ธงทอง จันทรางศุ | คอลัมน์หลังลับแลมีอรุณรุ่ง : ตอน เมรุ

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเพิ่งเดินทางกลับจากงานสวดพระอภิธรรมศพที่วัดเทพศิรินทร์ถึงบ้านเดี๋ยวนี้เอง เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า วัดที่ชาวกรุงเทพฯ ไปฟังสวดพระอภิธรรมงานศพก็วนเวียนอยู่ไม่เพียงไม่กี่วัด

น้อยครั้งมากที่เราจะไปฟังสวดพระอภิธรรมในวัดที่อยู่ใจกลางพระนครบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์

เช่น วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดชนะสงคราม

เรื่องนี้มีตำนานที่จะเล่าสู่กันฟังครับ

ตั้งแต่เก่าก่อนมา วัดที่อยู่ในบริเวณที่ถือกันว่าเป็นเขตภายในกำแพงพระนคร จะไม่มีเมรุปลงศพ อีกทั้งคนสมัยก่อน ถ้าพอมีฐานะก็มักจะตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศลอยู่ที่เรือนของตนเอง

จนถึงเวลาจะฌาปนกิจหรือเผาศพนั่นแหละ จึงจะเคลื่อนศพไปสู่วัดที่มีเมรุเผาศพ

ส่วนผู้ที่บ้านเรือนไม่พร้อม จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลก่อนนำศพไปตั้งสวดพระอภิธรรมที่วัดเลยตั้งแต่ต้น

ถ้าเป็นวัดที่มีเมรุ ถึงเวลาจะเผาศพก็ไม่ต้องย้ายวัด

แต่ถ้าเป็นวัดที่ไม่มีเมรุ ก็ค่อยคิดอ่านย้ายวัดไปเผาศพกันที่วัดอื่นต่อไป

บริเวณกำแพงพระนครที่ว่านี้ ถ้าว่ากันในรายละเอียดให้พอเห็นแนวเขตก็อธิบายได้ว่า ด้านทิศตะวันตกนั้นถือแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพรมแดน

ทางฝั่งด้านธนบุรีนั้นถือว่าอยู่นอกพระนคร

ทางด้านเหนือสุดก็ให้สังเกตป้อมพระสุเมรุเป็นหลัก ตรงนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของคลองคูเมืองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทุกวันนี้เรียกชื่อว่าคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่าง

เดินมาตามแนวถนนพระสุเมรุยังเห็นกำแพงพระนครอยู่บริเวณไม่ไกลจากวัดบวรนิเวศวิหารเท่าไรนัก กำแพงที่ว่านี้แต่เดิมยืดยาวตลอดไปจนถึงกำแพงพระนครที่อยู่ตรงบริเวณด้านหน้าวัดราชชนัดดารามและวัดเทพธิดาราม แต่เดี๋ยวนี้ขาดตอนเสียแล้ว

ห่างจากหน้าวัดเทพธิดารามไปไม่ไกลนัก เป็นตำบลสำคัญของพระนครมาแต่เดิมที่เรียกว่า ประตูผี

ทุกวันนี้คนรู้จักแต่ร้านก๋วยเตี๋ยวผัดไทยตรงนั้น ว่าเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวผัดไทยประตูผี แต่ไม่รู้เสียแล้วว่าตรงนั้นเคยมีประตูผีอยู่จริงๆ

ที่เรียกว่า ประตูผี เพราะเป็นประตูเมืองสำหรับนำศพผู้ที่วายชนม์ภายในกำแพงพระนครออกไปเผาหรือฌาปนกิจที่เมรุที่อยู่ด้านนอกพระนคร วัดยอดนิยมครั้งนั้นคือวัดสระเกศ เราเคยได้ยินกันใช่ไหมครับว่าบางคราวเกิดโรคระบาดใหญ่ เช่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ศพที่นำไปไว้ที่วัดสระเกศมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะเผาได้ทันเวลา ต้องทอดทิ้งซากอสุภนั้นไว้เป็นเหยื่อแก่แร้งวัดสระเกศ ที่มาเฝ้ารอทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขะมักเขม้น

มีข้อยกเว้นว่าผู้ที่สามารถปลงศพหรือเผาศพในพระนครได้ไม่ใช่สามัญชนนะครับ แต่ต้องเป็นพระบรมศพหรือพระศพของเจ้านายชั้นสูง

หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษจริงๆ

และสถานที่สำหรับภารกิจพิเศษนี้ก็ไม่ใช่ที่อื่นใด นอกจากท้องสนามหลวงที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีอย่างที่เมื่อตอนเรียนหนังสือในโรงเรียน เราก็ทราบแล้วว่าโบราณนานมาท่านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าทุ่งพระเมรุ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นท้องสนามหลวงในสมัยรัชกาลที่สี่นี่เอง

