พระนเรศวร หรือพระเจ้าบุเรงนอง ใครสร้างเจดีย์ภูเขาทอง ที่กรุงศรีอยุธยา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “ภูเขาทอง” หมายถึง “เขาพระสุเมรุ” ที่ตามคติในพระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าเป็นภูเขาแกนกลางของจักรวาล มีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ตั้งอยู่บนยอดเขา และมีเขาวงแหวนรอบล้อมอีกเจ็ดชั้น

เขาวงแหวนทุกชั้นมีชื่อเรียกเป็นเอกเทศ แต่เรียกรวมๆ กันว่า เขาสัตตบริภัณฑ์ กั้นกลางเขาวงแหวนแต่ละชั้นไว้ด้วยทะเลจักรวาลที่ชื่อว่า สีทันดร

เชื่อกันว่า ชนชาวชมพูทวีปได้รับแรงบันดาลใจจนจินตนาการเป็นชุดเขาจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางมาจากเทือกเขาหิมาลัย ที่ปกคลุมไว้ด้วยหิมะขาวโพลนนั่นแหละนะครับ

หิมะเหล่านี้เมื่อกระทบแสดงอาทิตย์ทั้งเช้าเย็น ก็มีสีสุกปลั่งดั่งสีทอง จึงเรียกว่าภูเขาทอง มีคำศัพท์ในภาษาสันสกฤตอยู่หลายคำ เช่น เหมบรรพต, เหมาทรี, สุวรรณบรรพต, สุวรรณทรี แม้แต่คำว่า “หิมาลัย” เอง ก็แปลตรงตัวได้ว่า “ที่อยู่ของทอง” หรือ “ภูเขาทอง” เพราะเป็นภูเขา

คำว่า “หิมะ” หรือ “เหม” ในภาษาสันสกฤตเอง ก็แปลว่า “ทอง” ด้วยเช่นกัน

 

ในกรุงศรีอยุธยามีวัดชื่อ “ภูเขาทอง” ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่วัดแห่งนั้นมีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งก็เรียกกันว่า “เจดีย์ภูเขาทอง” นี่แหละ

ข้อความในคำให้การขุนหลวงวัดประตูทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากคำให้การแก่ทัพของอังวะ ของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

“พระมหาเจดีย์ฐานที่เป็นหลักกรุง 5 องค์ คือพระมหาเจดีย์วัดสวนหลวงสพสวรรค์ 1 พระมหาเจดีย์วัดขุนเมืองใจ 1 พระมหาเจดีย์วัดเข้าพระยาไทย 1 พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง สูงเส้นห้าวา 1 พระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคล สูงเส้นห้าวา 1”

ข้อความดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ และความสำคัญของเจดีย์ภูเขาทองในสายตาของชาวกรุงศรีอยุธยาและราชสำนักอยุธยา โดยเฉพาะถ้าหากว่า คำให้การข้างต้น เป็นคำให้การของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อย่างสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจริงอย่างที่มีผู้สันนิษฐานไว้

 

ประวัติการสร้างเจดีย์ภูเขาทอง มีอยู่ในคำให้การอีกเล่ม ที่ก็เป็นหนังสือที่พระเจ้ากรุงอังวะให้เรียบเรียงขึ้นจากคำให้การของเชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกนำตัวกลับไปยังกรุงอังวะหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 คือ คำให้การชาวกรุงเก่า ดังที่ได้ปรากฏข้อความระบุว่า

“ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงษาวดียังประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุทธยานั้นได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ 1 ที่ตำบลทุ่งเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”

ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในช่วงที่หนังสือเก่าแก่ฉบับนี้เล่าถึงคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2112 ซึ่งก็มักจะขยายความกันต่อไปอีกด้วยว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดี หรือบุเรงนองนั้น ได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกที่รบชนะกรุงศรีอยุธยาได้ ทั้งๆ ที่ในเอกสารโบราณฉบับนี้ไม่ได้บอกเหตุผลในการสร้างเอาไว้เสียหน่อย?

เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม ตามอย่างที่นิยมในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องระหว่างช่วงก่อนและหลังเสียกรุงครั้งที่ 1 โดยสามารถเปรียบเทียบรูปแบบในทำนองเดียวกันได้กับเจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ และเจดีย์ทรงเดียวกันอีกองค์หนึ่งที่วัดญาณเสน

แต่เจดีย์ภูเขาทองมีลักษณะที่พิเศษกว่าเจดีย์ทั้งสององค์ดังกล่าว เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ส่วนฐานสูงของเจดีย์ภูเขาทอง มีลักษณะลาดเอียงคล้ายกับเจดีย์มอญในยุคเดียวกัน ดังนั้น ข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าจึงมีน้ำหนักอยู่มากเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในจดหมายเหตุของเอนเยลเบิร์ก แกมเฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมัน ประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดีย แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2233 แต่ระหว่างการเดินทางได้แวะพักที่กรุงศรีอยุธยานั้น กลับให้ข้อมูลที่กลับตาลปัตรกันไว้ว่า

“เจดีย์นี้ไทยได้สร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ระลึกอันยิ่งใหญ่ ณ ที่นั้น ที่มีต่อกษัตริย์มอญ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในการรบและกองทัพใหญ่ของพระองค์ถูกตีพ่าย เป็นอันว่าไทยปลดเปลื้องอำนาจของมอญ หลุดพ้นกลับคืนสู่ความเป็นไทยแต่ดั้งเดิมได้อีกในครั้งนั้น”

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เรื่องราวที่หมอแกมเฟอร์หมายถึงคือ เหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช ซึ่งจัดอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลาง ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไทยบางท่านจึงอธิบายว่า เจดีย์ภูเขาทองเป็นงานช่างในแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวร

ถึงแม้ว่าจะเป็นเจดีย์ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของงานช่างมอญอย่างที่เห็นอยู่ทนโท่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ ถ้าจะพิจารณาจากการที่พระนเรศวรเคยประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี เมื่อครั้งที่ยังทรงพระเยาว์

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางเดินทัพในสงครามครั้งที่ว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า สงครามยุทธหัตถีอันโด่งดังในครั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในละแวกทุ่งภูเขาทอง อันเป็นที่ตั้งของทั้งวัด และเจดีย์ภูเขาทองเลยเสียหน่อย ในขณะที่คุณหมอแกมเฟอร์ท่านได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ที่สร้างไว้ในสถานที่ที่ไทยรบชนะ และกษัตริย์มอญสิ้นพระชนม์

สงสัยว่าจะคนละกษัตริย์มอญกันแล้วหรือเปล่า?

 

จากหลักฐานต่างๆ ทำให้ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า เจดีย์ภูเขาทองนั้นถูกสร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวในการเสียกรุงครั้งที่ 1 นั่นแหละ เพียงแต่คำอธิบายที่ทำให้เกิดเป็นชุดความทรงจำของผู้คนนั้นแตกต่างกันออกไป

เราไม่รู้หรอกนะครับว่า อีตาคนไหนในอยุธยาที่ไปบอกคุณหมอแกมเฟอร์ว่า เจดีย์ภูเขาทองสร้างขึ้นตรงที่กษัตริย์มอญสิ้นพระชนม์ แต่เราพอจะเดาได้ว่า พระเจ้ากรุงอังวะคงไม่เลือกตาสีตาสาที่ไหนมาบอกเล่าเรื่องของกรุงศรีอยุธยา จนเกิดเป็นคำให้การชาวกรุงเก่า

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม พื้นที่บริเวณที่สร้างเจดีย์ภูเขาทองขึ้นนั้น ก็เคยเป็นวัดภูเขาทองมาก่อนแล้ว (จนทำให้ชวนสงสัยด้วยว่า ถ้าวัดมีมาก่อเจดีย์ใหญ่องค์นี้แล้ว ภูเขาทองของวัดก่อนหน้าที่จะมีพระเจดีย์คืออะไร?)

หลักฐานมีอยู่ในพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เขียนขึ้นในช่วงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินถึงรัชกาลที่ 1 เอ่ยถึงชื่อวัดภูเขาทอง ในช่วงที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทำสงครามกับพระเจ้ากรุงมอญ ก่อนจะเสียกรุงครั้งที่ 1 และสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี ที่กรมศิลปากรได้ขุดค้นแล้วพบว่า วัดภูเขาทองมีการสร้างซ้อนทับกันมาหลายสมัยก่อนหน้าที่จะมีการสร้างพระเจดีย์องค์นี้อีกด้วย

การที่มีตำนานว่ามีกษัตริย์ผู้มากบารมี (ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าบุเรงนอง หรือสมเด็จพระนเรศวร) เป็นผู้สร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ ระดับที่ถูกนับให้เป็นหนึ่งในห้ามหาเจดีย์ในทัศนะของชาวกรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดภูเขาทอง ที่มีการก่อนเจดีย์องค์นี้ ย่านภูเขาทองจึงน่าจะมีความสำคัญ หรือความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างมาก่อน จึงได้มีการมาสร้างวัดสำคัญเอาไว้นอกเมืองอย่างนี้นั่นเอง