นิธิ เอียวศรีวงศ์ | โลกพระศรีอาริย์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในช่วงที่เราเริ่มรับรู้ความคิดทางสังคมและการเมืองของตะวันตกมากขึ้น คนไทยที่มีการศึกษามักกล่าวถึงยุคพระศรีอาริย์เหมือนเป็นความคิดถึงสังคมหรือรัฐในอุดมคติแบบไทย

แต่มันจะใช่แน่ละหรือ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะความคิดเกี่ยวกับยุคพระศรีอาริย์ของไทย (และชาวพุทธเอเชียอื่นๆ) เป็นความคิดทางศาสนาแท้ๆ ไม่ต่างจากความคิดถึงอาณาจักรของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ซึ่งจะมาถึงหลังวันพิพากษาซึ่งคือวันสิ้นโลก อย่างเดียวกับยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งจะมาถึงก็เมื่อสิ้นสมัยของพระพุทธเจ้านามพุทธโคดมแล้ว อาณาจักรของพระเจ้าและโลกพระศรีอาริย์ไม่ได้เปิดให้แก่ทุกคนบนโลก แต่เปิดให้เฉพาะคนดีมีศีลธรรมเท่านั้น

ดังนั้น หากจะเทียบสังคมหรือรัฐในอุดมคติของตะวันตกกับแนวคิดทำนองเดียวกันในเอเชีย ผมคิดว่าน่าจะเทียบกับความคิดเกี่ยวกับมหาจักรพรรดิราชในพุทธศาสนา หรือสังคมและรัฐในอุดมคติของขงจื๊อมากกว่า เพราะภายใต้มหาบุรุษอันประเสริฐสุด หรือภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกต้อง ทุกคนจะได้รับความสุข “ตามอัตภาพ” ของตนเอง

แม้กระนั้น สังคมอุดมคติของเอเชียและตะวันตกก็ยังต่างกัน สังคมอุดมคติของเอเชียอยู่ในอดีตหรือมีแบบอย่างมาจากอดีต ในขณะที่สังคมอุดมคติของตะวันตกอยู่ในอนาคต แม้ทั้งสองแนวคิดอาจมาจากความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน แต่ตะวันตกคิดว่าจากปัจจุบัน จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรจึงจะนำสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่า อันเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่เคยพบเจอมาก่อน ส่วนความคิดของตะวันออกย่อมมองสภาพที่ไม่น่าพอใจในปัจจุบันว่า เพราะมันเสื่อมจากที่มันเคยดีมาก่อนในอดีต ดังนั้น จึงต้องหาทางย้อนกลับไปหาอุดมคติที่มีอยู่ในอดีต

อุดมคติแบบตะวันตกเปิดให้เปลี่ยนอะไรของปัจจุบันไปได้อย่างไม่จำกัด แต่อุดมคติแบบตะวันออกเปลี่ยนได้จำกัดกว่ามาก เพราะทำได้เพียงแค่ปรับปรุงให้สิ่งที่เป็นอยู่กลับไปสู่สภาพอุดมคติในอดีตเท่านั้น จะล้มล้างยกเลิกอะไรได้ไม่หมด

ยิ่งคิดถึงยุคพระศรีอาริย์ คุณไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงอย่างไรยุคนั้นก็จะมาถึงเองจนได้ตามพุทธทำนาย ปัญหาอยู่แต่ว่า คุณจะได้เกิดทันยุคนั้นหรือไม่ต่างหาก

คนโบราณอยากได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์เพราะอะไร ส่วนหนึ่งก็เพราะยุคนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางวัตถุและจิตใจ ในทางวัตถุก็อย่างที่ได้ยินอยู่เสมอคือ มีต้นกัลปพฤกษ์ไว้บันดาลสิ่งที่ต้องการให้ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงเป็นสังคมที่ทุกคนมีเท่ากันหรือรวยเท่ากัน ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความอยากทางวัตถุ ทุกคนเป็นคนดีคือมีเมตตาและไม่เบียดเบียนกัน ขโมยขโจรไม่มี คนดีเท่ากันเสียจนหน้าตาเหมือนกันหมด สวยทุกคน (ซึ่งเท่ากับไม่มีใครสวยสักคน) แม้แต่จะเดินทางไปไหนก็สะดวกสบาย เพราะแม่น้ำสมัยนั้นฟากหนึ่งน้ำไหลลง อีกฟากหนึ่งน้ำไหลขึ้น และเพราะทุกคนดีเหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องยกอำนาจการบังคับควบคุมให้คนกลุ่มใด สมัยนั้นจึงไม่มีรัฐและรัฐบาล

ขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ที่ว่าผู้คนในยุคพระศรีอาริย์นั้น ดูเหมือนไม่ได้รวมผู้หญิงและเด็ก เพราะยังอยู่ในปกครองของสามีและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ (หรือถึงอาจเป็น “สมบัติ” ของผู้ชายและพ่อ-แม่ก็ได้) ดังนั้น ในโลกพระศรีอาริย์ คุณเพนกวินจะเที่ยวเดินประท้วงโน่นนี่ก็ไม่ได้เหมือนเดิมนะครับ

แต่เขาไม่ได้คิดถึงสังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะเป็นความคิดทางศาสนาโดยแท้ คนอยากไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ไม่ใช่เพื่ออยากได้ความสะดวกสบาย (อย่างน้อยเขาก็ไม่ได้อ้างข้อนี้ในจารึกถวายทานที่ทิ้งไว้) แต่เพราะสังคมอุดมสมบูรณ์ที่มีแต่คนดีเช่นนั้น ย่อมเอื้อให้บรรลุธรรมได้สะดวกง่ายดายกว่าสังคมที่ต้องทนทุกข์ด้วยประการต่างๆ เช่นเรา ดังนั้น จึงมีพระอริยบุคคลจำนวนมากในยุคพระศรีอาริย์ นี่แหละครับสุดยอดของ “ปฏิรูปเทโส” ในมงคลสูตรเลย (แต่ไม่มีทุกข์แล้วจะเห็นทุกข์ได้อย่างไรไม่ทราบ)

แนวคิดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นในปฏิมาพระศรีอาริย์ของจีน คือรูปพระอ้วนที่นั่งยิ้มหรือหัวเราะอยู่ในวัด เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ถึงความสะดวกง่ายดายที่จะบรรลุธรรม ในสังคมที่อุดมสมบูรณ์และประกอบด้วยคนดีมีเมตตาทั้งหมด

หลวงพ่อพุทธทาสท่านอธิบายถึงความเมตตากรุณาหรือความรักผู้อื่น และมีธรรมะประจำใจของผู้คนในโลกพระศรีอาริย์ว่าคืออุปกรณ์ภายใน ที่ทำให้บรรลุธรรมได้ (เทศนาเรื่อง “โลกพระศรีอาริย์อยู่แค่ปลายจมูก”)

ยิ่งกว่านั้น ในอรรถกถาอนาคตวงศ์เล่มหนึ่ง (อมตรธารา) ยังอธิบายว่า บุคคลที่จะได้เกิดทันยุคพระศรีอาริย์ต้องมีลักษณะ 13 ข้อ เช่น ถือศีลห้า, ศีลแปด, เคยบวช, ถวายสิ่งก่อสร้างและมหรรฆภัณฑ์แก่วัด, สร้างสิ่งสาธารณูปโภคแก่สังคม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าความคิดทางศาสนาไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางโลกย์ได้ ตรงกันข้าม เพราะความคิดทางศาสนาโดยแท้ (พราหมณ์และพุทธ) จึงทำให้รัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนจากแว่นแคว้นขนาดเล็กกลายเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่ความคิดยุคพระศรีอาริย์ไม่ได้นำความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมและรัฐสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่ในช่วงหนึ่งถูกปัญญาชน (intelligentsia) ไทยอ้างถึงบ่อยๆ เพื่อชี้ชวนให้เปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมในรูปแบบอื่นที่อาจให้ความเป็นธรรมแก่ผู้คนได้มากขึ้น

ในยุโรป ความคิดในนิกายลูเธอรัน (Lutheran) ทำให้เกิดคติการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ความคิดในนิกายคาลวิน (Calvinism) ทำให้การประหยัด ทำงานหนัก กลายเป็นคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดขันติธรรมทางศาสนาต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐด้วย เพราะหลักเทววิทยาของคาลวินก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างออกไปเป็นหลายสำนักมาก จนกระทั่งแม้เป็นสาวกของคำสอนเดียวกัน ก็อาจมีความเชื่อที่ต่างกันได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาสู่สังคมและรัฐสมัยใหม่

น่าประหลาดที่ความคิดทางการเมืองที่แฝงอยู่ในความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ในประเทศไทยกลับไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและรัฐอย่างที่ปัญญาชนไทยในช่วงหนึ่งมุ่งหวัง แต่กลับไปเสริมสร้างคติทางการเมืองแบบเก่าให้แข็งแกร่งขึ้นในสังคมไทยมากกว่า

