข้อคัดค้านที่สำคัญของฝ่ายหนังสือพิมพ์คือ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น อำนาจการควบคุมหนังสือพิมพ์เป็นของศาลยุติธรรม แต่เมื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว อำนาจดังกล่าวมาอยู่กับตำรวจในฐานะเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์

มีสถิติแสดงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2475 ถึงเดือนตุลาคม 2476 มีหนังสือพิมพ์ไทยถูกลงโทษถึง 28 ราย ต่อมาจึงมี “พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 ขึ้นมาแทนกฎหมายเดิม มีสาระสำคัญเพิ่มเติมในการกำหนดวุฒิของบรรณาธิการ จากนั้นมีการปิดหนังสือพิมพ์เรื่อยมาด้วยข้อหาแตกต่างกัน เช่น ข้อหา “เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอันอาจเป็นภัยต่อความสงบของบ้านเมือง”

(หนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิด 3 วัน) ข้อหาลงบทความที่ส่อเจตนาทุจริตต่อรัฐบาล ซึ่งกำลังอยู่ในความชื่นชมของมหาชน (หนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม ถูกปิด 30 วัน)