วิรัตน์ แสงทองคำ : “เอสซีจีแพ็กเกจจิ้ง” เมื่อธุรกิจปรับตัวให้รอดในยุคอันไม่แน่นอน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวที่น่าสนใจ ว่าด้วยธุรกิจหนึ่งในเครือเอสซีจี เต็มไปด้วยตำนาน ว่าด้วยการปรับตัว ท่ามกลางกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

ล่าสุด เอสซีจีแพคเกจจิ้ง หนึ่งในธุรกิจหลักของเอสซีจี ประกาศเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันพอสมควรทีเดียว

ดูกว้างๆ เป็นไปตามกระแส เครือข่ายธุรกิจใหญ่ผู้ทรงอิทธิพล กำลังพาเหรดกันเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เปิดฉากโดยกิจการในเครือทีซีซี-บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เพิ่งเข้าซื้อ-ขายในตลาดหุ้นแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว (10 ตุลาคม 2562) ตามมาติดๆ กิจการลักษณะคล้ายกัน เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ เป็นกิจการหนึ่งในเครือบุญรอดบริวเวรี่-บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ได้รับอนุมัติแล้ว เพิ่งผ่านขั้นตอนเสนอขายหุ้นก่อนเข้าตลาดหุ้นไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ (1-5 พฤศจิกายน 2562)

ขณะกลุ่มเซ็นทรัลได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ–บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุด กำลังอยู่ในขั้นตอนต้นๆ การยื่นเรื่อง (Filing) เข้าตลาดหุ้น

กรณีเอสซีจี ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในตลาดหุ้นมาอย่างยาวนาน (ตั้งแต่ปี 2518) ได้ทำหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562) ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า “ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) และอนุมัติการนำหุ้นสามัญของ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นที่จะเสนอขายข้างต้นเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้ว”

ที่น่าสังเกต มีสาระที่สำคัญเชื่อว่าแตกต่างจากกรณีอื่นๆ ด้วยเน้นว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (บริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ) ซึ่งในความวงกว้าง คือ เอสซีจี “จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGP และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม โดยบริษัทจะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน”

 

ธุรกิจแพคเกจจิ้งเป็นหนึ่งในสามธุรกิจหลักเอสซีจี เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองธุรกิจ คือเคมีคอลล์ กับซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เมื่อพิจารณาข้อมูลผลประกอบการ (อ้างจากรายงานประจำปี 2561) รายได้จากการขาย มีสัดส่วนเพียง 18% โดยธุรกิจเคมีคอลล์ ครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 46% ขณะธุรกิจดั้งเดิมอันเป็นตำนาน (ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง) คงสัดส่วนพอสมควร 36%

เฉพาะผลกำไรในปีที่แล้ว (ปี 2561) ธุรกิจเคมีคอลล์ทำไว้มากทีเดียว มีสัดส่วนถึง 65% ขณะที่แพคเกิจจิ้ง มีสัดส่วนเพียง 14% อย่างไรก็ตาม มีสัดส่วนมากกว่าธุรกิจดั้งเดิมซึ่งมีกำไรในสัดส่วนเพียง 13% ความเป็นไปแตกต่างจากปีนี้ (ผลประกอบการ 9 เดือนปี 2562) พอสมควร ธุรกิจแพคเกจจิ้งคงสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่สามารถทำกำไรได้มากขึ้น มีสัดส่วนถึง 21% (อ้างจาก presentation ในงาน Asia Energy and Utilities Conference, Hong Kong 11-12 November 2019) ทั้งนี้ธุรกิจเคมีคอลล์กำลังอยู่ในวงจรขาลง อันเนื่องด้วยความผันผวนดีมานด์ของโลก

ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากรายได้ จาก 59,135 ล้านบาทในปี 2556 มาเป็น 87,255 ล้านบาทในปี 2561

ขณะที่กำไร มีอัตราการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีมานี้ จากระดับประมาณ 3,500 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2559 มาเป็น 6,319 ล้านบาทในปี 2561

 

ในช่วงดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า มีความสัมพันธ์โดยตรงกับบทบาทของบุคคลสำคัญ-รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีคนปัจจุบัน

“ว่าด้วยภาพรวมแล้ว รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มีความรู้และประสบการณ์ในเอสซีจี ว่าด้วยยุทธศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นผู้เหมาะสม สืบทอดการบริหารในยุคที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น

เขามีพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมอย่างดี ทั้งในฐานะศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ ถือว่าอยู่ในวงในเครือข่ายและสายสัมพันธ์ที่ยังมีพลังในเอสซีจี กับเครือข่ายอันกว้างขวางในแวดวงธุรกิจ ทั้งผ่านการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารอุตสาหกรรมในต่างประเทศ (MS.IE. University of Texas-Arlington) ที่สำคัญเป็นผู้มี MBA Harvard Business School คนที่สองของเอสซีจี แม้บางคนจะวิจารณ์เส้นทางของเขามาจากกระบวนการส่งต่อบทบาทของ MBA Harvard คนที่หนึ่ง (ชุมพล ณ ลำเลียง) ซึ่งสร้างตำนานและคงอิทธิพลในเอสซีจี แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าเขาเองมีความพร้อมมากกว่าคนอื่นๆ ในเครือข่ายและสายสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจระดับโลก”

ผมเคยกล่าวถึงรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ไว้เมื่อปี 2554 ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2559-ปัจจุบัน) ในช่วงนั้นเขาเป็นผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจกระดาษ (ปี 2554-2558)

