ทราย เจริญปุระ | รสชาติความทรงจำ

นั่งคิดนอนคิดมาหลายวัน ก็ไม่รู้จะเล่าอะไรที่ไม่เกี่ยวกับแม่

ไอ้ที่เคยพูดกันสนุกๆ ว่า “ถ้าชั้นตายไปแล้วแกจะคิดถึง” นั่นดูเป็นความจริงขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

มันไม่ได้โหยไห้อาลัยอาวรณ์ แต่มันรู้สึกแปร่งๆ แหว่งๆ ที่พอจะนึกอย่างจริงจังถึงช่วงสุดท้ายที่เราไปไหนมาไหนด้วยกันจริงๆ มันกลับคิดไม่ออก

ที่คิดออกก็เป็นเรื่องไม่ค่อยน่ารัก ไม่น่านึกถึงไปเสียอีก

ทรายรู้ตัวดีว่าดื้อ และเป็นเด็กเลี้ยงยาก เด็กบางคนเป็นแบบนั้น คือดื้อไปทั้งเนื้อตัว กล้ามเนื้อและแววตาฉายประกายความรั้น เรื่องเล็กเรื่องน้อยใดๆ ไม่เคยสนใจจะทำตามกติกา

แม่เองก็ดูจะรู้ดี และยอมให้ทรายดื้อกับอะไรได้หลายๆ อย่าง โดยมีขีดกำหนดไว้ให้บางๆ แต่ขอแค่อย่างเดียวคืออย่าดื้อกับแม่

ซึ่งทรายก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็พอจะกดความดื้อนั้นไว้ข้างใน ร่างกายภายนอกทำตามที่บอกไป และจิตใจก็เตลิดไปถึงความเป็นไปได้ในการได้ทำสิ่งที่แม่ห้าม

หลายคนพยายามถามว่าแม่สั่งเสียอะไรไว้บ้าง หรือคำสอนอะไรของแม่ที่ทรายจำขึ้นใจ

ทรายเข้าใจว่าเขาคงอยากเปิดพื้นที่ให้ทรายได้พูดอะไรดีๆ ซึ้งๆ พูดอะไรให้คนที่กำลังรับชมอยู่ได้ร่วมน้ำตาคลอและคิดถึงครอบครัวของตัวเอง

แต่มันก็ไม่มี

มันไม่มีเรื่องอะไรที่ฝากไว้ หรือคำขออะไรที่ชัดเจน ระหว่างเรามันมีเส้นแบ่งและกติกาอะไรในตัวอยู่แล้ว ที่ชัดเจนโดยไม่ต้องพูดมันออกมา

ทรายพยายามหาหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับแม่ที่สุดมาอ่าน ก็ไปเจอ “วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว”

เออ ดี ดูไม่เข้ากับแม่เลยซักอย่าง

ทั้งขนมปัง ซุป และแมว

ตอนแพ้ท้องทราย แม่บอกอยากกินแต่ฉู่ฉี่ปลาหมอปลาตะเพียน กับน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง

และนานๆ ทีก็จะอยากกินดินขึ้นมาจนน้ำลายสอ

ทรายคิดภาพตามก็เห็นตัวเองเป็นตัวอ่อนดิ้นดุบดิบในท้องแม่ ขณะย่อยสารประกอบจากฉู่ฉี่ อันมีผักบุ้ง พริกแกงแดง และปลาเป็นพื้น กลั้วไปกับน้ำอัดลม และปิดมื้อด้วยดินแห้งๆ ที่ไหลลงมาในท่ออาหาร

โตขึ้นมาทรายไม่ชอบกินอย่างแม่เลย และแม่ก็สงสัยอยู่บ่อยๆ ว่าไอ้อะไรที่ทรายชอบกินนั้นไปได้มาจากไหน เพราะแม่ไม่เคยทำ ไม่เคยซื้อ และไม่ชอบกิน

แต่เอาจริงๆ มันก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับรสชาติ

บ่อยครั้งที่การกินก็เป็นเรื่องของความทรงจำ

หลังๆ มานี้มีร้านขายอาหารหลายร้านที่ใช้คำโฆษณาว่าอร่อยเหมือนรสมือแม่ ซึ่งทรายก็ได้แต่เอามาสงสัยต่อ ว่ารสมือแม่นี่มันคือรสอะไรกันนะ

หวาน เค็ม เผ็ด หรือเป็นแค่การทำให้อาหารธรรมดาๆ จานหนึ่ง ดูพิเศษและเจืออารมณ์ห่วงใย ไม่ใช่ผัดหรือต้มมาอย่างแกนๆ พอให้กินอิ่มท้อง

แต่ส่วนใหญ่ ทรายกลับต้องการอะไรแค่นั้น

ความทำไปตามหน้าที่ ความอัตโนมัติ ความเร็วๆง่ายๆ

อาหารก็ควรเป็นแค่อาหารละมั้ง อะไรที่อยู่ระหว่างมื้อมากกว่าที่น่าสนใจ

แม่ไม่ใช่แม่ครัวเอก ไม่ได้มีความอดทนมากพอจะแกะสลัก หรือประดิษฐ์ประดอยอาหารคำเล็กคำน้อยให้ลูกกินเพื่อไม่ให้ลูกเบื่อ แม่ก็แค่ทำอะไรที่แม่ชอบวนหลักๆ อยู่ไม่เกิน 5 เมนู นอกนั้นก็ข้าวกองบ้าง ข้าวฝีมือพ่อบ้าง ฝีมือพี่เลี้ยงของพวกฉันบ้าง

