รายงานพิเศษ / แผนเบ็ดเสร็จ ยึดการเมือง ยึดกองทัพ “บิ๊กตู่-บิ๊กแดง” จับมือ ทายาทนายกฯ บนถนน “พปชร.” จับตา จัดคิว วางตัว ผบ.ทบ. “คอแดง”

รายงานพิเศษ

 

แผนเบ็ดเสร็จ ยึดการเมือง ยึดกองทัพ

“บิ๊กตู่-บิ๊กแดง” จับมือ

ทายาทนายกฯ

บนถนน “พปชร.”

จับตา จัดคิว วางตัว ผบ.ทบ. “คอแดง”

เส้นทางการเมืองของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ

แม้จะเจอคลื่นลมบ้าง มีหนามแหลมคมสะกิดแทงบ้างก็เป็นไปตามธรรมชาติของการเมือง

แม้จะถูกอภิปรายในสภาและกำลังจะถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ก็ตาม  แต่ก็เชื่อกันว่าไม่มีผลถึงขั้นล้มรัฐบาลได้

ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทยก็ดูมีบทบาทน้อยลงเมื่อเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังเดินสู่ปลายทางของการถูกยุบพรรคและการตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคจากคดีต่างๆ ที่รออยู่

แม้จะมีความหวาดหวั่นว่าอาจจะมีการปลุกม็อบแบบฮ่องกงก็ตาม แต่ฝ่ายทหารก็ประเมินว่ายังไม่พีคถึงขั้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาก่อม็อบบนท้องถนน

ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มี “ตัวช่วย” ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นอยู่มากมาย

หากสามารถบริหารจัดการภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีอดีต ส.ส.จากหลายพรรคหลายกลุ่มหลายขั้ว ที่ “ดูด” เข้ามาได้

และยังคงเจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลได้อยู่ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ผ่านฉลุย 4 ปีแรกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก

หรือแม้แต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปและการกลับมาเป็นนายกฯ ในสมัยที่ 2 เพราะยังมีวุฒิสมาชิก 250 คนที่แต่งตั้งไว้ตอนเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีวาระ 5 ปี ยังคงอยู่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกสมัยได้ แม้ไม่ง่ายนักแต่ก็ไม่ยากเกินไป

อาจกล่าวได้ว่าแทบไม่ต้องหา “นายกฯ สำรอง” มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ วัย 65 ปี ที่ยังคงแข็งแรงและยังคงเป็นนายกฯ ต่อไปได้อีก 8 ปี แม้จะไม่เหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเสียทีเดียว ในเรื่องสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองและบุคลิกลักษณะ

แต่ด้วยความเป็นนายทหาร เป็นอดีต ผบ.ทบ. ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะกลายเป็น “ป๋าเปรม 2”

 

สําหรับคนเป็นทหารแล้ว ย่อมต้องมีแผนเผชิญเหตุ แผนสำรองกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

นั่นจึงเป็นที่มาของการมี “นายกรัฐมนตรีสำรอง” ที่จะมาดูแลบ้านเมืองแทน พล.อ.ประยุทธ์ ตามระบอบประชาธิปไตย

จากที่เคยมีชื่อบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และอดีต ผบ.ทบ.สายรบพิเศษ น้องรักบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และรักษาการประธานองคมนตรี แล้ว

ทุกสายตายังคง จับจ้องไปที่ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. แม้เจ้าตัว จะประกาศแล้วว่า ผมไม่เล่นการเมือง และไม่เล่นกับนักการเมือง

หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะปฏิเสธการวางตัว พล.อ.อภิรัชต์ เป็นทายาททางการเมือง ก็ตาม

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ ก็กลายเป็น ตัวเต็งนายกฯในอนาคต ที่จะมาเป็นนายกฯคนนอก ในอนาคต

ทั้งใน 8 ปีข้างหน้า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากหลังเสือ

หรือแม้แต่ในอดีต 4 ปีข้างหน้าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถึง “ขาลง” เร็วกว่าที่คาด

ชื่อของ พล.อ.อภิรัชต์ อาจกลายเป็นชื่อที่ 250 ส.ว.โหวตให้เป็นนายกฯ ในสภา

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกตัวไว้ว่า “การเป็นนายกฯ มันง่ายนักหรือ” และ “การเป็นนายกฯ มันไม่ง่ายหรอกนะ”

แต่ก็หวังแค่สยบข่าวลือเพราะยังไม่ต้องการให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็นเป้าทางการเมือง

เพราะในมุมมองของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ที่เป็นกำลังหลักของ คสช.และคุมพรรคพลังประชารัฐนั้น ก็มองว่า พล.อ.อภิรัชต์สามารถเป็นนายกฯ ได้  จึงได้รับลูกเชียร์ไว้ว่า

“ถ้าเป็นได้ก็ดี”

ด้วยบทบาทตำแหน่งหน้าที่ของ พล.อ.อภิรัชต์ทำให้กลายเป็นคนพิเศษและมีสถานะพิเศษด้วย

ทั้งการเป็น ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 เป็นนายทหารพิเศษประจำกรม ทม.รอ. และ บอร์ดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

จนทำให้ฝ่ายตรงข้าม เริ่มหวาดหวั่นถึงอนาคต….. ไม่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะมาเป็นนายกฯ แบบตามระบอบหรือว่าจะมาจากการรัฐประหารก็ตาม

เพราะหากเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว พล.อ.อภิรัชต์ ถูกมองว่าทั้งดุและเด็ดขาดมากกว่า

เคยมีคนเทียบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “สฤษดิ์น้อย” แต่สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้วเรียกได้ว่าเป็น “สฤษดิ์ 2” เลยทีเดียว

ด้วยบทบาททางการเมือง ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ยังเป็น ผบ.ร.11 พัน 2 รอ. จนเป็น ผบ.ร.11 รอ. จนถึงเป็น ผบ.ทบ. โดยเฉพาะ เมื่อขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเราฯ” อย่างดุเดือด

จนทำให้ฝ่ายตรงข้าม ยิ่งประจักษ์ว่า “บิ๊กแดง เอาจริง” จนทำให้กระแสการตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายธนาธร และการยุบพรรคอนาคตใหม่ จากผลพวงเรื่องคดีต่างๆ ไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมาย

และที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เจ้าตัวก็มีการพุ่งเป้ามาที่ทหาร

“ผมไม่ได้ใจดีเหมือน พล.อ.ประยุทธ์” พล.อ.อภิรัชต์เคยเปรยกับคนใกล้ชิด

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายต่อต้านทหารจะเปรียบเทียบแล้วว่าจะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์หรือ จะอยากเจอ พล.อ.อภิรัชต์

ในเมื่อโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งจะล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์โค่นอำนาจฝ่ายทหารลงได้มีน้อยมาก

แม้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พล.อ.อภิรัชต์ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต้องเว้นวรรคทางการเมืองหลังพ้นตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งไม่ใช่เวลานาน และจะเป็น 2 ปีที่จะสั่งสมบารมีจากตำแหน่งสำคัญที่รอรองรับอยู่หลังเกษียณ 30 กันยายน 2563

เพราะหลังจากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ก็ลงสู่สนามการเมืองได้โดยที่เป้าหมายไม่ใช่แค่การเป็น รมว.กลาโหม แทน พล.อ.ประยุทธ์ที่นั่งควบอยู่เท่านั้น

หาก พล.อ.อภิรัชต์ตัดสินใจเล่นการเมืองก็ย่อมต้องเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เรียกได้ว่าจะคุมเบ็ดเสร็จทั้งการเมืองและอำนาจในกองทัพเพื่อความมั่นคง สงบเรียบร้อย และสกัดกั้นขบวนการล้มเจ้า พวกซ้ายจัด และคอมมิวนิสต์เดิมในยุคใหม่ อันเป็นเป้าหมายสำคัญของ พล.อ.อภิรัชต์ที่แสดงออกมาตลอด

เพราะในส่วนของกองทัพก็มีการวางตัวกันไว้แล้ว เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์เกษียณในปลายปีหน้า บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. นั่งยาวจนกันยายน 2566

และคาดว่าจะต่อด้วยบิ๊กต่อ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพน้อยที่ 1 (ตท.23) ที่จะขยับขึ้นแม่ทัพภาค 1 ในปีหน้า และเติบโตทันเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์พอดี โดยมีอายุราชการถึงกันยายน 2567

โดยมีบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร (ตท.21) ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ และนั่งยาวถึง 2566 เช่นกัน

และต่อด้วยบิ๊กอ๊อบ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองแม่ทัพภาค 1 (ตท.24) ที่ก็จะต่อคิวขึ้นแม่ทัพภาค 1 และเป็น ผบ.ทบ.ในอนาคตได้ โดยมีอายุราชการถึงกันยายน 2568

 

คาดกันว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีหน้า ก่อน พล.อ.อภิรัชต์ เกษียณจะมีการวางตัวคนที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. แบบระยะยาวเอาไว้ให้เห็นชัดมากขึ้น

จากระดับผู้บัญชาการกองพล ไม่ว่าจะเป็น “ผบ.เนี้ยว” พล.ต.ทรงพล สาดเสาเงิน ผบ.พล.1 รอ. ‘ผบ.ตั้ง’ พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.มทบ.11

ผบ.หนุ่ย พลตรี ธราพงษ์ มะละคำ ผบ.พล.ร.2 รอ.

