คุยกับทูต ทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก จากดินแดนแห่งทุ่งราบสูงกว้างใหญ่และท้องฟ้าสีคราม มองโกเลีย (2)

นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก (Mr. Tugsbilguun Tumurkhuleg) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย.

รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก จากดินแดนแห่งทุ่งราบสูงกว้างใหญ่และท้องฟ้าสีคราม-มองโกเลีย (1)
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมองโกเลีย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1974 โดยกำหนดให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมมองโกเลีย

ปัจจุบันเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ นายธีรกุล นิยม

มองโกเลียในช่วงแรกนั้นได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตมองโกเลีย ณ เวียงจันทน์ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2000 ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นในประเทศไทย

และ นายลูฟซันดอร์จ บายาร์ต (Luvsandorj Bayart) เป็นเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยคนแรก

อนุสาวรีย์เจงกิสข่าน

นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน เล่าว่า

“เรามีหน่วยงานทางการทูตทั่วโลก 49 แห่ง แต่ละแห่งรวมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล และมีหน่วยงานผู้แทนถาวรมองโกเลียประจำสหประชาชาติ ส่วนสถานทูตมองโกเลียในกรุงเทพฯ ประกอบด้วยนักการทูตชาวมองโกลซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วยเป็นสามคน มีคนไทยเป็นเลขานุการ ส่วนคนขับรถมาจากมองโกเลีย”

“เมื่อปี ค.ศ.1206 เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ได้ก่อตั้งอาณาจักรมองโกลขึ้นและขยายอาณาจักรออกไปไม่หยุดยั้ง จนครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย-ยุโรป นับเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ แต่เจงกิสข่านเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.1227 ก่อนที่จะยึดดินแดนจีนได้ ต่อมา กุบไลข่าน (Kublai Khan) ผู้เป็นหลานชายทำได้สำเร็จโดยมีหลักว่า ยึดดินแดนได้บนหลังม้า แต่มิอาจปกครองผู้คนได้บนหลังม้า จึงนำชาวมองโกลเข้ามาปกครองจีนแบบอะลุ้มอล่วยหรือผ่อนหนักผ่อนเบาโดยสถาปนาราชวงศ์หยวนหรือหงวน (Yu?nch?o) ซึ่งเป็นราชวงศ์ชาวมองโกล โดยเป็นชนกลุ่มแรกที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่นที่เข้าปกครองจีน”

“เมื่อราชวงศ์หยวนเสื่อมอำนาจลง ต่อมาสมัยราชวงศ์หมิง (Ming dynasty) อำนาจของมองโกลก็หมดลงและดินแดนมองโกเลียก็ถูกปกครองโดยจีนภายใต้ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง (Qing or Manchu dynasty) ของจีนตามลำดับ”

“แต่จากการปฏิวัติของประชาชนหรือที่เรียกว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยแห่งชาติในปี ค.ศ.1921 มองโกเลียจึงได้รับชัยชนะสามารถประกาศเอกราชจากจีน โดยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต ทำให้มองโกเลียกลายเป็นประเทศที่สองของโลกที่เป็นสังคมนิยมต่อจากสหภาพโซเวียต”

 

“การตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตซึ่งครอบงำมองโกเลียเกือบ 70 ปี (ค.ศ.1921-1990) ทำให้มองโกเลียดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตซึ่งมีอิทธิพลครอบงำมองโกเลียในทุกด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”

“ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1985-1991 นายมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้นโยบายกลัสนอสต์ (Glasnost) และเปเรสทรอยกา (Perestroika)”

“นโยบายกลัสนอสต์ เป็นนโยบายเรียกร้องให้เพิ่มความเปิดเผยและความโปร่งใสในสถาบันและกิจกรรมรัฐบาลในสหภาพโซเวียต ส่วนนโยบายเปเรสทรอยกา เป็นการปรับโครงสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต การปฏิรูปดังกล่าวทำให้ประชาชนในสหภาพโซเวียตตระหนักถึงเสรีภาพในการดำรงชีวิต ในที่สุดเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตปี ค.ศ.1991”

“เป็นผลให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมองโกเลีย ทั้งการเมืองการปกครองไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย มีหลายพรรค (multi-party system) มีรัฐธรรมนูญใหม่ และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (market economy)”

หากปราศจากม้า คนมองโกลก็เสมือนนกไร้ปีก

ผ่านมาแล้วสองทศวรรษที่ประเทศมองโกเลียได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากประเทศสังคมนิยมมาเป็นประชาธิปไตยหลายพรรคที่มีความก้าวหน้าและเติบโตเร็วที่สุด

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่คือจีนและรัสเซีย และไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้มองโกเลียต้องพยายามรักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย

แม้ว่าในอดีต มองโกเลียจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพึ่งพาสหภาพโซเวียตมาโดยตลอด

แต่เมื่อรัสเซียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ มองโกเลียจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนซึ่งขณะนี้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมองโกเลีย

อีกทั้งพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อประโยชน์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

มองโกเลียมีประชากรเพียง 3 ล้านกว่าคน แต่มีพื้นที่ 1,564,116 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ภูเขา และทุ่งหญ้า ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในโลก

ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานแบบทิเบต ประชากรร้อยละ 38 อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar) ภาษามองโกเลียเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาหลักของชาวมองโกเลียส่วนใหญ่

“ภาษารัสเซียเคยใช้กันอย่างแพร่หลายก่อนปี ค.ศ.1990 เนื่องจากรัสเซียเป็นเพื่อนบ้านของเรา แต่คนยุคใหม่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน”

 

“มองโกเลียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ไม่มีปัญหากับประเทศใดๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านที่อยู่ขนาบข้างทั้งสองด้านคือรัสเซียและจีน เรามีนโยบายที่เรียกว่าเพื่อนบ้านที่สาม (Third Neighbor Foreign Policy ) เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ นั่นคือเหตุผลที่เรามีนโยบายต่างประเทศที่มีลักษณะสมดุล”

“เรามุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการบูรณาการทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลมองโกเลียให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วมประชุมเอเปค (APEC) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) เช่นเดียวกับการได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาอาเซียน (ASEAN Dialogue partner)”

“ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงมีความมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมในกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สำคัญนี้ โดยมองโกเลียได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation – TAC) และเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998”

 

มองย้อนกลับไปในช่วงที่มองโกลแผ่แสนยานุภาพกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เกินกว่าครึ่งโลกในศตวรรษที่ 12-13 จะมีใครคาดคิดว่า ชาวเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือของจีนจะกล้าหาญและสามารถพิชิตอาณาจักรต่างๆ เรื่อยมาตั้งแต่จีน เกาหลี รัสเซีย อินเดีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และบางส่วนของอาหรับ

การแผ่อิทธิพลของมองโกล สร้างความครั่นคร้ามให้กับโลกอย่างมากมาย เพราะนอกจากกองทัพมองโกลจะไร้ซึ่งความปรานีแล้ว ยังมีความเก่งกาจทางการรบบนหลังม้าเป็นอย่างมาก

ว่ากันว่า หากพวกมองโกลจะครองโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ เพราะชาวมองโกลได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่านักรบบนหลังม้าที่เกรียงไกร

ดังมีคำกล่าวว่า “A Mongol without a horse is like a bird without wings”

หรือ “หากปราศจากม้าแล้วไซร้ คนมองโกลก็เปรียบเสมือนนกที่ไร้ปีกนั่นเอง”