พระเมรุกลางเมืองที่สร้างขึ้นที่ท้องสนามหลวง ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างถาวรที่จะปล่อยให้ค้างคาอยู่เช่นนั้น เมื่อเสร็จงานแต่ละคราวไปแล้ว หากแต่จะต้องรื้อลงทุกครั้งไปเพราะถือว่าไม่เป็นมงคลที่จะมีพระเมรุอยู่กลางพระนครเช่นนั้น

ธรรมเนียมอย่างนี้เห็นจะมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นพระนครราชธานีแล้ว เพราะชาวเมืองเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่พบเห็นแบบธรรมเนียมเช่นว่านั้นมาแต่เดิมด้วยกันทั้งสิ้น การนำขนบธรรมเนียมสมัยอยุธยามาปฏิบัติในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ส่วนเหตุผลว่าทำไมจึงมีข้อกำหนดอย่างนี้ ผมนึกเดาเอาเองว่าน่าจะเป็นเหตุผลในเรื่องอนามัยเป็นสำคัญที่สุด และอาจจะรวมไปถึงเรื่องความสะดวกในเรื่องอื่นๆ ด้วย

อย่าว่าแต่พระเมรุกลางเมืองที่จะสร้างขึ้นทุกคราวที่ต้องใช้งานเลยครับ แม้เมรุที่อยู่ตามวัดต่างๆ แต่ไหนแต่ไรมาถ้าเจ้าภาพเป็นผู้มีบุญวาสนาและมีกำลังทรัพย์ เจ้าภาพก็นิยมจะสร้างเมรุเป็นการเฉพาะงานของตัวเอง เรียกว่ามีเมรุเป็นแบบของเราโดยเฉพาะ ไม่ซ้ำใคร ไม่ง้อใครว่าเช่นนั้นเถิด

การปลูกสร้างเมรุถาวรในพระอารามสำคัญสำหรับใครก็ได้มาใช้ประโยชน์มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น ทางฝั่งธนบุรีมีมาแต่เดิมที่วัดอรุณราชวรารามแห่งหนึ่ง และวัดสุวรรณารามอีกแห่งหนึ่ง

สองแห่งนี้มีมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ส่วนทางฝั่งกรุงเทพฯ หรือฝั่งพระนครเพิ่งจะที่วัดสระเกศเป็นครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่าเมรุปูนวัดสระเกศ เมรุปูนทุกแห่งนอกจากเมรุซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดแล้ว ยังมีอาคารประกอบเรียงรายโดยรอบ เช่น ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงครัวและอื่นๆ

เมรุปูนเช่นว่านี้ ใช้ประโยชน์ได้แม้เป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน นั่นหมายความว่า งานที่จะเสด็จมาพระราชทานเพลิงนี้มีได้ทั้งพระศพเจ้านายและศพผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นข้าราชการสำคัญด้วย

เมื่อมีเมรุปูนเกิดขึ้นเป็นแห่งที่หนึ่งที่สองที่สามแล้ว ความนิยมจะสร้างเมรุของแต่ละงานตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไป จนเดี๋ยวนี้วัดทั้งหลายในกรุงเทพมหานครของเราล้วนแต่มีเมรุเป็นการถาวรแล้วทั้งสิ้น

แต่ขนบธรรมเนียมเรื่องที่จะไม่เผาศพในกำแพงพระนครก็ยังมีอยู่นะครับ จะโดยเรารู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม

เพราะฉะนั้น วัดที่อยู่ในกำแพงพระนคร ถ้าขานชื่อให้ครบก็น่าจะได้แก่ วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ วัดชนะสงคราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชนัดดาราม วัดเทพธิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดราชบุรณะ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ วัดทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มีงานเผาศพเป็นอันขาด

แต่เพียงแค่ข้ามคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่างไปนิดเดียว เห็นไหมครับว่าวัดสังเวชวิศยารามก็ดี วัดสระเกศก็ดี ล้วนแต่มีเมรุเผาศพทั้งสิ้น

แม้ในรัชกาลที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดคูพระนครขึ้นใหม่อีกชั้นหนึ่ง คือคลองผดุงกรุงเกษม แต่แนวกำแพงพระนครก็ยังคงอยู่ตามเดิม มิได้มีการสร้างกำแพงพระนครใหม่ขึ้นอีกวงรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมที่ว่าจะไม่เผาศพในพระนครก็คงอยู่ในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในรัชกาลที่หนึ่งไม่ได้ขยับขยายออกไปถึงพื้นที่ใหม่ที่อยู่นอกกำแพง แต่อยู่ในวงรอบของคลองผดุงกรุงเกษมแต่อย่างใด

วัดมกุฏกษัตริยารามก็ดี วัดโสมนัสวิหารก็ดี วัดเทพศิรินทราวาสก็ดี และอีกหลายวัดที่เป็นวัดยอดนิยมแห่งการเผาศพสำหรับชาวกรุง จึงไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามดังนี้แล

วันนี้ไปงานศพของคนอื่นมา วันหน้าก็ต้องถึงงานของผมบ้าง

วัดไหนดีหนอ

เขาลือกันตั้งแต่บัดนี้ว่างานของผมหนังสือน่าจะดีนะครับ อิอิ