สุจิตต์ วงษ์เทศ / เมืองโคราชเก่า สูงเนิน นครราชสีมาเมืองแรก

เมืองโคราชเก่า อยู่สูงเนิน [ซ้ายสุดชิดเส้นกรอบบริเวณกลางๆ แผนที่] ระบุว่า Old Korat หรือ Korat Kao และ Song M?un คือ สองเนิน [เป็นคำเดิมของสูงเนิน]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองโคราชเก่า สูงเนิน
นครราชสีมาเมืองแรก

นครราชสีมาเมืองแรกสุดอยู่สูงเนิน จึงเรียกสูงเนินว่าโคราชเก่า เป็นที่รับรู้ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า พบหลักฐานเรียกสูงเนินว่าด่านเสมา [ชื่อ เสมา กลายจาก สีมา ตัดจากชื่อนครราชสีมา]
ต่อมาเรียกสูงเนินว่าโคราชเก่า พบหลักฐานเอกสารสมัย ร.5 อย่างน้อย 2 เล่ม ได้แก่ นิราศหนองคาย และบันทึกการสำรวจฯ

เมืองโคราชเก่า ในนิราศหนองคาย

นิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี [ทิม สุขยางค์] แต่งสมัย ร.5 พ.ศ.2418
พรรณนาไปราชการทัพปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย แต่ไปไม่ถึงจึงหยุดรออยู่ที่เมืองนครราชสีมา แล้วรับคำสั่งยกกลับกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางดงพญากลาง ผ่าน “เมืองโคราชเก่า” อ.สูงเนิน [ในนิราศเรียก “สองเนิน”] มี “ลำตะคอง”
ขาไป จากกรุงเทพฯ ผ่านดงพญาเย็น [ดงพญาไฟ], เมืองจันทึก [ปากช่อง], สีคิ้ว, สูงเนิน สมัยนั้นเรียก “สองเนิน” มีกลอนบอกว่า “พอข้ามลำตะคลองถึงสองเนิน”
สูงเนิน คือ เมืองโคราช มีกลอนนิราศบอกว่าเมื่อกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปถึงก็มีกรมการเมืองโคราช ซึ่งเป็น “ลาว” รอรับ ดังนี้

กรมการอักโขเมืองโคราช มาเกลื่อนกลาดรอรับกองทัพหลาย
ล้วนแต่หลวงพระทั่วลาวตัวนาย ต่างผันผายเข้าหาขุนสกล

ขากลับ จากนครราชสีมา เข้ากรุงเทพฯ ผ่านสูงเนิน กล่าวถึงคูน้ำกำแพงดิน แล้วเดินทัพผ่ากลางเมือง ออกทางประตูตะวันตก ผ่าน “บ้านแก่นท้าว” จะคัดกลอนมาดังนี้

ก็เดินกองทัพมาคับคั่ง ไม่รอรั้งรีบรุดไม่หยุดหย่อน
ถึงสองเนินเดินทุ่งหมายมุ่งจร หยุดพักร้อนริมฝั่งน้ำลำตะคลอง
———–
เดินทางมาในกลางพนาวาส ถึงยังเมืองโคราชดูคับขัน
เป็นเมืองแก่แต่บุราณมานานครัน เดี๋ยวนี้นั้นกลายเป็นชาวนาคร
เชิงเทินดินสูงเด่นเช่นผู้เฒ่า เป็นเมืองเก่าแรกสร้างแต่ปางก่อน
แข็งแรงกำแพงรอบขอบนคร ดูถาวรแต่งตั้งแต่ครั้งใด
เดินทัพเข้าทางผ่านกลางเมือง แลชำเลืองพฤกษาป่าไหว
ถามกรมการว่ากว้างทางเท่าไร พวกวัดได้ห้าสิบเส้นนับเป็นวา
เดินทางมาไม่นานประมาณครู่ ออกประตูตะวันตกรกพฤกษา
เจ้าคุณหยุดช้างอยู่ทำบูชา ซึ่งเทวาอารักษ์โดยภักดี
สิงสถิตที่เรืองในเมืองเก่า จงช่วยเป่าปัดร้ายในไพรศรี
อย่าให้โทษพารามายายี ให้โยธีกองทัพได้อับจน
ครั้นเสร็จทำบูชาศิลาเลื่อน รีบคลานเคลื่อนกองทัพมาสับสน
แสวงที่หยุดพักสำนักพล พระสุริยนเย็นย่ำลงรำไร
ครั้นถึงหนองบัวบานบ้านแก่นท้าว มีหนองยาวเวิ้งว้างทั้งกว้างใหญ่
ก็พักหยุดกองทัพโดยฉับไว เป็นสมัยมืดค่ำฝนพรำพรม

