ธุรกิจพอดีคำ : “เทคโนโลยี คงไม่พอ”

โทมัส อัลวา เอดิสัน

ถ้าพูดถึง โทมัส อัลวา เอดิสัน

รับรองว่าผู้อ่านเกือบทุกท่านคงจะรู้จักกันดี

บุรุษผู้คิดค้น “หลอดไฟ” ได้เป็นคนแรกของโลก

ทำให้ทุกหนแห่งมีความ “สว่างไสว” ด้วย “อิเล็กตรอน”

บุรุษผู้ทำให้โรงงานผลิต “เทียนไข” และ “ตะเกียง” กลายเป็นอุตสาหกรรมแห่ง “อดีต”

บุรุษซึ่งเป็นเจ้าของ “คำคม” ยอดฮิตมากมาย

“ผมไม่เคยล้มเหลว ผมค้นพบวิธีที่ไม่ถูกต้อง 10,000 ครั้งต่างหาก”

หรือ

“อัจฉริยะมาจาก 1% แรงบันดาลใจ และ 99% การลงมือทำ ไม่ยอมแพ้”

เราสามารถเรียก โทมัส อัลวา เอดิสัน อย่างเต็มปากได้ว่า

สุดยอด “นักประดิษฐ์” แห่งมนุษยชาติคนหนึ่งเลยทีเดียว

แล้วถ้าผมถามทุกท่านว่า

ใครกันที่ประดิษฐ์ “วิทยุ” ได้เป็นคนแรก

ทุกท่านคิดว่าเป็นใครกันครับ

ให้เวลาเดาสักครู่ เดี๋ยวกลับมาเฉลย

 

คําถามครับ

ทุกวันนี้ หากคุณต้องการที่จะส่ง “ข้อความ” ไปให้เพื่อน

ใช้เวลาเท่าไรครับ…

คำตอบคงจะเป็นหน่วย “วินาที”

ไม่ว่าจะเป็น ส่งผ่านไลน์ ผ่านอี-เมล ผ่านโทรศัพท์

ล้วนใช้เวลาชั่ว “พริบตา”

ที่สำคัญ ไม่ขึ้นอยู่กับ “สถานที่” ที่เพื่อนอยู่ด้วย

จะส่งไป “ลาดพร้าว”

ส่งไป “เชียงใหม่”

หรือแม้แต่ “อเมริกา”

หากมี “อินเตอร์เน็ต” แล้วล่ะก็

เรียกได้ว่า ใช้เวลา “เท่ากัน” ก็ว่าได้

แต่ถ้าเรามองย้อนไปเพียงแค่ไม่กี่ร้อยปี

“ข้อความ” เหล่านี้ ถูกส่งออกไปถึงผู้รับได้เร็วที่สุด อย่างมากก็แค่ความเร็วของ “ม้า” ที่แข็งแรงที่สุด เท่านั้นเอง

ไม่มีเครือข่าย ไม่มีรถยนต์

มีแค่ “ม้า” กับ “คนส่งสาร” เท่านั้น

จนกระทั่งปี ค.ศ.1844 “ซามูเอล มอร์ส (Samuel Morse) คิดค้นโทรเลขเครื่องแรกของโลกได้

การส่ง “ข้อมูล” จึงเร็วขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด”

ไม่ต่างจาก “ฝีมือ” ของพระเจ้า ก็ว่าได้

ความ “ก้าวกระโดด” นี้ เพิ่งเกิดขึ้นเอง เหมือน “แสงสว่างวาบ”

โจ อิโต

โจ อิโต (Joi Ito) ผู้บริหารสูงสุดของ MIT Media Lab

สถาบันวิจัยที่ “ล้ำ” ที่สุด มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT เคยอธิบายเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เอาไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

พูดถึงระยะเวลา ร้อยปี สองร้อยปี หลายท่านอาจจะคิดว่า นานมาแล้ว

แต่ถ้าลองเปรียบเทียบกับอายุของโลกใบนี้แล้วล่ะก็

ถือว่าเหมือนชั่ว “พริบตา” เดียวเท่านั้น

โลกใบเดิม ที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้นั้น

ได้ถือกำเนิดมาแล้วกว่า “สี่พันล้าน” ปี

เป็นวันที่สภาพอากาศยังแปรปรวน สิ่งมีชีวิตยังไม่ถือกำเนิด

ถ้าเปรียบเทียบระยะเวลาของโลกตั้งแต่ถือกำเนิด จนถึงปัจจุบัน เป็นเหมือนเวลาปฏิทิน “หนึ่งปี” เต็ม

หมายความว่า วันที่ 1 มกราคม คือวันที่โลกกำเนิด

และวันที่ 31 ธันวาคม คือปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่

เชื่อมั้ยครับ กว่าไดโนเสาร์จะถูก “อุกกาบาต” ชนจนสูญพันธุ์ไปนั้น

ก็ปาไปช่วงวัน “คริสต์มาส” คือ 25 ธันวาคม แล้ว

กว่ามนุษย์จะเริ่มเดินได้สองขา ก็แถวๆ วันสิ้นปี เวลาห้าทุ่มห้าสิบ

ประวัติศาสตร์มนุษยชาติจริงๆ เพิ่งจะเริ่มเขียนเมื่อไม่กี่ “วินาที” เอง ก่อนจะขึ้นปีใหม่

