ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เศรษฐกิจพังไม่ใช่เรื่องมโนอย่างที่รัฐบาลสะกดจิตประชาชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ประชาชนรับรู้ทั่วกัน แต่ทั้งที่ความรู้สึกร่วมนี้แพร่กระจายในคนจำนวนมากจนแทบจะเป็นฉันทานุมัติของสังคม นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลกลับไม่แสดงให้เห็นว่ามีสำนึกต่อปัญหาปากท้องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงมาตรการแก้ปัญหาที่แทบไม่มีเลย

ห้าปีแล้วที่ความขัดสนด้านการหาเลี้ยงชีพคือความจริงของชีวิตที่หลายคนเผชิญร่วมกัน

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ความขัดสนด้านปากท้องได้ลุกลามเป็นความไม่มั่นคงด้านการงานไปแล้ว

โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา ข่าวโรงงานเจ๊งจนคนงานถูกลอยแพมีมากจนหลอกหลอนคนงานระดับลูกจ้างทุกคน

กองเชียร์รัฐบางคนอธิบายว่าโรงงานเจ๊งเป็นเรื่องธรรมดาของทุนนิยม

ส่วนคนที่มีวาทศิลป์จนไปอยู่ใน “สถาบันทิศทางไทย” ก็แต่งเรื่องว่าทุกโรงงานเจ๊งจากปัญหาเฉพาะตัวหมด

แต่คำอธิบายนี้มุ่งปัดความรับผิดชอบของรัฐจนมีน้ำหนักน้อย เพราะสิ่งที่คนอยากรู้คือรัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ปัญหาเกิดจากอะไร

ในบรรดาโรงงานที่เจ๊งจนคนงานเป็นคนตกงานโดยไม่รู้ล่วงหน้านับพันราย

สองในสามอยู่ที่ศรีราชาและระยองซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ยิ่งกว่านั้นคือทั้งคู่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักอย่างแหลมฉบังและมาบตาพุด

การปิดกิจการจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าภาคอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะอันตราย

โดยปกติแล้วโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การปิดจึงเป็นหลักฐานว่าโรงงานเผชิญปัญหาถึงจุดที่สิทธิพิเศษด้านภาษีและไมใช่ภาษี (Non-Tax Privileges) ช่วยไม่ได้ รัฐบาลที่ฉลาดจึงต้องอ่านสัญญาณนี้ให้ได้แม่นยำ

เพื่อให้เห็นภาพความหนักหน่วงของปัญหาที่รัฐบาลและนักโพสต์ใน “สถาบันทิศทางไทย” จงใจบิดเบือนประเด็น หนึ่งในโรงงานที่เจ๊งจนเลิกกิจการนั้นมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 150 ล้าน และดำเนินธุรกิจมาเกือบสี่สิบปีแล้ว การเจ๊งจึงเป็นการล่มสลายของกิจการที่ใหญ่และมีทุนมากจนไม่ควรทำเหมือนไม่มีอะไร

น่าสนใจว่าขณะที่ข่าวโรงงานปิดกิจการเป็นข่าวที่คนวงกว้างให้ความสนใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกลับมีปฏิกิริยาต่อข่าวที่เป็นสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจแบบนี้น้อยมาก

ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนพูดถึงเรื่องทั้งที่เป็นข่าวและนอกรอบข่าว แม้กระทั่งรัฐมนตรีแรงงานก็ไม่เคยแสดงความเห็นเรื่องนี้สักครั้งเดียว

ตรงข้ามกับความหมางเมินของรัฐและการสร้างวาทกรรมว่าโรงงานเจ๊งเป็นเรื่องธรรมดาโดยเครือข่าย “สถาบันทิศทางไทย” การเลิกกิจการคือหลักฐานว่านักธุรกิจเลือกจะหยุดทำมาหากินแล้วทิ้งอุตสาหกรรมไปเลย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นอาการของความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่ลามถึงจุดที่คนเห็นว่าไม่ควรทำธุรกิจต่อไป

ในคำแถลงของสองบริษัทที่เจ้าของปิดกิจการ ทั้งคู่พูดตรงกันเรื่องเศรษฐกิจฝืดเคือง ค้าขายไม่ได้ ค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกยาก ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหามหภาคที่เกี่ยวพันกับการบริหารงานของรัฐบาลทั้งสิ้น

