ผลของ “ชิม ช้อป ใช้” กับ ความเชื่อที่ล้มเหลว ?

ผลของ “ชิม ช้อป ใช้”

โครงการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลประยุทธ์ เข้าสู่เฟส 3 ต่อเนื่องรวดเร็ว จนดูเหมือนกับว่าเฟส 1-2 ประสบความสำเร็จจนต้อง “ตีเหล็กตอนยังร้อน”

แต่ข้อมูลที่เป็นจริง หากเอาวัตถุประสงค์ที่ประกาศอย่างเป็นทางการของโครงการมาเป็นตัววัดผล

“ความสำเร็จแทบมองไม่เห็น”

ผู้มาลงทะเบียนเฟส 1 รวมกับเฟส 2 มีมากถึง 13 ล้านคน ในเชิงปริมาณถือว่าได้รับการตอบรับอย่างยอดเยี่ยม

แต่เมื่อหันมาดูเชิงคุณภาพ อันหมายถึงความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า งานนี้จะมีเงินเข้ามาหมุนในตลาด สะพัดถึง 5-6 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นยังห่างไกลกับเป้าหมายของโครงการ

13 ล้านคน เอางบประมาณแจกไปคนละ 1,000 บาท เท่ากับ 13,000 ล้านบาท

มีความเชื่อว่าคนที่มาลงทะเบียนจะไม่ใช้แค่ 1,000 บาทที่ได้รับแจกที่เรียกว่ากระเป๋า 1 และแต่ละคนควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเพิ่มอีก 4-5 หมื่นบาท ด้วยตัวล่อคือรัฐจ่ายคืนให้ร้อยละ 15-20 ของเงินที่จ่ายเพิ่ม ที่เรียกว่ากระเป๋า 2

ตรงนี้เป็นความเชื่อที่ล้มเหลว

แทบไม่มีความร่วมมือในการจ่ายเพิ่ม

ดังนั้น ในเชิงกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อหมุนตลาด ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมาย

ทว่า นั่นเป็นมุมมองของคนที่เอาเป้าหมายที่ประกาศอย่างเป็นทางการมาเป็นตัวประเมิน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคนละเรื่องกับความรู้สึกนึกคิดของคนในรัฐบาล โดยจะเห็นได้ว่าเฟส 2 ยังเคลื่อนไม่จบ ความคิดว่าจะเร่งเฟส 3 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงก่อความสงสัยกันไปทั่วว่า แท้จริงเป้าหมายของโครงการในความตั้งใจของคนในรัฐบาลคืออะไรกันแน่ ระหว่างการกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อผลทางเศรษฐกิจ กับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อผลต่อการวางแผนทางการเมืองในอนาคต อย่างไหนเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจให้ความสำคัญมากกว่ากัน

ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เป็นไปตามเป้ามหมาย แต่การสร้างฐานข้อมูลทางการเมืองถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม

ผู้มีอำนาจมีข้อมูลที่นำไปจัดการเพื่อวางแผนทางการเมืองได้สมบูรณ์ยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลก็เรื่องหนึ่ง การใช้ข้อมูลก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อโครงการ

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการชิม ช้อป ใช้ สำหรับเฟส 1 ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 28.95 ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 21.09 รวมที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 50.04 ที่เห็นด้วยมาก ร้อยละ 22.60 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 22.62 รวมกลุ่มเห็นด้วย ร้อยละ 48.22

เริ่มต้นก็มีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า

พอมาถึงเฟส 2 ผู้ไม่เห็นด้วย รวมร้อยละ 50.64 เป็นไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 30.97 ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 19.67 ขณะที่กลุ่มเห็นด้วย รวมร้อยละ 47.90 เป็นเห็นด้วยมาก ร้อยละ 22.43 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 25.51

ที่น่าเป็นข้อสังเกตอยู่ตรงทั้งที่เป็นโครงการแจกเงินแบบให้เปล่า แต่ผู้ไม่เห็นด้วยกับมากกว่า

คำถามคือ หากหวังเอาเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในทางการเมือง

โอกาสที่คู่ต่อสู้จะใช้เป้าหมายที่ซ่อนเร้นที่พลิกขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีให้เกิดการต่อต้าน ผลจะเป็นอย่างไร

งบประมาณมหาศาลที่ใช้ไปล้วนมาจากภาษีของประชาชน ซึ่งสามารถเอาไปใช้ทำโครงการพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้

ด้วยเหตุผลนี้ หากคู่ต่อสู้ทำให้เป็นประเด็นแหลมคมพอ

ผลที่หวังทางการเมือง อาจจะไม่สำเร็จตามไปด้วยก็ได้