จรัญ พงษ์จีน : “เหมืองทองอัครา” ปมร้อนเขย่า “ประยุทธ์”

จรัญ พงษ์จีน

กลับมาเป็น “ประเด็นร้อน” อีกครั้ง ปม “เหมืองแร่อัครา” ที่จู่ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หยิบยกกรณีที่ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย” บริษัทแม่ของ “บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด” ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายรัฐบาลไทย หลังจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร

ย้อนรอย “คดีดัง” เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ

“อาศัยอำนาจตามมาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งกำหนดมาตรการฟื้นฟูผลกระทบ

โดยคำสั่งดังกล่าว หัวข้อใหญ่ใจความหลักคือ คำสั่งมีผลให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ การต่อใบอนุญาตประกอบการโลหกรรมแร่ทองคำไว้

ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ไปแล้ว “ให้ระงับการประกอบกิจการไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป”

และให้ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะมีมติอื่น

คำสั่ง “หัวหน้า คสช.” ที่อาศัยอำนาจแห่งมาตรา 44 ดาบอาญาสิทธิ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ฟันฉับๆ อย่างไม่ระแวดระวัง หญ้า หยวกกล้วย ทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ฟันไม่เลี้ยง

สุดท้ายก็เจอ “ของแข็ง” เข้าจนได้ เมื่อ “นายเกรก ฟาวลิส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเหมืองแร่อัครา รีซอร์สเซส ผู้ดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ได้ยื่นจดหมายเลิกจ้างพนักงานทุกคน โดยให้มีผลในทันทีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 วันที่ 31 มกราคม 2560 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ทีละส่วน

 

กาลต่อมา “บริษัทคิงส์เกตฯ” บริษัทแม่ผู้ประกอบการเหมืองแร่อัคราฯ “ยกระดับ” ยื่นข้อร้องเรียน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายทางธุรกิจ มูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ดีดลูกคิดออกมาเป็นเงินไทยราว 30,000 ล้านบาท

ต่อมามีการตั้งตัวแทนเจรจากันเพื่อหาข้อยุติ หาจุดกึ่งกลางเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายพึงพอใจ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทคิงส์เกตฯ จึงยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้กระบวนการ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ”

ฟ้องตามกรอบข้อตกลงเขตเสรี หรือ “เอฟทีเอ” ที่มีต่อกันระหว่าง “ไทย-ออสเตรเลีย ด้านการคุ้มครองการลงทุน” ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศหนึ่งสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งได้ หากดำเนินนโยบายให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน อาทิ การยึดทรัพย์สิน ยึดการลงทุน หรือเวนคืนที่ดิน

ยึดตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Area อันเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยประเทศที่รวมกลุ่มกัน หรือประเทศสมาชิกจะต้องยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งหมด เพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าระหว่างกลุ่มมีราคาลดลง เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดนอกกลุ่ม และมีอำนาจต่อรองกับตลาดโลกได้

“จุดสลบ” การฟ้องร้องตามกรอบดังกล่าวข้างต้น หรือ “การฟ้องร้องภายในข้อตกลงเอฟทีเอ อำนาจจากมาตรา 44 ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วถึง” เท่ากับ “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่มีมนต์ขลังกับคดีอื่น แต่กับเหมืองแร่อัคราฯ ไม่ต่างอะไรกับขอนไม้ผุๆ

ตัดฉากย้อนกลับไปที่การประชุมคณะรัฐมนตรี “ตู่ 2/1” เกี่ยวกับปมเหมืองแร่อัคราฯ ล่าสุด “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาคนใหม่ นำผลสรุปของคณะกรรมการมาบรรยายสรรพคุณในที่ประชุม ครม. แก้แห 4 ประการด้วยกัน

1. ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทอัคราฯ แล้วให้เลิกกิจการไป

2. ดำเนินตามข้อเสนอของอัคราฯ คือรับเงื่อนไขทุกอย่างแล้วอาจจะไม่ต้องจ่ายเงิน

3. “รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและปฏิบัติตาม”

และ 4. หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยชดเชยค่าเสียหายแล้วให้เปิดกิจการดำเนินต่อ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถกกันอื้ออึง บางส่วนสนับสนุนข้อเสนอที่ 4 จ่ายเงินค่าปรับบางส่วน แล้วเปิดกิจการต่อ แต่บางส่วนคัดค้าน จึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะเอาอย่างไรในเบื้องต้น

ร้อนถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกชื่อกันสั้นๆ ว่า “บิ๊กตู่” ดูเหมือนจะมึนตึ้บหนักกว่าใครเพื่อน ในฐานะผู้ใช้อำนาจมาตรา 44 ได้กล่าวตัดบทในที่ประชุม ครม.ว่า

ขอเวลาคิดก่อนว่าจะใช้แนวทางใด เวลานี้ยังไม่ขอตัดสินใจ แต่จะขอรับผิดชอบด้วยตัวเอง “ผมขอรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น”

เผือกร้อนว่าด้วยปมเหมืองแร่อัครา ก่อนหน้านี้นักกฎหมายหลายสำนักออกมาแสดงความคิดเห็นวิตกกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย และมีโอกาสแพ้คดี ตามที่ “คิงส์เกตฯ” ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสูง “ผู้ถูกฟ้อง” ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายถึง 30,000 ล้านบาท มีเปอร์เซ็นต์สูง

“อำนาจมาตรา 44” ไม่สามารถปกป้องอะไรได้

ดังนั้น คดีนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ย่อมใจหวิวสยิวกิ้วมากกว่าคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ

เพราะ “บิ๊กตู่” ผู้ใช้อำนาจมาตรา 44 เมื่อปี 2559 ฟันเหมืองแร่อัครา กับ “บิ๊กตู่” ผู้ถูกฟ้องในปี 2562 รออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินชี้ขาด ยังเป็นคนเดิม คนเดียวกัน มีความต่างกันแค่เรื่อง พ.ศ.

“ประเด็น” ที่น่าหนักใจแทน “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ตรงที่ว่า เมื่อหยิบยกคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึง “ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์” ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการชั่วคราว

โดยสรุปคือ “บิ๊กตู่” ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือมีลักษณะงานไม่ใช่แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ หรืองานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ

“ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณนามเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

เกิดจับพลัดจับผลู พ่ายป่าราบต่อคดีเหมืองแร่อัครา ที่ยื่นฟ้อง 3 หมื่นล้านบาท

เอาสองเรื่องมาผูกโยงให้เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ต้องสะกิดสีข้างว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ย่อมประมาทกรณี “เหมืองแร่อัครา” ไม่ได้เด็ดขาด