ถึงเวลากิน ต้องกิน

ไม่กินก็เก็บทิ้งจนกว่าจะถึงมื้อต่อไป

แม่ไม่เคยมาพิร่ำพิไรให้ลูกเห็นคุณค่าของอาหาร ว่าชาวนาเหนื่อยยาก หรือพ่อเสียเงินซื้อมา หรือแม่อุตส่าห์ทำ

แม่เททิ้งกันต่อหน้าแบบนั้นแหละ

ไม่กินก็ไม่ต้องกิน ไม่ลำเลิก ไม่ร่ำไร

มีแค่นี้ก็กินไป

ไม่กินก็ไม่กิน

วันไหนความอยากของเรามาตรงกัน ก็อาจจะได้กินอะไรที่ถูกปากกันทั้งคู่

เล่าแบบนี้อาจดูประหลาดในยุคที่พ่อแม่ทุกคนหมุนไปตามความต้องการและพัฒนาการของลูก

แต่แม่ฉันเขาก็เลี้ยงแบบนี้

หยุดสูบบุหรี่ให้ตอนท้อง แล้วก็สูบต่อ

นมก็ไม่ได้ให้เข้าเต้า ให้กินนมชง

ร้องก็ปล่อยบ้าง อุ้มบ้าง ดีไม่ดีก็ร้องแข่งกับลูกเสียเลย

ฉันไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แค่ขำตอนเขาเล่าย้อนให้ฟังว่าเลี้ยงลูกมาแบบนั้น

พ่อ-แม่ก็คน ไม่ได้ถือบวชเข้าลัทธิลูกเสียหน่อย ไอ้พวกตัวจิ๋วๆ จะเอาอะไรนักหนา กินๆ นอนๆ ไป ยังไม่มีเรื่องราวในชีวิตเสียหน่อย จะมาเจ็บช้ำอะไรมากมายกับโลกรอบตัวอย่างคนเป็นพ่อเป็นแม่เขาเจอมา

เล่าอ้อมไปอ้อมมานี่ก็เพื่อจะบอกว่า หนังสือเล่มที่เลือกให้ไม่เกี่ยวกับแม่ที่สุด ดันเกี่ยวข้องกับแม่อย่างที่สุด

เรื่องของลูกสาววัยกลางคนที่ต้องมารับช่วงบาร์จากแม่ที่ตาย

เธอตัดสินใจเปลี่ยนร้านเหล้าอับบุหรี่ ให้เป็นร้านเรียบโล่ง เสิร์ฟซุปกับขนมปังอุ่นๆ

และใช้ชีวิตกับแมวอีกตัว

แน่นอนว่าในวันที่แม่ของเธอยังอยู่ ลูกสาวแบบนี้ย่อมข้องใจในความเป็นแม่

ความสัมพันธ์ในแบบแม่กับลูกสาวนี่มันช่างเฉพาะตัวเหลือเกิน มันมีทั้งความรัก ความรู้ทัน และความขัดใจกันไปตลอดความสัมพันธ์

มันมีคำถามที่ไม่มีคำตอบ มีข้อสงสัย มีความไม่เข้าใจมากมายอยู่ในพื้นที่ระหว่างเรา

แต่เราก็ลืมกันไม่ได้

และพอย้อนกลับมาหาเหตุผลหรือคำตอบอะไรซักอย่าง ก็ย้อนกลับไปที่บางเหตุการณ์ที่มีแม่ร่วมอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ร่วมในใจหรือมายืนบังคับกันตรงนั้นจริงๆ

สุดท้ายความจำของทรายที่มีกับแม่อย่างชัดเจน ก็เป็นเรื่องโละๆ เละๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ความจำถึงกลิ่นครีมกันแดดเหนียวๆ บนแขนแม่

เพลงอัสนี-วสันต์ที่แม่จะเปิดวนจนเทปยานยืดในรถที่แม่ขับและทรายนั่ง

เสียงกรุ๋งกริ๋งของกระดิ่งหน้าห้องแม่ เวลาทรายเปิดประตูเข้าไปรายงานตัวทุกเช้า-เย็น

ภาพแม่ใส่กระโปรงตัวที่บานที่สุด สวยที่สุด ลงนั่งกับพื้นสนามโรงเรียนเพื่องัดเหล็กตัวยูออก ในวาระที่ทรายสอบตกพลศึกษา และครูประจำวิชาไม่รู้จะให้สอบซ่อมยังไงเพราะไม่เคยมีใครตกอย่างน่าอับอายขนาดนี้มาก่อน เลยสั่งให้ทรายเก็บเชือกที่มีเหล็กตัวยูตอกตรึงกับสนามไว้ออกให้หมด จะได้ผ่านๆ กลับบ้านไปซะ

และที่แม่ต้องมาลงนั่งทำเองนั่นก็เพราะทรายมัวแต่เงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่ทันใจแม่เสียที

แล้วเลยได้เห็นภาพครูพละที่ดุขึ้นชื่อที่สุดในโรงเรียน โบกมือไล่พวกเราอย่างอ่อนใจ จากระเบียงห้องพักครูชั้นสอง ให้แม่ลูกบ้าๆ บอๆ คู่นี้กลับไปได้

รสมือแม่ไม่ได้มีรสเดียว ไม่ได้ส่งต่อผ่านเฉพาะกับข้าวอ่อนละมุนตุ๋นต้ม

แม่บางแม่ก็เป็นรสอื่น

ที่ร้านอาหารแบบไหนก็ส่งต่อรสชาติของความทรงจำเช่นนั้นมาถึงเราไม่ได้

ไม่มีวัน

“วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว” (Pan To Soup To Neko-Biyori) เขียนโดย มูเระ โยโกะ แปลโดย สิริพร คดชาคร ฉบับพิมพ์ครั้งที่1 โดยสำนักพิมพ์แซนด์วิช, กันยายน 2562