วิเคราะห์ | อยู่ เป็น-ไม่เป็น ก็ต้อง “อยู่”

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำแถลงปิดคดีความเป็น ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น

ปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งในแง่บุคคลและองค์กรพรรค ของอนาคตใหม่

เพื่อที่จะต่อสู้ในโค้งสุดท้ายหลายประการ

นับตั้งแต่

นายธนาธรได้ออกมาแถลงปิดคดีผ่านสื่อ

โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการคือ

  1. บริษัทวี-ลัคมีเดีย ผลิตนิตยสาร WHO ฉบับสุดท้ายเดือนตุลาคม 2559

หนังสือจิ๊บๆ บริษัทวี-ลัคฯ เป็นแค่ผู้ผลิต ผู้เป็นเจ้าของหนังสือคือสายการบินนกแอร์

หนังสือ Wealth บริษัทวี-ลัคฯ เป็นผู้ผลิต ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าของ และปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561

บริษัทได้ยุติการดำเนินการ ไม่มีพนักงาน และไม่มีรายได้ตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2561

ดังนั้น บริษัทวี-ลัคฯ ถือว่ายุติกิจการไปแล้วและไม่ได้เป็นสื่อแต่อย่างไร

  1. ในคำร้องของ กกต.ระบุว่าตนยังเป็นผู้ถือหุ้น 21 มีนาคม 2562 โดยอ้างอิงเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือแบบ บอจ.5 ที่บริษัทแจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์

แต่การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงหุ้นสำเร็จหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และ 1141

ดังนั้น ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่นหรือมีน้ำหนักพอ

ต้องถือว่าธุรกรรมโอนหุ้นสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมไปแล้ว คือวันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนสมัคร ส.ส.

  1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) มีขึ้นเพื่อป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าแทรกแซงสื่อทางตรงและอ้อม

ซึ่งนิตยสารทั้ง 3 เล่มนี้ไม่เคยให้คุณกับตน และไม่เคยให้โทษกับนักการเมืองคู่แข่ง

  1. กระบวนการพิจารณาคดีเป็นธรรมหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสืบสวนของ กกต.ดำเนินการและเรียกพยานมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562

แต่ปรากฏว่า กกต.ชุดใหญ่ ส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562

ทั้งที่คณะกรรมการสอบสวนยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น

“จากทั้ง 4 ข้อ ถ้าถามผมว่าผมผิดอะไร คำตอบคือ มันไม่ใช่เรื่องหุ้นสื่อ แต่ความผิดของผม คือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.” นายธนาธรสรุป

 

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ออกมาช่วยอีกแรง

โดยพุ่งเป้าไปที่กระบวนการ “ลอว์แฟร์” (Lawfare) นิติสงคราม หรือสงครามทางกฎหมาย

อันเป็นการใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรม หรือศาล เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง

กลไกของลอว์แฟร์ ประกอบด้วย กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองเป็นคดีไปอยู่ในมือของศาล โดยผ่านการร้องของผู้ร้อง

หลังจากนั้น สื่อนำประเด็นคดีการเมืองที่อยู่ในศาลนั้นมาเผยแพร่แบบซ้ำๆ

มีการชี้นำ พร้อมยกกรณีคดีการเมืองตั้งข้อหา ทรยศชาติ แบ่งแยกดินแดน เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นกบฏชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คอร์รัปชั่น รับเงินผิดประเภท ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นศาสนา ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ซึ่งผลลัพธ์ออกมาคือ การกำจัดศัตรูทางการเมืองได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ทหารไม่ต้องออกมาหรือไม่ต้องชนะเลือกตั้ง

“พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันเคยกล่าวไว้ว่า ควรหยุดลอว์แฟร์ได้แล้ว เพราะลอว์แฟร์ทำลายระบบกฎหมาย ทำลายความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อศาล ทำลายประชาธิปไตย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ และตรงกันข้าม เมื่อใช้ลอว์แฟร์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองร้าวลึกมากขึ้น” นายปิยบุตรระบุ

 

นอกจากนี้ นายธนาธรได้มอบหมายให้ทีมทนายความไปยื่นต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ฟ้องร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน

ข้อหาประพฤติมิชอบ ในการที่ไม่ได้ใช้อำนาจในการไต่สวนพยานหลักฐานสืบหาข้อเท็จจริง กรณีนายธนาธรถือครองหุ้นสื่ออย่างเต็มที่

มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงให้กับ กกต.