ผังเมืองโคราชเก่า (เมืองเสมา) กลางเมืองมีสระน้ำเรียกบ่ออีกา เขียนภาษาอังกฤษว่า BO I KHA ด้านทิศตะวันตกมีบ้านแก่นท้าว ด้านทิศตะวันออกมีบ้านหินตั้ง และบ้านทะเล

เมืองโคราชเก่า ในบันทึกของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส

เอเจียน แอมอนิเย หัวหน้าคณะสำรวจชาวฝรั่งเศส อยู่ในสยามเมื่อแผ่นดิน ร.5 ระหว่าง พ.ศ.2425-2426 สำรวจอีสานของไทย แล้วเข้าไปสำรวจในกัมพูชาและลาว มีบันทึกเป็นภาษาฝรั่งเศส [ต่อมามีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแบ่งเป็นชุดต่างๆ]
เมืองโคราชเก่า ทั้งบันทึกและแผนผังกับแผนที่ ได้จากหนังสือ Khmer Heritage in Thailand by Etienne Aymonier, White Lotus 1999 pp.130-131 [แปลและทำเชิงอรรถโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ] ดังต่อไปนี้

เมืองโคราชเก่า1

เดินเท้าหนึ่งวันไปทางทิศตะวันตกของเมืองโคราช และขึ้นเหนือไปอีก 2 ไมล์จากสองเนิน2 ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ของพวกลาว ที่มีฝูงวัวเลี้ยงเป็นของตนเอง และมีห้วยตะคองไหลผ่าน จะพบซากเมืองโคราชเก่าตั้งตระหง่านอยู่ สิ่งปลูกสร้างโบราณจำนวนมากมีอยู่ทางทิศใต้ของเมือง โดยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นจากหินทรายเนื้อละเอียด ซึ่งก็มีทั้งหินทรายแดง และหินทรายขาว เช่น โนนกู่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 ไมล์ทางทิศใต้ของเมืองเก่าโคราช และอยู่ไม่ห่างจากตะคอง ซึ่งเป็นเนินดินขนาดสูง 2 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ถูกปกคลุมไปด้วยก้อนหินทราย, กุดหิน ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ ก็มีร่องรอยของซากโบราณสถาน แอบซ่อนอยู่ภายในดงต้นกระบองเพชร เครือเถาวัลย์ และต้นไผ่ ดังจะเห็นได้จากซากเสาหลายต้น หินที่ผ่านการขัดแต่ง อิฐจำนวนมาก กับซากภาชนะดินเผาสีขาว และแดง, ที่ควรอ้างถึงอีกแห่งคือ โคกพระยา หรือโนนพระยา แปลว่า เนินของขุนนาง ซึ่งอาจได้พบซากปรักหักพังด้วย และท้ายที่สุด ได้แก่ บ้านหินตั้ง ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านของหินตั้ง3 ที่พบอิฐและก้อนหินที่ผ่านการขัดแต่งรูปทรงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแผ่นหินตั้งที่ทำขึ้นจากหินทรายแดง ที่บางชิ้นยังคงตั้งอยู่ ส่วนบางชิ้นก็ล้มลงกับพื้นเสียแล้ว
กำแพงเมืองโคราชเก่า หรือเมืองเสมาเก่า ซึ่งแปลว่า เมืองแห่งหินเสมา อย่างที่ชาวสยามเรียก ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านหินตั้งที่ว่านี้ มุมกำแพงทั้งทุกด้านตั้งเป็นมุมฉาก โดยกำแพงแต่ละด้านยาวประมาณ 1,000 เมตร ตัวกำแพงก่อขึ้นจากดิน ผสมกับหินทรายขัดแต่งเป็นบล็อก กำแพงเมืองแต่ละด้านสูงประมาณ 4 เมตร แต่หลายส่วนได้พังทลายลงมา ทะเลสาบขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านแก่นท้าวในปัจจุบัน ก็คงจะเป็นสระที่ถูกขุดขึ้นมาด้วย ป่าที่รกชัฏไปด้วย ดงไผ่ พุ่มไม้ และเถาวัลย์ต่างๆ ทำให้การสำรวจภายในเมืองทำได้อย่างยากลำบากมากๆ ลำห้วยซึ่งน่าจะถูกขุดขึ้นเพื่อใช้สำหรับชักน้ำ ตัดผ่านเมืองในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก อยู่ใกล้กับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 3 บ่อ ซึ่งในขณะที่เข้าไปสำรวจในเดือนมีนาคมกำลังแห้งเหือดไม่มีน้ำ โดยหนึ่งในนั้นที่ชาวสยามเรียกว่า บ่ออีกา คงจะเป็นศาสนสถาน4 เนินดินที่ใหญ่ขนาด 50 X 40 เมตร ทำให้รู้ว่ามีแนวกำแพงล้อมรอบ ซากอาคารก่ออิฐที่ตรงกลางเนินมีหลุมลึกที่เกิดจากการขโมยขุดของพวกนักล่าสมบัติ ส่วนที่มุมทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเนินดินมีร่องรอยของอาคารที่ก่อขึ้นจากหิน และยังพบศิลาจารึกของกัมพูชาโบราณ