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผ่านประสบการณ์ในฐานะพนักงานทั่วไปประมาณ 7 ปี ก่อนก้าวกระโดดไปบริหารกิจการในต่างประเทศ (TileCera Inc. USA.) ประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจเซรามิกในสหรัฐ แม้เป็นบทเรียนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวในการบุกเบิกธุรกิจในต่างประเทศ แต่มีความสำคัญต่อเนื่องกับบทบาทในการวางแผนและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของเอสซีจีในช่วงเผชิญปัญหา และการปรับตัวอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

จากผู้ดูแลหน่วยงานวางแผนกลาง สู่ตำแหน่ง CFO (2543-2553) แม้เป็นประสบการณ์ที่ต่อเนื่องสำคัญมาก แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่กว้างขวางเท่ากับการบริหารกลุ่มธุรกิจหลัก โดยเฉพาะกับช่วงสำคัญของธุรกิจกระดาษ กำลังผ่านช่วงเวลาการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจ ดูยังไม่ลงตัวนัก

ช่วงเวลานั้นโครงสร้างธุรกิจกระดาษ (เอสซีจีเปเปอร์) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนซึ่งสัมพันธ์กัน หนึ่ง-ธุรกิจสวนป่า เยื่อกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียน มีบางช่วงเรียกว่า Fibrous Chain สอง-ถือเป็นธุรกิจค่อยๆ มีความสำคัญมากขึ้นๆ เรียกว่า Packaging Chain ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ยุทธศาสตร์ธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2542 โดยมองว่า Fibrous Chain มีภารกิจหลักในการสนับสนุน Packaging Chain ขณะที่ Packaging Chain ถือว่ามองแนวโน้มไว้แล้วระดับหนึ่งว่า มีโอกาสขยายกิจการให้เติบโตอีกมาก

และแล้วจากนั้น เอสซีจีเปเปอร์เปิดฉากแผนการเชิงรุกทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างท้าทายหลายกรณี

 

ปี2544–เข้าครอบงำกิจการบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ขยายฐานธุรกิจเยื่อกระดาษซึ่งเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น

ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ตำนานธุรกิจเยื่อกระดาษอีกเรื่องราวหนึ่งของไทย โรงงานเก่าก่อตั้งขึ้นในปี 2518 ในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เริ่มเดินเครื่องผลิตในปี 2525 ในความพยายามริเริ่มบางสิ่งบางอย่างที่อ้างว่าเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากปอแก้วแห่งแรกของโลก ถือเป็นโครงการระดับชาติ มีภาครัฐเข้ามาสนับสนุน และร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย

กิจการประสบปัญหาตลอดมา โดยเฉพาะทั้งเปลี่ยนแผนการผลิตจากวัตถุดิบต่างๆ จากปอไปสู่ไผ่ และยูคาลิปตัส ในช่วงทศวรรษแรก ทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูจะเป็นอุตสาหกรรมซึ่งไม่กลมกลืนกับวิถีชุมชน

ในที่สุดผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ตัดสินใจขายกิจการ เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับมุมมองภาพใหญ่ธุรกิจกระดาษในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

กลางปี 2544 เอสซีจีได้เข้าไปซื้อหุ้นฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ต่อจาก Ballapur Group ผู้ถือหุ้นใหญ่ สัญชาติอินเดีย จากนั้นได้ซื้อหุ้นที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายอื่น จนได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปลายปีเดียวกัน

ปี 2547-ขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคครั้งแรก เปิดฉากที่ประเทศฟิลิปปินส์ เข้าครอบงำกิจการ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC)

จากกิจการเยื่อและกระดาษ ตั้งขึ้นโดยผู้ผลิตซีเมนต์ในฟิลิปปินส์หลายราย เพื่อผลิตถุงบรรจุซีเมนต์ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กับกระดาษคราฟท์เปลี่ยนแปลงไป เอสซีจีเข้าไปเกี่ยวข้องกับ UPPC ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ โดยเข้าไปถือหุ้น 34% ใน UPPC ช่วงปี 2539 จนกระทั่งในปี 2547 เอสซีจีเปเปอร์ เข้าถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ (99%)

ปี 2550–บุกเบิกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในเวียดนาม

โครงการใหม่ร่วมทุนในธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ — Vina Kraft Paper Co., Ltd. (VKPC) ก่อตั้งขึ้นในต้นปี 2550 ระหว่างเอสซีจีเปเปอร์กับ Rengo แห่งญี่ปุ่นในสัดส่วน 70:30 ก่อตั้งโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ใกล้ๆ กับ Ho Chi Minh City เดินเครื่องผลิตในกลางปี 2552

 

ในช่วงรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เป็นผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกระดาษไม่ปรากฏความหวือหวา ท้าทายสู่สายตาสาธารณชนเช่นช่วงก่อนหน้านั้น เป็นไปได้ว่าเป็นช่วงการปรับตัว ปรับโครงสร้างภายในให้เข้าที่เข้าทาง จนมาถึงช่วงท้ายๆ จึงปรากฏจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

กลุ่มธุรกิจกระดาษมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งตั้งใจบันทึกไว้ว่า “ปรับแบรนด์จากเอสซีจีเปเปอร์ เป็นเอสซีจีแพคเกจจิ้ง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558” (รายงานประจำปี 2558) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์สำคัญครั้งหนึ่ง เกี่ยวข้องกับธุรกิจซึ่งมีตำนานยาวนานถึง 4 ทศวรรษ

ทั้งนี้ เชื่อมโยงมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งซึ่งกำลังจะมาถึง