ฉัตรสุมาลย์ : วัดราชประดิษฐาราม 

ช่วงหนึ่งเดือนหลังออกพรรษา เป็นช่วงที่พระทั้งภิกษุและภิกษุณีสงฆ์งานเข้าพอสมควร เพราะเป็นสมัยของการทอดกฐิน

เรื่องการทอดกฐินเป็นเรื่องของญาติโยม แต่ที่พระต้องยุ่งด้วย เพราะเป็นเจ้าของสถานที่ ต้องตระเตรียมวัดวาอารามให้มีพื้นที่เพียงพอกับการต้อนรับคณะที่จะมาในงานทอดกฐิน

ซึ่งสำหรับหลายๆ วัด ต้องถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปี

แต่ละวัดจะรับกฐินได้ครั้งเดียว แต่ชาวพุทธเราก็นิยมไปร่วมทอดกฐินวัดโน้นวัดนี้ บางทีก็อาศัยเอาบุญบังหน้าไปทัศนาจรในจังหวัดที่ไม่เคยไปด้วยก็มี ไม่ว่ากัน

วัตรทรงธรรมกัลยาณี อารามของภิกษุณีก็ทอดกฐินไปแล้วในอาทิตย์แรกเลย คือวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

คราวนี้ เมื่อเสร็จที่วัตรแล้วก็มีความโล่งโปร่งใจไปร่วมทอดกฐินวัดอื่นบ้าง

 

วัดราชประดิษฐาน อ.หัวรอ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น เข้าคิวรออยู่เลยค่ะ ท่านพระครูฯ เจ้าอาวาสท่านส่งข่าวมาบอกว่า ที่วัดท่านจะทอดกฐินวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน

ครอบครัวของผู้เขียนมีความผูกพันกับวัดนี้มาช้านาน

ตั้งแต่ พ.ศ.2495 เมื่อทั้งบิดา (ก่อเกียรติ ษัฏเสน) และมารดา (วรมัย กบิลสิงห์ ษัฏเสน) ได้ไปซ่อมพระนอนที่นั่น ที่เรียกว่าหลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาวท่านนอนอกทะลุอยู่ เพราะฝีมือของชาวไทยเองนั่นแหละ ที่ไปขุดหาสมบัติกัน ด้วยความเชื่อว่า ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีจะล่มด้วยฝีมือของทหารพม่า ชาวบ้านที่มีทรัพย์สมบัติพากันนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาฝังไว้ในวัด ด้วยหวังว่าพม่าซึ่งเป็นชาวพุทธด้วยกันจะเว้นการโจมตีวัด ปรากฏว่าพม่าก็ไม่เว้นแม้แต่วัด

แต่ร่องรอยความเสียหายที่เราเห็นที่วัดราชประดิษฐานเป็นฝีมือคนไทยในสมัยหลัง

ปีนี้ 2562 เมื่อท่านธัมมนันทาแวะเข้าไปกราบพระประธานที่วัดนี้ ก็มีประวัติอีก เพราะมารดาของผู้เขียนได้สร้างพระประธานในพระอุโบสถที่วัดนี้เช่นกัน

เคยเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้

มาคราวนี้ เราพบว่าหลวงพ่อขาว พระนอนที่บรรพชนได้บูรณะไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2495 นั้นชำรุด ต้นแขนแตกร้าวเป็นรอยชัดเจน

ท่านธัมมนันทาจึงเรียนท่านเจ้าอาวาสขอให้ช่วยเรียกช่างมาซ่อมให้ด้วย โดยจะขอเป็นเจ้าภาพ

ประมาณ 1 เดือนผ่านไป ท่านพระครูฯ ท่านก็ส่งรูปมาให้ดูทางไลน์ว่าช่างกำลังซ่อมแซมหลวงพ่อขาวแล้ว จึงเป็นที่มาว่า ต้องไปร่วมทำบุญกันตามสัญญา

พอดีที่วัดราชประดิษฐานจะมีการทอดกฐินวันที่ 3 พฤศจิกายน ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงถือโอกาสนี้นำปัจจัยไปสมทบในการทอดกฐินด้วย

แล้วเราควรจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่วัดได้บ้างหนอ (เสียงรำพึงดังๆ)

 

วัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง แต่ดูเหมือนว่าเราก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่า พระเทียรราชาทรงผนวชที่วัดนี้ มีชื่อวัดปรากฏตั้งแต่คราวนั้น ทรงลาผนวชขึ้นครองแผ่นดิน เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิใน พ.ศ.2091