สูงเนิน เดิมเรียก สองเนิน
สูงเนิน เพี้ยนรูปเพี้ยนเสียงจากคำเดิมว่า สองเนิน พบหลักฐานเอกสาร 2 เล่มสมัย ร.5
นิราศหนองคาย [“พอข้ามลำตะคลองถึงสองเนิน” คำหน้า “ลำตะคลอง” คำหลังรับสัมผัส “สองเนิน” ไม่พิมพ์ผิด สูง เป็น สอง]
และแผนที่รายงานสำรวจของชาวฝรั่งเศส [แผนที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศส สะกดว่า Song คือ สอง]

ลาวสองเนิน

ชาวบ้านสองเนิน สมัย ร.5 ส่วนมากเป็นลาว มีบอกในนิราศหนองคายตอนหนึ่งว่า “มองเห็นลาวหญิงชายนั่งรายเรียง ถือข้าวห่อนั่งเคียงอยู่กลาดเกลื่อน”
ลาวชาวบ้านสองเนิน พบชื่อ “บ้านแก่นท้าว” เป็นพยานว่าได้ชื่อติดมาจากเมืองลาว ซึ่งน่าจะถูกกวาดต้อนหลายคราว คราวแรกอาจเป็นสมัยพระเจ้าตาก คราวหลังน่าจะสมัย ร.3 แล้วทยอยโยกย้ายตามมาเรื่อยๆ

………………………………………………………………………

เชิงอรรถ 1. ต้นฉบับใช้คำว่า Old Korat 2. ต้นฉบับใช้คำว่า Song M?un ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า สองเนิน คือ สูงเนิน ในปัจจุบัน 3. ต้นฉบับใช้คำว่า standing stone ซึ่งหมายถึง หินที่ถูกมนุษย์ตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางความเชื่อ 4. ที่ข้างบ่ออีกาในสมัยนั้นเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี แล้วพบว่าเป็นศาสนสถานกลางเมืองเสมา

……………………………………………………………………….