ที่จะต้องเป็น “นายทหารคอแดง” คือผ่านหลักสูตรการฝึก ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และปฏิบัติตามกฎแห่งราชสวัสดิ์อย่างเคร่งครัดด้วยนั่นเอง

ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยและการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

 

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ ก็ต้องมาตามระบอบประชาธิปไตย และเชื่อกันว่าพรรคพลังประชารัฐก็คือถนนเส้นทางเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินมาสู่เก้าอี้นายกฯ นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ย่อมหมายถึงทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในนาม 3 ป. ที่เป็นคีย์แมนหลักในขั้วอำนาจ คสช. ก็ต้องหนุน พล.อ.อภิรัชต์ด้วย ในการวางตัวเป็นทายาททางการเมืองเป็นนายกฯคนต่อไปโดยยังไม่กำหนดว่าเมื่อใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์คงไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่แน่ เพราะประกาศแล้วว่า “ผมไม่เล่นกับนักการเมือง”

แต่หากต้องเล่นการเมืองตามระบอบก็จะยังจำเป็นต้องใช้พรรคพลังประชารัฐของพี่ๆ 3 ป. นี่แหละ

โดยไม่มีใครอยากจะให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งแน่นอน

นักการเมืองรุ่นเก๋าคนหนึ่ง ที่เคยมีบทบาทในการตั้งพรรคสามัคคีธรรม เปรียบเทียบว่าการเข้าสู่การเมืองของทหาร แม้จะต่างยุคต่างสมัย ต่างสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีเป้าหมายที่จะสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหาร และปิดโอกาสไม่ให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลับมามีอำนาจได้อีก

พรรคพลังประชารัฐ จึงมีความเหมือนกับพรรคสามัคคีธรรม..

ทั้งการรวบรวมอดีต ส.ส.ของพรรคต่างๆ กลุ่มต่างๆ แบบที่เรียกว่า เป็นการ “ดูด” และเป็นการดูดทั้งด้วยบารมีอำนาจของฝ่ายทหาร และนักการเมืองที่สนิทสนมกับทหาร และดูดด้วยการซื้อตัวนักการเมือง ซื้อตัวอดีต ส.ส.มาเข้าพรรค

พรรคสามัคคีธรรมตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่นำโดย จปร.5 ที่แม้จะมีบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.ทหารสูงสุด ในเวลานั้นเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

แต่คีย์แมนหลักในการรัฐประหารคือบิ๊กสุ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. และบิ๊กตุ๋ย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก จปร.5 และพี่เมียน้องเขยกันนั่นเอง

ด้วยเหตุที่ต้องจับตัว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่สนามบินทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พื้นที่ทหารอากาศจึงทำให้ พล.อ.สุจินดาต้องขอให้บิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. ที่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น 0143 เป็นผู้นำในการปฏิบัติการจับตัวนายกฯ จนสำเร็จ

แต่เพราะ พล.อ.สุจินดาไม่กล้าเป็นนายกฯ เอง เพราะหวั่นจะถูกครหาว่าอยากได้อำนาจจึงรัฐประหาร จึงเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ คุมไม่ได้ และเกิดความขัดแย้ง

แต่ในเมื่อทุกการรัฐประหารจะต้องเร่งกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่ พล.อ.สุจินดา และแกนนำรัฐประหารรู้ดีว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม ศัตรูจะกลับมาเป็นรัฐบาล กลับมามีอำนาจอีกครั้งจึงทำให้ต้องตั้งพรรคสามัคคีธรรม

“พรรคสามัคคีธรรมก็เหมือนพรรคพลังประชารัฐ ตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหารเพื่อรองรับทหารมาเล่นการเมือง สืบทอดอำนาจสกัดฝ่ายตรงข้าม”

คีย์แมนในการตั้งพรรคสามัคคีธรรมคือ พล.อ.อ.เกษตร ที่มีเพื่อนฝูงในแวดวงการเมือง นักการเมืองและมีชั้นเชิงในการต่อรองและใจถึง

ส่วนคีย์แมนในการตั้งพรรคพลังประชารัฐคือบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตรพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ที่ก็มีเพื่อนฝูงในหมู่นักการเมือง และมีบารมีรวมทั้งใจถึงพึ่งได้

