ธงทอง จันทรางศุ | จารีตนิยม และโลกยุคใหม่

ธงทอง จันทรางศุ

ตอนนี้ผมใช้ชีวิตอย่างคนเกษียณอายุราชการเต็มภาคภูมิมาครบสี่ปีเต็มแล้ว แต่ถูกคนรอบข้างนินทาว่ายังทำตัวเหมือนคนอยู่ในราชการ เพราะมีเหตุให้ออกจากบ้านแทบทุกวัน

ถ้าไม่ไปสอนหนังสือหรือไปบรรยายพิเศษ ก็ไปประชุมโน่นประชุมนี่ เป็นกรรมการบางคณะแล้วหมดวาระไป ก็มีกรรมการชุดใหม่มาให้เป็นอยู่เสมอ

เพื่อนที่เป็นหมอบอกว่าดีแล้ว สมองจะได้ไม่ฝ่อ เพราะมีเรื่องให้คิดลับสมองประลองปัญญาอยู่ทุกวัน

เช้าวันนี้เพิ่งไปประชุมกรรมการชุดหนึ่งมาครับ เป็นกรรมการของราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่ทำคำอธิบายขยายความถ้อยคำที่คนยุคปัจจุบันอาจจะไม่เข้าใจแล้ว จากต้นฉบับหนังสือเรื่องสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ก่อนเริ่มการประชุม พอมีเวลาพูดคุยกันอยู่บ้าง ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งมีฐานะเป็นบรมครูด้านกฎหมาย กรุณาถามผมว่า ถ้าย้อนหลังไปเมื่อตอนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วสามารถเลือกอีกครั้งหนึ่ง ผมจะเลือกเรียนกฎหมายอย่างที่เรียนมาแล้ว หรือเลือกเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจใฝ่รู้

ฟังคำถามของท่านแล้วก็อึ้งกิมกี่ไปเหมือนกัน เพราะไม่เคยมีใครถามผมอย่างนี้มาก่อน

และที่สำคัญก็คือผมไม่เคยถามตัวเองเช่นนี้เลย

หลังจากนั่งนิ่งอยู่ชั่วอึดใจหนึ่ง ผมก็ตอบคำถามท่านว่า ผมคงจะเลือกเรียนกฎหมายเหมือนเดิม แล้วคงสนุกกับการอ่านและติดตามฟังความรู้ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์เหมือนอย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้อยู่นั่นเอง

ส่วนเหตุผลประกอบคำตอบนั้นก็คือ การเรียนกฎหมายให้ได้ดีนั้นผมคิดว่าต้องเรียนในชั้นเรียนมีครูบาอาจารย์อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเรื่องทางวิชาชีพ

ทุกวันนี้งานส่วนใหญ่ที่ผมยังได้เบี้ยประชุมมาเลี้ยงชีพ เพิ่มเติมจากเงินบำนาญที่ได้รับอยู่ตามสิทธิ์ของคนเกษียณแล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นงานให้ความคิดความเห็นทางกฎหมายทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องทางประวัติศาสตร์และเรื่องวัฒนธรรมไทยนั้น จนถึงทุกวันนี้ผมก็ไม่กล้าที่จะอวดอ้างว่าตัวเองเป็นผู้รู้ถึงขีดขั้นที่จะเป็นครูบาอาจารย์ใครได้

ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมไม่รู้ และยังมีอีกหลายท่านที่อยู่ในฐานะที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของผมได้อีกมาก

เวลาไปขึ้นเวทีอภิปรายที่ไหนแล้วพิธีกรจะแนะนำว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ก็ให้รู้สึกเก้อเขินเป็นกำลัง

และถ้ารู้ตัวล่วงหน้าก็จะขอร้องให้กล่าวถึงผมแต่เพียงว่าเป็นคนที่สนใจในด้านนี้เท่านั้น

โดยสรุปก็คือ ผมมีความสุขดีกับการเป็นนักกฎหมายตามวิชาชีพที่เล่าเรียนมา

พร้อมกันนั้นก็มีความสุขกับการสนใจค้นคว้าติดตามเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นงานอดิเรก

บางทีสบโอกาสก็จับมาประสมกันบ้าง เช่น สอนหนังสือวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีหน้าก็จะครบ 40 ปีแล้ว

ย้อนหลังไปถึงเมื่อปีพุทธศักราช 2516 ซึ่งเป็นปีที่ผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า ซึ่งเป็นการเรียกชั้นเรียนตามระบบการศึกษาในครั้งนั้น และเทียบได้กับการจบชั้นมัธยมหกในระบบการศึกษาปัจจุบัน เป็นเวลาที่ต้องสอบคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ด้วยระบบการสอบที่เรียกชื่อว่าสอบเอนทรานซ์

ผู้เข้าสอบแต่ละคนสามารถเลือกคณะวิชาที่ตัวเองสนใจเรียงไว้หกลำดับ

ถ้าเราวางแผนให้ดี คณะทั้งหกอันดับมีวิชาที่ต้องสอบอยู่ใกล้เคียงกัน เราจะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสอบหลายวิชาจนเกินกำลัง

ยุคสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าทุกวันนี้ อาชีพการงานอะไรก็มีน้อยอย่าง การจ้างงานส่วนใหญ่ยังเป็นงานภาครัฐ เอกชนยังไม่มีใครใหญ่โตมโหฬาร พอที่จะเป็นตลาดงานขนาดใหญ่ได้

ถึงแม้ว่าในการเรียนชั้นมัธยม ผมจะมีความสนใจและทำคะแนนได้ดีในวิชาภาษาไทยและประวัติศาสตร์อยู่มากพอสมควร

แต่ถ้านึกว่าต้องสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วเลือกคณะโบราณคดีหรือคณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยใดก็ตาม คำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ได้คือ เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร

ด้วยสติปัญญาที่คับแคบของตัวเองในวันนั้น ผมนึกออกแต่เพียงว่าคงเป็นครูสอนหนังสือตามโรงเรียน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นนักโบราณคดีไปเที่ยวขุดค้นอยู่ตามแหล่งโบราณคดีทั้งหลาย จะขุดเจออะไรหรือขุดไม่เจออะไรก็ยังไม่รู้

แต่เมื่อลองเปรียบดูกับการเลือกเรียนวิชากฎหมาย ซึ่งเป็นวิชาใกล้ตัวเพราะพ่อผมเป็นนายทหารพระธรรมนูญ มิหนำซ้ำคุณตาก็เป็นผู้พิพากษามาก่อน การเรียนกฎหมายดูจะปลอดภัยและมีหลักประกันในเรื่องอาชีพในวันข้างหน้าได้ดีกว่า

อย่างน้อยก็นึกออกว่า คนเรียนกฎหมายไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความได้

ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ ผมจึงเลือกคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นลำดับแรกในหกอันดับ และตกกระไดพลอยโจนมาจนถึงทุกวันนี้

ที่เล่าสู่กันฟังนี้ เพื่อจะทบทวนและบอกกับตัวเองว่า การตัดสินใจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในคณะวิชาอะไรของผมนั้น เป็นความคิดตามแบบจารีตนิยมมาก

คือ คิดว่าเรียนอะไรแล้วก็ต้องไปทำอย่างนั้น

เรียนกฎหมายต้องไปประกอบวิชาชีพกฎหมาย

เรียนโบราณคดีต้องไปประกอบวิชาชีพโบราณคดี

ความคิดเช่นนี้ ผมไม่กล้ายืนยันรับรองเสียแล้วว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก

คนยุคเก่าอย่างผมคิดแต่จะทำราชการหรืออย่างมากก็เป็นลูกจ้างเอกชน

แต่ลูกหลานสมัยนี้เขาคิดไม่เหมือนเราครับ

เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังมา ลูกหลานของเราจำนวนไม่น้อยคิดจะเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเขาเอง หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Entrepreneur การประกอบการที่ว่านี้มีได้หลากหลายตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กจนไปถึงธุรกิจขนาดมหึมา

เขามีความสุขกับการเป็นนายของตัวเองโดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร

มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ต้องปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่แบบนี้ด้วย

มหาวิทยาลัยหลายแห่งรวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องจัดหลักสูตรใหม่ วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ ให้พร้อมที่จะตอบสนองความต้องการในแนวทางอย่างนี้

เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์แบบนี้ คนเรียนที่อยากได้ความรู้หรือประสบการณ์ทำนองนี้ก็จะไปหาคำตอบจากที่อื่น

ปล่อยให้มหาวิทยาลัยแห้งเหี่ยวหัวโตไป พร้อมกับการจัดหลักสูตรแบบจารีตนิยมซึ่งนับวันจะมีคนเรียนน้อยลงทุกที จนทุกวันนี้แทบจะต้องไปอุ้มคนเข้ามาเรียนอยู่แล้ว

ว่าถึงหลักสูตรตามแบบจารีตนิยมเองก็เถิด เพราะอายุอยู่มาถึงปูนนี้แล้ว ผมมีความเห็นว่า เราไม่สามารถสอนให้เด็กหรือบัณฑิตของเรารู้ทุกอย่างในศาสตร์นั้นๆ ได้

สิ่งที่เราต้องทำคือการให้เขารู้จักวิธีการที่จะไปหาความรู้ด้วยตัวเขาเอง และค้นพบตัวเขาเองในที่สุดต่างหาก

คนเป็นพ่อเป็นแม่และอยู่ในวัยที่ลูกกำลังจะเลือกเรียนหนังสือหรือเลือกประกอบอาชีพในวันข้างหน้า ต้องเข้าใจความจริงข้อนี้ และรับความจริงให้ได้ถ้าเด็กจะคิดไม่เหมือนเรา

ความสุขของเรากับความสุขของเขาไม่จำเป็นต้องเหมือนกันครับ

ผมเชื่อว่าถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะมีความสุขทั้งฝ่ายผู้ใหญ่และฝ่ายเด็กที่เป็นลูกหลาน

ตรงกันข้าม ถ้าเราจะถือเอาความสุขของเราเป็นมาตรฐานความสุขของลูกหลานแล้ว

ผมเกรงว่าจะเกิดความทุกข์เสียมากกว่า

ลองไตร่ตรองดูเถิดครับ