บทบาท ความหมาย พลานุภาพ แห่ง ปรองดอง กับ “ประชาธิปไตย”

ทําไมการเสนอคำว่า “ปรองดอง” ขึ้นมาไม่ว่าจะในยุค พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่ว่าจะในยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ว่าจะในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงจุดไม่ติด

แม้กระทั่งเมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในห้วงที่เป็น ส.ส.พรรคมาตุภูมิ พยายามขับเคลื่อนในเรื่อง “ปรองดอง” โดยร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าอย่างแข็งขัน

แต่ก็จุดไม่ติด

ทั้งๆ ที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เคยอยู่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงทางการเมือง เช่นเดียวกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยและเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน

เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เสนอสโลแกน “แก้ไข ไม่แก้แค้น”

ยิ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าก่อการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การเคลื่อนไหวเสนอประเด็น “ปรองดอง” จึงเท่ากับเป็นการสำนึกบาป ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามา “ล้างมือ” ใน “อ่างทองคำ”

คำตอบอยู่ที่ “สถานการณ์” และความเหมาะสมแห่ง “ยุคสมัย”

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เราเดิน ถูกทาง
จึงไม่ปรองดอง

ความล้มเหลวในยุคของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ สืบต่อมายังยุคของ นายบรรหาร ศิลปอาชา เพราะฟากที่ถือตนว่าได้ชัยชนะ ไม่ต้องการประนีประนอม ไม่ต้องการ “ปรองดอง”

คิดว่าจากชัยชนะจะนำไปสู่ชัยชนะ

นั่นก็คือ การพิชิตอีกฝ่ายให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของตนอย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง ความแข็งแกร่งในทางการเมือง ความเฉียบขาดในทางการทหาร คืออาวุธและเครื่องมืออันทรงพลานุภาพที่จะกำราบอีกฝ่ายให้สยบยอม

งอก่อ งอขิง

ความมั่นใจในพลังทางการเมือง พลังทางการทหาร สัมผัสได้ว่าแม้จะต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 แต่ก็สามารถกุมโอกาสในการเคลื่อนไหวได้

เพราะกระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” ยังอยู่ในมือ

ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็น กกต. และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ยังก้าวไปในทิศทางอันเป็นเอกภาพ

รัฐบาลพรรคพลังประชาชนไม่สามารถบริหารและปกครองได้

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแม้จะริเริ่มหลายโครงการขนาดใหญ่ ตั้งแต่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไปยังรถไฟความเร็วสูง แต่ที่สุดก็เดี้ยง มิอาจขยับ มิอาจขับเคลื่อน

และเมื่อมีการปลุกระดมมวลชน ไม่ว่าจะในเดือนพฤษภาคม 2551 ไม่ว่าจะในเดือนตุลาคม 2556 ในที่สุดก็ทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนอยู่ในภาวะ “เป็ดง่อย” แม้แต่จะเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลก็ไม่สำเร็จ ยิ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยิ่งไปไม่เป็น

ในที่สุด รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เกิดจากกระสวนการจัดตั้งทางการเมืองเหมือนก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เหตุปัจจัย อันนำ
ไปสู่ “ปรองดอง”

ถามว่าเหตุใดพลันที่มีการเปิดประเด็นในเรื่อง “ปรองดอง” ขึ้นในเดือนมกราคม 2560 เป็นต้นมา เสียงขานรับจึงดังอย่างอึกทึก กึกก้อง

ไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะเห็นด้วย ไม่แปลกที่ นปช. จะเห็นด้วย

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะดูขัดๆ แข็งๆ ในเบื้องต้น แม้ กปปส. จะดูขัดๆ แข็งๆ ในเบื้องต้น แต่ในที่สุดก็มิอาจต้านกระแส “ปรองดอง” ได้

นั่นเป็นเพราะว่าเป็นการเสนอเข้ามาโดย “คสช.” เอง

นั่นเป็นเพราะว่า “คสช.” ไม่เพียงแต่มีความแจ่มชัดว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ” หากแต่เริ่มเห็นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าหากไม่สามารถ “ปรองดอง” ได้ในยุคของตน มีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะ “เสียของ”

การเสนอแผน “ปรองดอง” โดย “คสช.” จึงเป็นการเสนอบนพื้นฐานที่ต้องการรักษา “อำนาจ” ของตนเอาไว้

จึงยังไม่ยอมผ่อนปรนในเรื่อง “ปลดล็อก” ให้กับพรรคการเมืองและนักการเมือง

“คสช.” ยังมั่นใจในอำนาจทางการทหารที่ตนมีอยู่ในมือว่าจะสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้ในห้วงแห่งสถานการณ์ “ปรองดอง”

เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะเป็น “ปรองดอง” ในทิศทางและการควบคุมของตน

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พลันที่มีการเสนอคำว่า “ปรองดอง” เข้าสู่สังคม ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ใครจะสามารถควบคุม และกำกับได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

“ปรองดอง” จึงเหมือน “ยักษ์จินนี่” ที่ออกจากตะเกียง

เอกภาพ ปรองดอง
กับ “ประชาธิปไตย”

“คสช.” มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการ “ปรองดอง” ไปได้ภายใต้ประกาศและคำสั่งอันอยู่ในมือของตน แต่ความมั่นใจนี้จะถูกตรวจสอบและท้าทายอย่างเข้มข้น

ปัจจัยสำคัญมาจากคำว่า “ปรองดอง”

ในความเป็นจริง ภายใต้คำว่า “ปรองดอง” ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยกระบวนการของการบังคับ ข่มขู่

แต่จะต้องดำเนินไปอย่างยินยอม พร้อมใจ

ไม่ว่าจะเป็นการ “ปรองดอง” ในยุคใด สมัยใด แนวทาง “เผด็จการ” มิอาจเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพได้ เพราะกระบวนการ “ปรองดอง” ต้องผ่านการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดกัน และแสวงหาหนทางออกที่เหมาะสม

“ประชาธิปไตย” ต่างหากคือ “เครื่องมือ”

และจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย” จะค่อยๆ เผยแสดงตัวตนออกมาท่ามกลางความพยายามที่จะ “ปรองดอง” ในทางเป็นจริง

หากไม่มี “ประชาธิปไตย” ก็ยากยิ่งที่จะ “ปรองดอง”