เศรษฐกิจ / ปี ’63 ยังเหนื่อยต่อ…โจทย์หินรัฐบาล ต้องงัดสารพัดมาตรการประคองตัว ฝ่าภาวะเศรษฐกิจชะลอ…ปัจจัยเสี่ยงรุม

เศรษฐกิจ

 

ปี ’63 ยังเหนื่อยต่อ…โจทย์หินรัฐบาล

ต้องงัดสารพัดมาตรการประคองตัว

ฝ่าภาวะเศรษฐกิจชะลอ…ปัจจัยเสี่ยงรุม

 

ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

เห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจที่ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าจะเห็นการทยอยปรับมุมมองดีขึ้น กลับเป็นภาพที่มีมุมมองแย่ลงและลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลง

หากเป็นการปรับลดเพียงครั้งเดียวยังพอใจชื้นได้ แต่หากพิจารณาตัวเลขขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะพบว่า ไอเอ็มเอฟปรับประมาณการตัวเลขลงทุกรอบ

และล่าสุดได้ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกลงมาที่ เพียง 3.0% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟยังปรับลดจีดีพีของไทยปีนี้มาอยู่ที่ 2.9%

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลก คือ สงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และปริมาณการค้าทั่วโลก

โดยยังต้องติดตามว่าการเจรจาทางการค้าของสหรัฐและจีน ในระยะที่ 1 ที่จะออกมาจะมีความชัดเจนหรือผ่อนปรนลงมากน้อยเพียงใด

 

สําหรับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักผลกระทบเห็นได้ชัดจากการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก บางเดือนขยายตัวสูงถึงสองหลักกลับติดลบ

ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกและซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง

ทำให้มุมมองของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ในประเทศเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

หน่วยงานทางการอย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดจีดีพีขยายตัว 3.0% หรือในกรอบ 2.7-3.2% ซึ่งตัวเลขกรอบล่างที่ 2.7% สะท้อนว่ายังมีความเสี่ยงอยู่

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดจีดีพีจากที่เคยคาดว่าจะขยายตัวถึง 4.2% ลงมาอยู่ 2.8%

ด้านกระทรวงการคลังคาดจีดีพีปีนี้จะขยายตัวราว 2.8% ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6-3.0%

ภาพที่ออกมาทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. ตัดสินใจได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมรอบเดือนสิงหาคม โดยมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% ลงมาอยู่ที่ 1.50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่ปี 2558

และเป็นการปรับมุมมองดอกเบี้ยนโยบายของไทยจากขาขึ้น ซึ่ง กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ช่วงปลายปี 2561 มาเป็นทิศทางขาลง

เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลกเพื่อพยุงการขยายตัวเศรษฐกิจ และคาดว่าจะช่วยลดภาระของธุรกิจจากการส่งผ่านนโยบายการเงิน

จากนั้น การประชุมในรอบเดือนกันยายน กนง.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% เพราะ กนง.น่าจะรอติดตามผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจก่อน

ทั้งนี้ ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจและการชะลอตัวเศรษฐกิจที่เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น การประชุม กนง.ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี

ถือว่าเป็นการลดดอกเบี้ยลงมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่วิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 หรือเป็นระดับที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น

ซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าว กนง.จึงเลือกที่จะรุกโดยการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แทนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมช่วงเดือนธันวาคม

 

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์สนับสนุนให้เงินทุนไหลออกเพื่อปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ส่งออก บุคคลธรรมดาทั้งการลงทุนและการใช้ชีวิตในต่างประเทศ และผู้ประกอบการค้าทองคำ ซึ่ง ธปท.คาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้ จาก 2 แรงส่ง โดยจะมีการประเมินผลทุก 3 เดือน ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง ธปท.ก็พร้อมที่จะผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก

ฟากนโยบายการคลัง ได้อัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท ไล่เรียงมาตั้งแต่มาตรการด้านสินเชื่อช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มาตรการช่วยเหลือในส่วนของดอกเบี้ย และการพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพโดยการเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

และที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือมาตรการ ชิมช้อปใช้ ทั้งเฟสที่ 1 และ 2 รวมทั้งเฟสที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ และยังมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

 

ในมุมมองของยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเริ่มขยายผลกระทบต่อการจ้างงานและกำลังซื้อในประเทศ

โดยในปีหน้าสถานการณ์สงครามการค้ายังคงอยู่และอาจกระจายตัวมากขึ้นจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ในส่วนนโยบายการเงินคาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตลอดทั้งปี

แต่จะต้องติดตามว่าภาครัฐหรือฝ่ายนโยบายการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นอะไรออกมาบ้าง

อีกเสียงจาก เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขณะนี้ภาครัฐได้พยายามพยุงเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรออกมา รวมทั้งมีการลดดอกเบี้ยนโยบายมาเสริม น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งในปีนี้

แต่ยังขาดแรงส่งจากงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่ออกมา คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ช่วงต้นปี 2563 จึงยังต้องติดตามว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไร

โดยหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ เชื่อว่าภาครัฐพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

โดยไทยยังถือว่ามีขีดความสามารถในการทำนโยบายทั้งการคลังและการเงิน ในส่วนของนโยบายการเงินนอกจากดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถนำออกมาใช้ได้

 

จากคำยืนยันของกระทรวงการคลัง โดยอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า การดูแลเศรษฐกิจใช้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งคงไม่เพียงพอ ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบกัน และพร้อมที่จะมีนโยบายออกมาเพิ่มเติม

ถือว่าสอดคล้องกับที่ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินนโยบายทั้งการเงินและนโยบายการคลัง ทั้งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อประคองการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผลต่อเศรษฐกิจทุกประเทศโดยรวมด้วย

ดังนั้น หากเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือการกระตุ้นจากภายใน เป็นการบ้านโจทย์หินของรัฐบาลที่อาจจะต้องใช้นโยบายการคลังออกมากระตุ้นเสริมอีกระลอกเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้ยังขยายตัวต่อเนื่องได้

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่รุมเร้า…!