ดูเหมือนเราจะรู้เรื่องราวเพียงนี้จริงๆ

แต่ผู้เขียนสงสัยมากเลยว่า วัดนี้ต้องมีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ได้ดูไกล ดูแค่ชื่อวัดนั่นแหละ ต้องเป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง เพียงแต่ไม่ทราบว่าเป็นพระองค์ใด และต้องเป็นวัดที่สำคัญ เจ้านายจึงทรงออกผนวชกันที่วัดนี้

การกล่าวถึงครั้งแรกที่มีคือ พ.ศ.2091 ปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขึ้นครองราชย์

โดยตรรกะ วัดนี้ต้องมีมาแล้วนานกว่า พ.ศ.2091 และกว่าที่จะเจริญเติบโตเป็นวัดที่มีความสำคัญ ก็ต้องมีมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี เราจะลองสมมุติว่า วัดนี้มีมาแล้วในพุทธศตวรรษที่ 21

บุญอย่างหนึ่งที่อยากทำ คือรักษาประวัติของวัดไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เวลาไปศึกษาวัดใด ผู้เขียนจะถามหาหนังสือประวัติของวัดนั้นๆ ปรากฏว่าน่าจะไม่ใช่ความสนใจของทางวัด เริ่มต้นตั้งแต่เจ้าอาวาสทีเดียว หากท่านไม่มีความตระหนักตรงนี้ หนังสือประวัติวัดเป็นเรื่องหายาก ขอบอก

เออ เรามาช่วยกันรวบรวมประวัติวัดราชประดิษฐานกัน เอากำลังแรงตรงนี้ถวายเป็นพุทธบูชา

 

ขอให้ลูกศิษย์ที่กำลังอินกับประวัติศาสตร์อยุธยามากช่วยค้นหาหลักฐานชั้นต้นให้จากอากู๋ (Google) ถ้าได้อาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ไทยมาช่วยตรงนี้จะวิเศษขนาดไหน คิดต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ ถวายวัดให้พระท่านได้แจกญาติโยม แทนที่จะเป็นของขลัง ควายธนู อะไรเทือกนั้น

วัดนี้เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือก ฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร คลิงประตูข้าวเปลือกนี้ บริเวณใกล้วัดราชประดิษฐาน ยังปรากฏซากกำแพงเมืองส่วนหนึ่ง แต่ตัวคลองถูกถมเป็นพื้นที่วัดไปแล้ว อีกทั้งยังรวมเอาวัดท่าทรายที่เคยอยู่ตรงข้ามปากคลองเข้ามาเป็นส่วนของวัดราชประดิษฐานด้วย

คลองประตูข้าวเปลือก (ตอนบน) และคลองประตูจีน (ตอนล่าง) เป็นชื่อคลองโบราณบนเกาะเมืองในกรุงเก่า เชื่อมแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเส้นทางหลักที่ติดต่อระหว่างเกาะเมืองกับนอกเกาะเมือง

ที่หน้าพระอุโบสถวัดราชประดิษฐานยังมีป้อมโบราณ เรียกว่าป้อมประตูข้าวเปลือก เป็นป้อมที่ก่ออิฐถือปูน สร้างอยู่สองฟากของปากคลอง รอบเกาะเมือง มีป้อมปราการ 29 ป้อม ยังเหลือหลักฐานเพียงสองป้อมคือ ป้อมเพชร (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง) และป้อมประตูข้าวเปลือกที่วัดราชประดิษฐานนี้

นี่เป็นหลักฐานทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ

 

คราวหนึ่ง พงศาวดารเล่าถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพระองค์ทรงลดยศสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ให้ไปอยู่เรือนเสาไม้ไผ่ที่ริมวัดท่าทราย มีข้ารับใช้เพียงสองคน ก็คือพื้นที่ในวัดราชประดิษฐานในปัจจุบัน แต่สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ทรงก่อการกบถก็เลยถูกสำเร็จโทษไปเสียก่อน

สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.2077-2089) มีพระราชโอรสที่เกิดจากท้าวศรีสุดาจันทร์ คือพระศรีศิลป์ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ขึ้นครองราชย์ก็มีพระประสงค์ที่จะให้พระศรีศิลป์ ซึ่งมีอายุ 14 พรรษาได้ออกบวชเป็นสามเณรที่วัดราชประดิษฐานแห่งนี้ ที่พระองค์เองก็เคยประทับอยู่ในขณะที่เป็นพระภิกษุ แต่ปรากฏว่าพระศรีศิลป์คิดการกบถ ก็เลยสิ้นพระชนม์ไปก่อน