เมื่อเทียบกับชีวิตของโลกใบนี้ที่เกิดมาก่อนเราหลายพันล้านปี

มนุษย์เราก็เป็นเหมือน “แสงสว่างวาบ” เท่านั้นเอง

การถือกำเนิดของ “เทคโนโลยี” ที่มนุษย์สร้างขึ้น

ตั้งแต่ การใช้หิน โลหะ เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต

เกิดขึ้นทั้งหมดใน “แสงสว่างวาบ” นั้น

แสดงให้เห็นว่า การเติบโตของเทคโนโลยี เป็นไปอย่าง “ก้าวกระโดด” หรือที่เรียกว่า “Exponential Growth” อย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา

เร็วเสียจน เทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ไปไกลกว่า “จินตนาการ” ของมนุษย์เสียอีก

 

ในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1895

ผู้คนมารวมตัวกันที่หน้า Grand Caf? ในกรุงปารีส เพื่อดูการแสดง “พิเศษ”

ภายในโรงละครแห่งนี้ ปรากฏสองพี่น้องตระกูล “ลูเมียร์ (Lumiere)”

ผู้คิดค้น “ภาพเคลื่อนไหว” และกำลังจะฉาย “ภาพยนตร์” เรื่องแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สู่สายตาชาวกรุงปารีส

หากแต่ว่า “ภาพยนตร์” ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในเชิง “เทคโนโลยี”

กลับไม่สร้างความ “ประทับใจ” ในเชิง “ความบันเทิง” อย่าง “ภาพยนตร์” สมัยนี้

มันเป็นเพียง “ภาพเคลื่อนไหว” ที่ไร้ซึ่ง “เนื้อเรื่อง” ที่ชวนติดตาม

สองพี่น้อง “ลูเมียร์” ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี

กลับไม่ประสบความสำเร็จในวงการ “ภาพยนตร์”

ส่งผลให้ “ภาพเคลื่อนไหว” ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ขึ้น “หิ้ง” ไปหลายสิบปี

จนมีผู้อื่นเอาไปใช้ “ทำมาหากิน” ในเวลาต่อๆ มา

 

เอ็ด แคตมูลล์ (Ed Catmull) เจ้าของบริษัท Pixar คู่หูของ สตีฟ จ็อบส์

บริษัทแอนิเมชั่นชื่อก้องโลก ที่ทำการ์ตูนสามมิติเป็นเจ้าแรก

เป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก มีชื่อว่า “Toy Story”

เคยอธิบายวิธีการทำงานของ Pixar เอาไว้อย่างง่ายๆ ว่า

“ที่ Pixar เราจะมีวัฒนธรรมที่สำคัญอยู่หนึ่งอย่าง

นั่นคือ “เนื้อเรื่องคือราชา (Story is King)”

ไม่ว่า “เทคโนโลยี” จะล้ำเพียงใด ได้ภาพที่สวยงามแค่ไหน

หากส่งผลทำให้ “เนื้อเรื่อง” ไม่ได้อรรถรสที่ควรจะเป็น

ฉากนั้นๆ ก็จะถูก “ตัดออก” ทันที

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ภาพยนตร์มีไว้เพื่อสร้างความ “บันเทิง” แก่มนุษย์

ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดศักดาเทคโนโลยีของบริษัท

เทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนเติมเต็มให้ “เนื้อเรื่อง” สมบูรณ์มากขึ้น

เพื่อสร้างความ “ประทับใจ” ให้แก่คนดูได้มากขึ้น เท่านั้นเอง

เอาผลประโยชน์ของ “คนดู” เป็นที่ตั้ง มิใช่นำเสนอ “ความล้ำ” ของตนเองเพียงอย่างเดียว

ใช้หลักการ “ความเข้าใจลูกค้า (Empathy)” ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

นี่แหละคือ “สูตรลับ” ความสำเร็จของบริษัทระดับโลกอย่าง Pixar”

 

ย้อนไปที่คำถามข้างต้น

ใครกันที่สร้าง “วิทยุ” เครื่องแรกของโลก

คำตอบคือ “เอดิสัน” ที่สร้างหลอดไฟนั่นแหละ

เขาเรียกมันว่า “เอดิโฟน (Ediphone)”

แต่ไม่ยักมีใครรู้ว่า เอดิสันเป็นคนผลิตมันออกมา

เพราะถึงแม้ว่า “เทคโนโลยี” จะล้ำไปไกล

แต่ผู้คนยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร

แม้แต่ตัวเอดิสันเองก็ตามที

จนกระทั่งวิศวกรหนุ่ม นาม “วิกเตอร์ (Victor)”

ได้คิดการใหญ่ ชักชวนนักร้องในสมัยนั้น มาร้องเพลงออกรายการวิทยุ และอัดลงแผ่นเสียง

เปิดเพลงให้กับคนทั่วไปได้รับฟัง ผ่านระบบกระจายเสียงที่เรียกว่า “วิทยุ”

ต่อยอดจาก “เอดิโฟน” ต้นกำเนิดของ “เทคโนโลยี” นี้

วิกเตอร์ ก่อตั้ง “วิกเตอร์ เร็กคอร์ด (Victor Record)” สร้างเป็นอุตสาหกรรมแผ่นเสียงเพลงขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในโลก สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนมากมาย กลายเป็นเศรษฐีในเวลาอันรวดเร็ว

 

มนุษย์ยุคเรา ไม่เคยขาด “เทคโนโลยี”

แม้จะทุกวันนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT), Blockchain, Machine Learning ต่างๆ นานา

แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของมนุษย์ นี่สิ ที่ “ท้าทาย” เสมอมา

ใครทำได้ คนนั้นก็คือ “นวัตกร” นั่นเอง