การปิดจึงเป็นผลจาก “โครงสร้าง” ที่รัฐบาลเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง ต่อให้กองเชียร์จะไม่ยากคนคิดแบบนี้ก็ตาม

นอกจากการตัดสินใจเลิกธุรกิจจะไม่ได้เกิดจากเจ้าของโรงงานห่วยอย่างที่กองเชียร์รัฐบาลโจมตี ผลจากการเลิกธุรกิจก็ยังกระทบต่อสังคมด้วย เพราะเมื่อไรที่เจ้าของกิจการตกลงหยุดกิจการ ห่วงโซ่การผลิตก็จะยุติจนคนจำนวนมากตกงาน, เลิกซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ ซึ่งเท่ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหายวับไปในพริบตา

แม้นายกฯ และรัฐมนตรีบางคนจะเขลาหรือพอใจกับการหลอกตัวเองจนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไร แต่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอย่างคุณสุริยะต้องอ่านสัญญาณเศรษฐกิจระดับจุลภาคนี้ให้ครบถ้วน

งานที่รัฐมนตรีพึงทำโดยเร่งด่วนได้แก่การสำรวจว่าโรงงานไหนมีปัญหาทำนองนี้ จากนั้นต้องหามาตรการช่วยให้ถูกจุดทันที

ต่อให้นายกฯ จะจำขี้ปากผู้ว่าธนาคารชาติไปพูดข้างๆ คูๆ ในคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า “เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย แต่แค่โตช้า” รัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็สมควรเห็นว่าปัญหาภาคอุตสาหกรรมจะลุกลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

คำพูดนายกฯ จึงควรมีอายุแค่ปลายลิ้นนายกฯ แต่ไม่ควรเป็นทิศทางการกำหนดนโยบาย

นักวิชาการด้านแรงงานอย่างบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ เคยชี้ว่านิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่สวรรค์ของคนงาน เพราะในเวลาที่นายทุนโกยกำไรจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน นายทุนมักขัดขวางไม่ให้คนงานรวมตัวเมาตลอด และในเวลาที่นายทุนขาดทุนยิ่งขึ้น คนงานย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดโดยตรง

ถ้าคิดแต่จะปกป้องรัฐบาลโดยปั่นข่าวว่าโรงงานเจ๊งเพราะเจ้าของเฮงซวย บทบาทของนายกฯ ก็ไม่มีอะไรมากกว่านั่งหัวโต๊ะ ครม.เศรษฐกิจแล้วพูดเรื่องตัวเองไม่รู้เรื่องมากนักไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายอมรับว่าโรงงานเจ๊งเป็นอาการของปัญหาระดับ “ระบบ” มากกว่า “ปัจเจก” การตั้งหลักเพื่อหยุดปัญหาก็จะมีความจำเป็น

นอกเหนือจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะเจ๊งจนน่ากังวล ข้อควรระบุคือหลายโรงงานมีการปรับตัวเพื่อลดปริมาณการขาดทุนอย่างกว้างขวาง ไทยซัมมิตแหลมฉบังให้คนงานบางแผนกหยุดงานสองเดือนโดยให้ค่าแรง 75% เช่นเดียวกับนิปปอนสตีลที่ทำแบบนี้โดยกำหนดระยะเวลาหยุดงานไว้หนึ่งงาน

น่าสังเกตว่าไทยซัมมิตแหลมฉบังอยู่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ส่วนนิปปอนสตีลอยู่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด

สองโรงงานได้ประโยชน์จากนิคมฯ จนมีต้นทุนทางธุรกิจที่ขาดทุนยากเมื่อเทียบกิจการอื่น

การหยุดโรงงานบางช่วงโดยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานจึงเป็นอาการของธุรกิจที่ไม่ปกติแน่นอน

ควรสังเกตว่าไทยซัมมิตแหลมฉบังทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การหยุดกิจการชั่วคราวจึงแสดงถึงอาการของอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเสาหลักของประเทศที่ไม่สู้ดีด้วย