ส่วนใหญ่ของกบฏไพร่ในเมืองไทยมีอุดมการณ์แบบยุคพระศรีอาริย์อยู่เบื้องหลังมากบ้างน้อยบ้างเสมอ เช่น ในการสร้างสังคมใหม่ ผู้นำมักชักชวนให้ละทิ้งกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินส่วนบุคคล หันมาถือกรรมสิทธิ์ร่วม (กินข้าวหม้อเดียวกัน) ในขณะเดียวกันก็ละทิ้งสถานะทางสังคมที่เคยมีในสังคมเดิม แต่ความเสมอภาคในสังคมของกบฏไพร่ ไม่รวมถึงผู้หญิงและเด็กเช่นเดียวกับโลกพระศรีอาริย์ ผู้นำกบฏไพร่มักนำสาวกให้ละทิ้งบ้านเรือนออกมาตั้งชุมชนอิสระของตนเองนอกรัฐ (หรือนอกอำนาจรัฐ) หากมีกำลังกล้าแข็งพอก็อาจยกกำลังไปยึดเอาเมืองของรัฐ เพื่อขยายชุมชนนอกรัฐของตนออกไป

ผู้นำ “บารมี” สูงกว่าคนอื่นทั้งหมด แสดงออกซึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เพราะตามความเชื่อของไทย บารมีหรือคุณความดี (บุญ) ที่ได้สั่งสมไว้ให้อำนาจหลายชนิดแก่ผู้มีบารมี ทั้งอำนาจทางโลกย์และทางธรรมซึ่งแสดงออกได้ด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ความใกล้ชิดระหว่างผู้นำและสาวกก็มีความสำคัญ เพราะบารมีของผู้นำอาจให้ความปกป้องคุ้มครองผู้อยู่ใกล้ชิดได้ (รวมทั้งใกล้ชิดทางพิธีกรรม เช่น ครอบครองเศษผม, เศษสบงจีวร, หรือของขลัง ที่ผู้นำมอบให้)

โลกพระศรีอาริย์จึงไม่ใช่สังคมในอุดมคติ เราไม่มีทางทำอะไรในปัจจุบันที่จะสร้างโลกพระศรีอาริย์ขึ้น แต่ถ้าทำความดีด้วยประการต่างๆ ตามที่ท่านสอนไว้ก็จะมีอานิสงส์ให้เราได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ และได้บรรลุธรรมในสมัยนั้น

โลกพระศรีอาริย์จึงคล้ายกันกับ “รัฐอิสลาม” ในความคิดของมุสลิมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และอาจจะมุสลิมที่อื่นด้วยกระมัง) กล่าวคือ รัฐอิสลามคือรัฐที่ผู้คนปฏิบัติตาม ibadah หรือหน้าที่ทางศาสนาซึ่งพระเจ้ากำหนดไว้ 5 ประการ (ประกาศศรัทธา, สวดบูชาวันละ 5 ครั้ง, ถือศีลอด, สละทรัพย์ช่วยเหลือมุสลิมที่ยากไร้ และกระทำพิธีฮัจญ์) น้อมรับการปฏิบัติตนตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์กุรอานและฮะดิธอย่างเต็มใจ ถ้าทำเช่นนี้ได้ทั่วหน้า รัฐอิสลามที่มีความเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขก็จะบังเกิดขึ้นเอง

การที่บางกลุ่มพยายามจะสถาปนารัฐอิสลามขึ้นตั้งแต่บัดนี้ ก็เพื่อให้เกิด “ปฏิรูปเทโส” คือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้มุสลิมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อันจะนำมาซึ่งรัฐอิสลามที่แท้จริงในบั้นปลาย

ความคิดเรื่องบังคับให้ทำความดีนั้นไม่ได้มีเฉพาะในหมู่ชาวมุสลิม หลวงพ่อพุทธทาสในเทศนาที่อ้างถึงข้างต้นก็ไม่เกี่ยงเหมือนกันว่า คนจะปฏิบัติศีลธรรมด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับดังสมัยพระเจ้าอโศก “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่าน กับรัฐอิสลามของท่านอยาตุลเลาะห์โคไมนี จึงไม่ได้มีสาระที่ต่างกันมากนัก

ที่น่าสังเกตด้วยก็คือ แนวคิดทางการเมืองที่ได้รับความเชื่อถือจากคนจำนวนมากในเมืองไทยเวลานี้ ดูจะได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์อยู่เหมือนกัน เช่น ความเชื่อในการปกครองของคนดี วางอำนาจไว้ในมือของคนดีเท่านั้น ถึงยอมให้คนชั่วมีชีวิตร่วมสังคมต่อไปได้ แต่ก็ต้องอยู่อย่างไร้อำนาจ และเพื่อบรรลุถึงรัฐและสังคมที่สมบูรณ์พร้อม ก็จำเป็นลิดรอนเสรีภาพ

ซึ่งคนดีไม่เดือดร้อน มีแต่คนชั่วเท่านั้นที่เดือดร้อน เพราะคนชั่วมักใช้เสรีภาพเพื่อทำชั่วเท่านั้น และ ฯลฯ