ในขณะที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ ที่โปรดเสวยปลาตะเพียน ครองราชย์ช่วง 2251-2275) ประชวรหนัก ทรงตัดสินพระทัยที่จะมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระโอรส แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชา ไม่ทรงยินยอม เพราะเห็นว่าควรเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (พระโอรสองค์โตของพระเจ้าท้ายสระ) เกิดสงครามแย่งชิงบัลลังก์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เป็นฝ่ายชนะ จึงทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นหลานอา แล้วขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เหตุการณ์แย่งชิงบัลลังก์ครั้งนั้น ก็มีการตั้งค่ายป้องกันที่คลองประตูข้าวเปลือก การรบกันระหว่างสองฝ่าย มีป้อมประตูข้าวเปลือกที่วัดราชประดิษฐานแห่งนี้เป็นแนวรบ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีปรากฏที่ผู้เขียนเองประทับใจมาก คือเรื่องราวที่พระเจ้าอุทุมพรเสด็จออกทรงผนวชที่วัดนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ (ครองราชย์ 2301-2310) ท่านเคยลาผนวชออกมาช่วยชาติแล้วครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤต ชาวบ้านเดือดร้อน ถึงกับเขียนจดหมายหย่อนใส่ในบาตรของท่านให้ท่านพิจารณาลาผนวชออกมาช่วยบ้านเมืองอีกครั้ง

เมื่อเสียกรุงนั้น พม่าเกณฑ์ชาวไทย รวมทั้งพระเจ้าอุทุมพรที่ทรงผนวชอยู่นั้นจากวัดราชประดิษฐานแห่งนี้ไปสู่ประเทศพม่า

หลังจากเสียกรุง พ.ศ.2310 ก็เลยไม่มีเรื่องราวที่กล่าวถึงวัดราชประดิษฐานอีกเลย

 

พ.ศ.2495 วัดราชประดิษฐานในความทรงจำของผู้เขียนนั้น พระอุโบสถร้าง ป้อมข้าวเปลือกอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถยังคงปรากฏให้เห็น

ศาลาไม้หลังใหญ่ สภาพทรุดโทรม ต้องขึ้นบันไดไม้ขึ้นไป พระภิกษุอยู่กันเพียง 2-3 รูป พื้นไม้ไม่สม่ำเสมอ แต่ชาวบ้านก็อาศัยมาทำบุญและไหว้พระสวดมนต์ที่ศาลานี้

มารดาผู้เขียนตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสไปสอนสมาธิให้กับชาวบ้าน จนเป็นที่มาของการบูรณะหลวงพ่อขาว พระนอนที่เล่าไปแล้วข้างต้น

ชาวบ้านลือว่าวัดนี้ผีดุ เออ ก็น่าจะใช่ เพราะเมื่อศึกษาประวัติความเป็นมาก็เห็นว่าเป็นบริเวณของการสู้รบกันยาวนาน

เจ้าอาวาสรูปหนึ่งของวัดนี้ที่เรารู้จักก็ถูกฆ่าตาย

การบูรณะวัดทางกายภาพจึงต้องคู่ขนานไปกับการปฏิบัติที่ดีงามของพระที่มาจำที่วัดนี้ด้วย กว่าจะเป็นวัดที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลายาวนานกว่า 50 ปี

โครงการที่ญาติโยมจะทำได้คือ เร่งกู้คลองข้าวเปลือกที่ยังมีร่องรอยอยู่ภายในวัดให้คงสภาพ พอที่จะสานประวัติศาสตร์ต่อได้ ว่าตรงนี้เคยเป็นคลองข้าวเปลือก เส้นทางการค้าสำคัญในยุคสมัยที่อยุธยารุ่งเรืองในอดีต

สนใจไหมคะ จะได้นำเสนอท่านเจ้าอาวาส ก่อนที่ท่านจะมีโครงการถมคลอง ทำลายประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ

โครงการที่ผู้เขียนคิดดังๆ นี้ จะเป็นความจริงอย่างรวดเร็วโดยแจ้งมาที่พี่ชายใหญ่ของมติชน คือคุณขรรค์ชัย

ขอนำเสนอค่ะ