ส่วนนิปปอนสตีลเคยปิดงานเพื่อกลั่นแกล้งสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 2559 จนน่าสงสัยว่าปิดเพราะมีปัญหาจริงๆ หรือมีสาเหตุแฝงเร้นจนปิดแค่วันเดียว

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ คนงานในโรงงานตามนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งพูดตรงกันเรื่องนายจ้างให้เงินเดือนเพียงแค่ 75% รวมทั้งการทำงานที่ไม่มีการว่าจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาอีกแล้ว พฤติกรรมจ้างงานนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจฝืด, คำสั่งซื้อลด และการผลิตหดตัวลงจนถึงขั้นยุติการผลิตบางส่วนลงไป

ด้วยสภาพการทำงานในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ย่อมตระหนักดีว่าปรากฎการณ์นี้แสดงให้เห็นสัญญาณของระบบเศรษฐกิจที่ทำการผลิตต่ำกว่าศักยภาพการผลิตจริงๆ สังคมที่กลไกทางเศรษฐกิจทำงานน้อยกว่าศักยภาพที่ทำได้ส่งผลให้การลงทุนไม่งอกเงยอย่างที่ควรเป็นได้อีกมาก แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือผลต่อสังคม

สำหรับข้าราชการและพนักงานบริษัททั่วไป การไม่ได้ทำงานล่วงเวลาเป็นแค่การสูญเสียรายได้เสริมบางส่วน

แต่สำหรับผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและกิจการอื่น งานล่วงเวลาคือโอกาสได้รายได้เพื่อสมทบให้พอเพียงกับค่าครองชีพ และการไม่มีงานล่วงเวลาคือการสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ในแต่ละเดือน

เท่าที่มีการสำรวจรายได้ของแรงงานที่มีฝืมือโดยกระทรวงแรงงานในปี 2558 คนงานที่มีฝีมือได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 312 และได้ค่าล่วงเวลาเฉลี่ยวันละ 100 โดยคนงานกรุงเทพฯ ได้ค่าล่วงเวลาเฉลี่ยวันละ 128 เมื่อเทียบกับค่าแรงเฉลี่ย 326 หรือเท่ากับรายได้จากค่าล่วงเวลาเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้จากการทำงาน

ด้วยนโยบายกดค่าจ้างขั้นต่ำให้ต่ำกว่ารายจ่ายจริงรัฐบาลเผด็จการ คนงานไทยถูกบีบให้พึ่งรายได้จากค่าล่วงเวลาเพื่อเติมเต็มค่าครองชีพให้มากที่สุด

การจ้างงานที่ไม่มีการทำงานล่วงเวลาทำให้รายได้ของคนงานหายไป 1 ใน 3 จนต้องคิดต่อว่าแล้วคนงานจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายที่แท้จริง?

เพื่อให้ภาพความรุนแรงของปัญหายิ่งขึ้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่ครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ด้วยรายได้จากภาคอุตสาหกรรม สภาพที่คนงานได้ค่าตอบแทนต่ำกว่ารายจ่ายจะทำให้ครัวเรือนเกิดปัญหาตามไปด้วยอีกมาก

ไม่ต้องพูดถึงปัญหาเด็กๆ ปัญหาการดูแลพ่อแม่ในชนบท ฯลฯ ซึ่งชวนให้ขนหัวลุกในระยะยาว

ห้าปีภายใต้การปกครองของ คสช.คือห้าปีที่เศรษฐกิจรากหญ้าย่อยยับจนฟื้นได้ยาก บัดนี้ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดแก่คนชั้นล่างได้ลุกลามสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศแล้ว หนทางในการแก้ปัญหามีไม่มากนัก และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศสิ้นหวังที่สุดคือนายกฯ และรัฐบาลยังไม่สำนึกถึงปัญหานี้เลย

ถึงเวลาแล้วที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจต้องกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมที่แก้ปัญหาการปิดงานและคนตกงานเป็นวาระแห่งชาติ เพราะนอกจากปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจะทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในอนาคตจนอาจไม่มีวันเยียวยาได้เลย

หวังว่าผู้มีอำนาจรัฐจะมีสติปัญญาจะมองเห็นว่าโอกาสที่ความไม่พอใจทางเศรษฐกิจจะลุกลามเป็นความไม่สงบทางสังคมคือแนวโน้มที่รออยู่อีกไม่ไกล