บทวิเคราะห์ | จับทาง “ฝ่ายค้าน” จัดทัพศึกไม่ไว้วางใจ “ชนะน็อก” หรือแค่ “ชกลม” ?

ฝ่ายค้านไม่ปล่อยโอกาส เตรียมยื่นเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” กลางเดือนธันวาคมนี้ แต่ก่อน 20 ธันวาคม เพราะจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายเก่าปี 2562 แม้รัฐบาลจะทำงานมาได้เพียง 5 เดือนก็ตาม เพราะการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

โดยพุ่งเป้าเบื้องต้นไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม พร้อมกับ 3 รัฐมนตรี ได้แก่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการปล่อยปละละเลยในเรื่องไม่ชอบมาพากล ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น

รองนายกฯ สมคิด เป็นประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวเช่นกัน ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ในกรณีการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 40 ปี และ “ศักดิ์สยาม” เป็นประเด็นการใช้อำนาจและการแต่งตั้งโยกย้ายในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในกระทรวงคมนาคม ตลอดจนการแทรกแซงการบริหารในรัฐวิสาหกิจต่างๆ

 

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านได้ตั้งโรดแม็ป 1 เดือนครึ่ง ก่อนเผด็จศึกกับรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย “สุทิน คลังแสง” ปธ.วิปฝ่ายค้านเปิดเผยว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภา 1 พฤศจิกายน จะมี 3 วาระเข้าสู่สภา โดยเป็น “น้องๆ” ของการอภิปรายไม่วางใจไว้อยู่ 3 ประเด็น ได้แก่

1.ญัตติศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 ของ คสช. ที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกเตรียมพร้อมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการกระทำที่ผ่านมาของ คสช. ทั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

2.ญัตติศึกษาแก้ไข รธน. รับรองว่าอภิปรายกันสนั่นเมืองแน่นอน 3.รับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือน จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย หลังเขียน รธน.วางกับดักตัวเอง

“รับรองว่ารัฐบาลน่วมก่อนจะไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถคว่ำรัฐบาลได้ แต่ก็ทำให้รัฐบาลราคาตกทุกครั้ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฝ่ายค้านได้ตลอด” นายสุทินกล่าว

 

ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “สุทิน” ระบุว่า ขณะนี้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อมูล จากนั้นจะมาประเมินร่วมกันว่ามีน้ำหนักสมควรจะอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นใดบ้าง โดยหลักคือพรรคใดนั่งในกรรมาธิการชุดใด จะต้องรับผิดชอบในการอภิปรายเรื่องนั้นๆ เพราะสามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดตั้ง “ชาโดว์คาบิเนต” หรือ “ครม.เงา” ขึ้นมาด้วย เพื่อกระจายงานเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกกระทรวง จะได้ระดมคนในพรรคทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มาช่วยงานกันได้เต็มที่

หากย้อนไปในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 63 ในวาระแรก พรรคเพื่อไทยได้ใช้แนวทางตั้ง “หมู่ทะลวงฟัน” และ “นายหมู่” ขึ้นมา โดยเริ่มจากมีผู้อภิปรายทั่วไป แล้ว “นายหมู่” จะเป็นผู้สรุปข้อมูลเป็นบางช่วง

ส่วนของพรรคอนาคตใหม่ หากถอดบทเรียนจากการเตรียมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 63 จะทำให้เห็นภาพฉายอนาคตไปยังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย “ผอ.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ เล่าถึงเบื้องหลังการเตรียมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า การทำข้อมูลต่างๆ พรรคมีทีมทำงานที่ได้กำหนดแต่ละหัวข้อไป จากนั้นจะเลือกผู้อภิปรายอีกครั้ง ซึ่งขบวนการทำข้อมูลทำผ่าน “มดงาน” ของพรรคจำนวนมาก

โดยมี “ทีมกลาง” ในการกรองข้อมูลอีกครั้ง ซึ่งประกอบด้วย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หน.พรรคอนาคตใหม่ ที่รวมทั้งตนเอง และ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โดย “ธนาธร” จะดูภาพรวมทั้งหมด ในส่วนของตนเองจะต้องพูดเปิดประเด็นให้กับทุกคน และ “วิโรจน์” จะเป็นผู้สรุปประเด็นของแต่ละคน จึงต้องรู้ข้อมูลทั้งหมด

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นที่ใหญ่ ไม่แพ้การทุจริตคอร์รัปชั่นคือ ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ไร้ประสิทธิภาพ สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส” ศิริกัญญากล่าว

 

ทั้งนี้ เสียงจากฝั่งรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่หวั่นต่อการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมกับมองว่าเป็นเรื่องปกติ กามกลไกรัฐสภา รวมทั้งเชื่อมั่นในการทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกมายืดอกพร้อมถูกอภิปรายครั้งนี้ด้วย

เพราะถือว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งแรกตั้งแต่ขึ้นมาเป็นนายกฯ 5 ปี ตั้งแต่ยุค คสช. ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนัดสำคัญหลังห่างหายไปหลายปีในสภา ที่มาพร้อมตัวละครทางการเมืองที่มีทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่มากขึ้น

