E-DUANG : ความคับแค้นทางจิตใจ ความยากไร้ทางวัตถุ

“เศรษฐกิจ” กับ “การเมือง” เป็นคู่แห่งความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปอย่างมีทั้งด้านที่ร่วมและขัดแย้ง
เหมือน “ไก่” กับ “ไข่” อย่าถามว่า ไก่เกิดก่อนไข่ หรือว่า ไข่เกิดก่อนไก่ เพราะยิ่งถามยิ่งสร้างปัญหา
อย่าว่าแต่เป็นปัญหากับ “คน” เลย
แม้กระทั่งหากมีใครไปถาม “ไก่” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ “ไก่”จะสามารถให้คำตอบได้
หรือแม้ “ไก่” จะมีคำตอบให้ แต่คิดหรือว่า”คน”จะเชื่อ
กระนั้น เศรษฐกิจกับการเมืองก็เป็นคู่แห่งความสัมพันธ์ที่ยากจะปัดปฏิเสธออกได้
ถามว่าทำไม”เงินคงคลัง”จึงกลายเป็นประเด็น”ถังแตก”
ไม่ว่าจะเรื่องของ “เงินคงคลัง” ไม่ว่าจะเรื่องของ “ถังแตก” แฝงกลิ่นอายเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจ” แต่ก็ขยายกลายเป็นเรื่องของ “การเมือง”จนได้
มิเช่นนั้นคงไม่มีคำว่า “คนไม่ดี” ปรากฏขึ้น

ลองย้อนกลับไปศึกษา”ประวัติศาสตร์”ทางการเมืองในยุคใกล้ของ ไทยก็จะสัมผัสได้
ถามว่าสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นมาอย่างไร
คำตอบที่รู้ๆกันอยู่ก็คือ ประชาชนมีความไม่พอใจต่อระบอบ เผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร
นี่เป็นปัญหา”การเมือง”แท้ๆ
แต่ปัจจัย 1 ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นอย่างมีน้ำหนัก คือสภาพในทาง เศรษฐกิจที่มีการเข้าคิวซื้อข้าว
นี่เป็นปัญหา”เศรษฐกิจ” แท้ๆ
รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถูกโยกคลอนจากวิกฤตน้ำมันระดับโลกสะเทือนเข้ามาในไทย
ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี
ความไม่พอใจของประชาชนส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมแล้วบานปลายกลายเป็นประเด็นในหมู่ทหารด้วยกัน
ผลที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ต้องไป

ประวัติศาสตร์ไม่ว่าในทางสากล ไม่ว่าในประเทศไทย ให้บทเรียนของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองมากมาย
ยุโรปตะวันออก”พัง”เพราะ”เศรษฐกิจ”
เริ่มจากในสหภาพโซเวียต บานปลายเข้าโปแลนด์ บุลกาเรีย โรมาเนีย ฮังการี
ผลที่สุด “กำแพงเบอร์ลิน”ก็พังครืน
จากนั้น ค่ายสังคมนิยมก็ไม่เหลืออยู่ในทางเป็นจริง เพราะสหภาพโซเวียตต้องแตกกระจาย
บทสรุปที่ว่าปัญหาต่างๆดำเนินไปในลักษณะ
ประชาชนประสบกับสภาพ “ความคับแค้นทางจิตใจ ความยากไร้ทางวัตถุ” ยืนยันได้ ความยากไร้ทางวัตถุ คือประเด็น”เศรษฐกิจ”
ความคับแค้นทางจิตใจ คือ ประเด็น”การเมือง”
ที่ใดมี “ความคับแค้นทางจิตใจ ความยากไร้ทางวัตถุ” ที่นั่นย่อมเกิดปัญหา