แต่เป้าหมายของบิ๊กเต้ คือตั้งพรรคให้บิ๊กสุเพื่อนรักและหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวจริง แต่บิ๊กสุอยู่นิ่งๆ หล่อๆ รอเป็นนายกฯ

เป้าหมายของบิ๊กป้อมคือตั้งพรรคให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์หัวหน้าคณะปฏิวัติในนาม คสช.ที่หาญกล้าเป็นนายกฯ เองหลังปฏิวัติเองและนั่งนานถึง 5 ปี

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็นั่งนิ่งๆ หล่อๆ รอเป็นนายกฯ ด้วยการใช้พรรคพลังประชารัฐเป็นเส้นทางกลับสู่เก้าอี้นายกฯ อีกครั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกติกาที่เขียนขึ้นมาเอง

 

นั่นคือความเหมือนของบิ๊กสุ พล.อ.สุจินดา กับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ต้องลงมาแปดเปื้อนเกลือกกลั้วกับนักการเมืองและไม่มีความรู้ในกลเกมการเมือง

แต่ให้บิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร และบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตรเป็นมือดีลทางการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคเช่นกัน

ที่แตกต่างคือ พล.อ.อ.เกษตรพร้อมที่จะเป็นนายกฯ เอง หาก พล.อ.สุจินดาถอดใจ

แต่ พล.อ.ประวิตร แม้จะอยากเป็นนายกฯ แต่ก็รู้ข้อจำกัดของตนเองดีจึงแน่วแน่ในการดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แล้วก็ทำสำเร็จ

ทุกวันนี้ พล.อ.ประวิตรเปิดตัวเปิดหน้าเข้ามาคุมพรรคพลังประชารัฐเองด้วยการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค แต่ก็รู้กันดีว่าคือหัวหน้าพรรคเงา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐที่ดูดอดีต ส.ส.มาเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่ด้วยการต่อรองกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ จึงทำให้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จโดยมีความหวาดหวั่นในบารมีอำนาจของฝ่ายทหารร่วมด้วย

ทว่าจุดจบของพรรคสามัคคีธรรมและคีย์แมน รสช.บันทึกในประวัติศาสตร์ไว้ด้วยเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535 หลัง พล.อ.สุจินดาเป็นนายกฯ คนนอกได้แค่ 47 วัน

ด้วยเพราะขึ้นมาพร้อมความขัดแย้งกับทั้งนายทหาร จปร.7 ที่เรียกได้ว่ามีความแค้นเก่าตั้งแต่สมัยเรียนนายร้อย จปร. จนมาถึงการปราบกบฏเมษาฮาวาย 2534 รวมทั้งความขัดแย้งกับบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผบ.ทบ. พี่เลิฟ

รวมทั้งกับบ้านสี่เสาเทเวศร์ด้วย

 

แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่ขึ้นมามีอำนาจแต่แชร์อำนาจให้ทุกกลุ่มทุกขั้วทุกฝ่าย ไม่เป็นศัตรูกับใครและให้ความเคารพบ้านสี่เสาฯ

แม้ว่าวันนี้บ้านสี่เสาฯ จะปิดตำนานลงไปแล้วหลังการอสัญกรรมของ พล.อ.เปรม แต่ก็ไม่ได้ส่งผลใดต่อขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะบรรดานายทหารที่ได้ชื่อว่า “ลูกป๋า” โดยเฉพาะบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่จะขึ้นมาแทนป๋า ก็ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประยุทธ์

จึงทำให้ยังมองไม่เห็นปลายทางของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังคงมีเป้าหมายเป็นนายกฯ ให้นานที่สุด อย่างน้อย 2 สมัย หรือ 8 ปี โดยที่ยังมีพรรคพลังประชารัฐ และมี ส.ว. 250 คน ที่มีวาระ 5 ปี รอพร้อมที่จะโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า

ยกเว้นเสียแต่ว่าเมื่อบรรดานักการเมืองเลิกกลัวเกรงทหาร เพิ่มพลังอำนาจในการต่อรองแล้ว ก่อกบฏขึ้นมา เมื่อนั้นพรรคพลังประชารัฐอาจแตกได้

จุดจบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และพี่น้อง 3 ป. รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐจึงยังไม่มีใครอาจคาดการณ์ได้ว่าจะเมื่อใดและอย่างไร

แต่กล่าวกันว่าประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเสมอ ไม่ว่าการทหารหรือการเมือง