“มีความพร้อมอยู่แล้ว และฝ่ายค้านก็สามารถยื่นได้ตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของสภาผู้แทนราษฎร ที่ยื่นได้ปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ต้องมีการเตรียมข้อมูลไว้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็อยู่ในหัวแล้ว และหน่วยงานก็เตรียมไว้ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ทราบเนื้อหาที่จะถูกอภิปราย แต่ยืนยันว่าสามารถชี้แจงได้ทุกเรื่อง เพราะทุกนโยบายมีความบริสุทธิ์ในการทำงาน และประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้ใจในสภาที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ ที่มี “ส.ส.หน้าใหม่” จำนวนมาก การขับเคี่ยวชั้นเชิงทางการเมืองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยจุดแข็งของพรรคอนาคตใหม่คือการจัดเตรียมข้อมูล ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ห่างหายกับการเป็นฝ่ายค้านไป 8 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รวมทั้งบริบทของพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนไป อดีตแกนนำพรรคที่อยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้เข้าสภาแม้แต่คนเดียว ซึ่งล้วนเป็น “มืออภิปราย” ทั้งนั้น และบางส่วนไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติด้วย ยิ่งทำให้ “ดาวสภาในอดีต” ไม่ได้เข้าสภาจำนวนมาก

ดังนั้น บทบาทจึงตกมาที่ ส.ส.แถว 2-3 ของพรรค ที่ได้เห็นฝีไม้ลายมือกันมาบ้างแล้ว

 

จึงเป็นการบ้านของฝ่ายค้านในการวางแผน 1 เดือนครึ่งจากนี้ ในการจัดทัพเตรียมขุนพลและข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้สามารถตรึงสังคมให้ได้ โดยโอกาสที่จะโหวตให้นายกฯ หรือรัฐมนตรี ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรียังเป็นเรื่องยากอยู่ แม้จะเป็นสภาเสียงปริ่มน้ำก็ตาม เพราะรัฐบาลยังคงครองเสียงข้างมากไว้ได้อยู่ รวมทั้งรัฐบาลทำงานมาได้ไม่กี่เดือนด้วย ทำให้แผลทางการเมืองยังมีไม่มาก แต่ก็ถูกเซาะกร่อนผ่านการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในเวลานี้ ที่ทำหน้าที่ปูทางไว้

จึงต้องจับตาว่า สุดท้ายแล้ว “ฝ่ายค้าน” จะสามารถเอา “ชนะน็อก” ได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการ “ชกลม” ที่ไม่สามารถทำอะไรฝ่ายรัฐบาลได้เลย หากประเมินจากสถานการณ์ในเวลานี้ “ฝ่ายรัฐบาล” ยังคงได้เปรียบอยู่ เพราะยังอยู่ในช่วง “ฮันนีมูน” ด้วย

อีกทั้งปัญหาภายในของพรรคฝ่ายค้านเอง โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทย ที่กลับมามีรอยร้าวกันเอง นับตั้งแต่หลังพิจารณา พ.ร.ก.โอนหน่วยทหารฯ ที่มีการดูแคลนแนวทางของแต่ละพรรคกันเอง

ตามมาด้วยกรณี “ธนาธร” กล่าวพาดพิง “ทักษิณ ชินวัตร” ในศาล รธน. รวมทั้งปัญหาภายในพรรคอนาคตใหม่ ที่อดีตผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรค ออกมาแฉเรื่องภายในพรรค และการลาออกของ อดีตผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคหลักร้อยคนที่เกิดขึ้นด้วย

ไม่นับรวมผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 5 จ.นครปฐม ที่ฝั่งรัฐบาลรีบเคลมว่าเป็นกระแสนิยมในตัวรัฐบาล หลังพรรคอนาคตใหม่โหมหาเสียงเป็นการเลือกตั้งชี้ชะตา “รบ.ประยุทธ์” เลยทีเดียว

 

ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านจะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการจัดการอภิปรายไม่วางใจ ให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาของรัฐบาลนี้ และทำให้รัฐบาล “ราคาตก” ลงไป โดยขับเน้นเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ ซึ่งฝ่ายค้านก็ตีโจทย์มาทางนี้ หลังเตรียมอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์-รองนายกฯสมคิดเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อเรียก “พลังศรัทธา” กลับมา และลบคำ “ปรามาส” ว่าพรรคฝ่ายค้านขาลงด้วย โดยเฉพาะกับพรรคอนาคตใหม่

ภายใต้สภาวะทางการเมืองนอกสภาที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ ไม่มีม็อบสีเสื้อเช่นในอดีต อดีตแกนนำม็อบที่มาเป็น ส.ส.ก็ลดลง แต่กลับกันกลไกสภากลับมีความสำคัญมากขึ้นเพราะเป็น “สภาเสียงปริ่มน้ำ” ที่เป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาลชุดนี้

ที่สำคัญ ต้องดูว่า “ฝ่ายค้าน” จะมีเซอร์ไพรส์หรือไม่ แม้เบื้องต้นจะระบุว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 4 รัฐมนตรี จะมีการเสนอชื่อเพิ่มอีกหรือไม่ แบบไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งตัว รวมทั้งการ “กล่าวพาดพิง” ระหว่างการอภิปรายด้วย ที่การขึ้นชกยังอีกยาวไกลและอีกหลายยก ณ เวลานี้ จึงแค่การส่งจดหมายท้าชกเท่านั้น

หากฝ่ายค้านชกได้ดี ก็มีโอกาส “ชนะน็อก” ได้บ้าง แต่ถ้าวืดก็คง “ชกลม” ไปตามระเบียบ!!