แต่ กกต.กลับไม่รอให้การไต่สวนเรียกพยานเข้ามาให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมการ

กลับรวบรัดและส่งคดีไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่การไต่สวนของคณะอนุกรรมการจะเสร็จสิ้น

เป็นเหตุให้ชวนสงสัยได้ว่ามีการเร่งรัดคดีโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง

นอกจากในเชิงคดีความแล้ว ในแง่มวลชน

พรรคอนาคตใหม่ยังได้จัดงาน “อยู่ไม่เป็น” ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน ที่เจเจมอลล์

แม้จะระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีหุ้นสื่อ

แต่การชุมนุมของผู้สนับสนุนพรรคร่วม 2,000 คน และติดตามผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก

โชว์ความเป็นหนึ่งเดียว และพรรคพร้อมจะก้าวเดินต่อไป ถือเป็นการเรียกขวัญกำลังใจครั้งสำคัญ

และเป็นความหวังลึกๆ ว่า หากศาล รธน.ยกคำร้อง

นายธนาธรก็จะได้กลับมาเป็น ส.ส.เต็มตัว

และกลับมาแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเต็มตัว หลังอัดอั้นมานาน

ทั้งการเป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้านที่จะขับเคลื่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปกองทัพและฝ่ายความมั่นคง

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติอะไรออกมาตามความคาดหมาย

นั่นคือ นายธนาธรไม่รอด

เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติข้างมาก 7 ต่อ 2

ให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่

และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย หรือวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเลื่อนรายชื่อ ส.ส.ในลำดับถัดไปแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วัน

โดยศาลรัฐธรรมนูญตีตกข้อโต้แย้งของนายธนาธรทิ้งหมด

เช่นที่ระบุว่า กระบวนการไต่สวนของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อโต้แย้งที่ 2 ซึ่งนายธนาธรระบุว่า บริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเลิกกิจการต้องไปจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

แต่ไม่ได้ไปจดแจ้ง ทำให้บริษัทยังสามารถประกอบกิจการอีกเมื่อไรก็ได้

ข้อโต้แย้งที่ 3 นายธนาธรอ้างว่า ในวันสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายธนาธรไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย แล้ว เพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพรตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า แบบสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้าในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอยู่

เช่นเดียวกับประเด็นเช็คค่าหุ้นวงเงิน 6,750,000 บาท, การโอนหุ้นให้หลานชาย, รวมถึงวันโอนหุ้น มีข้อพิรุธหลายจุด รวมทั้งไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานของผู้ถูกร้อง

ดังนั้น จึงฟังได้ว่า นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย และประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

จึงทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลง

การที่ศาล รธน.ตัดสิทธิการเป็น ส.ส. นั่นหมายถึง เขาก็จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.อย่างเป็นทางการทันที

ซึ่งนายธนาธรหวังว่า นั่นจะเป็นที่สุดแห่งการฝันร้ายทางการเมืองแล้ว

คือเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวพันกับการที่จะใช้เป็นเงื่อนไขตัดสิทธิทางการเมืองของตน และนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่

แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามที่นายธนาธรหวัง

เพราะคาดว่าคงจะมีคนกดดันให้ขยายผลต่อไป

และ กกต.เองระบุว่ากำลังพิจารณาว่านายธนาธรจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่

ฐานมีเจตนาหรือจงใจ ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง หรือไม่

ซึ่งหากขยายผลไปถึง

นั่นจะเท่ากับนายธนาธรกระทำการทำผิด ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 มีการบัญญัติว่า

ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี”

จะเห็นว่า มีโทษหนัก จำคุกถึงสิบปี และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี

ซึ่งนั่นเท่ากับอนาคตคทางการเมืองของนายธนาธรแทบจะดับวูบลงทันที

เชื่อว่าจะมีการขยายผลเรื่องนี้ต่อไปแน่นอน

 

ขณะเดียวกัน เรื่องนี้จะบานปลายไปถึงขั้นการยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

ก็ต้องพยายามโยงให้ไปถึงมาตรา 132(3) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งบัญญัติโดยสรุปว่า

“หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรครู้เห็น ปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.เสนอคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย”

ซึ่งก็หากมีความพยายามลากไปให้ถึง และก็คงมีคู่อริดำเนินการแน่

นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่คงต้องต่อสู้กันอย่างเต็มที่

และแบบไร้ทางเลือก

นั่นก็คือ ไม่ว่าจะเลือกอยู่เป็น หรือเลือกอยู่ไม่เป็น ก็ต้อง “อยู่”

อยู่ เพื่อสู้ให้มีจุดยืนทางการเมืองให้ได้

มิฉะนั้นก็จะเป็นเรื่องเศร้าของฝ่ายสนับสนุน ที่พรรคการเมืองซึ่งฟูมฟักมาไม่ถึงหนึ่งปี แม้จะพบความรุ่งโรจน์รวดเร็ว น่าทึ่ง

แต่ก็ต้องเผชิญกรรม ถูกกำจัดให้พ้นจากสนามการเมืองไปอย่างรวดเร็ว

สะท้อนให้เห็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของแนวทางใหม่ ให้กับแนวทางอนุรักษ์ที่พิสูจน์ตัวแล้วว่าหยั่งลงในสังคมไทย ลึกขนาดไหน

ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกสำหรับนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ ต้อง “กลืนเลือด”

อยู่ต่อไป!!