อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : เพื่อนตัวเล็ก

เพื่อนโทร.มาบอกว่า ลูกของเธออยากมาบ้านฉัน ไปวันนี้ได้มั้ย ฉันสะดวกมั้ย

ฉันหัวเราะ

เสียงหัวเราะจากความดีใจ ชื่นใจ และประหลาดใจ

แต่ไหนแต่ไร ฉันไม่ค่อยเข้าใจเด็ก ฉันหมายถึงเด็กที่ยังไม่เป็นหนุ่มสาว มันยากที่จะดึงความสนใจพวกเขา ยิ่งถ้าพวกเขางอแง เอาแต่ใจ ฉันก็ยิ่งถอย ฉันเป็นคนประเภทที่ต่อให้สวยหยาดฟ้าก็ไปประกวดนางงามไม่ได้ เพราะไม่ค่อยรักเด็ก

ใช่ว่าใจหิน แต่ความรักของฉัน รวมทั้งความสนิทสนม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความไร้เดียงสาและความบอบบาง สองคุณสมบัตินี้ไม่อาจสร้างความรัก ชวนให้หวั่นใจมากกว่า กลัวเด็กร้องไห้เพราะฉัน กลัวเด็กจะมองว่าฉันดุ แล้วมันเป็นเรื่องจริง ที่ฉันไม่รู้จะพูดกับเด็กอย่างไร ไม่รู้ว่าควรแสดงออกกับพวกเขามากน้อยแค่ไหน ความเป็นน้า ความเป็นป้า หมายถึงอะไร นอกจากอายุมากกว่า นั่นเป็นคำถามที่ติดในใจฉันเสมอมา

ยกเว้นเด็กคนไหนบอกว่าหิว

 

ใช่ ลูกของเพื่อนเคยมาเจอฉัน เขามากับแม่และเพื่อนของแม่ ซึ่งต่างกินแหนมเนืองจนต้องปลดตะขอกางเกง แต่เด็กชายเพิ่งเสร็จจากว่ายน้ำ ยังไม่มีอะไรตกลงท้อง

เขาเดินมาถามฉัน “มีอะไรให้ผมกินมั้ยครับ ขอดูเมนูหน่อย ที่นี่เป็นร้านอาหารหรือเปล่าครับ”

ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่ทำอาหารให้คนที่หิวได้

ฉันเสนอไส้กรอกย่างกับมันฝรั่งผัดเบคอน

เขาพยักหน้าทันที “ผมชอบเบคอนมาก แต่แม่ไม่ค่อยให้กินครับ”

แม่คงอยากให้เขาลดน้ำหนักสักหน่อย เขาค่อนข้างอวบ ยังเป็นเด็กชาย แต่พูดจาฉะฉานเสียจนฉันประทับใจ

ฉันจำได้ ตอนที่เขาตักอาหารคำแรกเข้าปาก เขาตะโกนบอกแม่เสียงดัง “โอย แม่ อร่อยมากเลย อร่อยมาก”

ตอนกลับ เขาเดินมาถามฉัน “คุณสอนแม่ผมทำมันฝรั่งได้มั้ยครับ”

ตลอดการสนทนาในคืนนั้น เราใช้สรรพนาม คุณ ผม และเรา อาจเป็นเพราะสรรพนามที่ทำให้ฉันรู้สึกกับเขาต่างจากเด็กคนอื่น ฉันสบายเนื้อสบายตัวเวลาคุยกับเขา

และฉันภูมิใจมากที่มันฝรั่งผัดเบคอนกลายเป็นอาหารจานโปรดของเขา

 

เพื่อนของฉันเลี้ยงลูกเป็นเพื่อน ใช้ภาษาอังกฤษในบ้านร่วมกับเรียนโรงเรียนนานาชาติ

เด็กชายจึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง เท่าที่ฉันเห็น เขาใช้ได้ดีทั้งสองภาษา แม้ว่าพ่อ-แม่ของเขาเป็นคนไทย

ไม่ได้หมายถึงภาษาไหนดีกว่ากัน และไม่ใช่ฉันเห่อฝรั่ง แต่ฉันเชื่อ-เราไม่อาจคิดข้ามภาษา ภาษาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสื่อสาร แต่ยังเป็นเครื่องมือของความคิด เราคิดโดยผ่านภาษา ภาษาที่เราใช้จึงมีผลต่อความคิด และความรู้สึกของเรา

ตัวอย่างง่ายที่สุด คนไทยนับญาติกันโดยอัตโนมัติ พี่ น้า ป้า ยาย

โดยผิวเผิน มันก็แค่สรรพนาม แต่เมื่อคิดให้ดี เราจะพบว่าสรรพนามเหล่านี้กำหนดตัวตนของเรา

เด็กชายเรียกฉันว่าคุณ จึงทำให้ฉันสบายใจที่จะคุย คุณหมายถึงเราคือมนุษย์เหมือนกัน เขาคือเพื่อนมนุษย์ที่ตัวเล็กหน่อย-ก็เท่านั้น

นั่นไงล่ะ เพื่อนมนุษย์ของฉัน เดินเข้ามาพร้อมคำถาม “วันนี้เราจะกินอะไรกันดีครับ”

“ไปค่ะ เราทั้งหมดต้องเข้าครัว เพื่อแม่ของคุณจะทำเมนูนี้ได้”

เขายิ้มหน้าบาน ดูเหมือนเขาจะติดใจรสมือฉันเอาจริง

 

ฉันลวกพาสต้าไว้แล้ว หั่นผักเตรียมไว้แล้ว มีหอมหัวใหญ่ พริกระฆัง แคร์รอต และมะเขือเทศ ฉันรู้ว่าเขาไม่ชอบผัก แต่ฉันไม่ใช่แม่หรือน้าของเขา ดังนั้น ฉันจะไม่ตามใจ ถ้าเขาอยากกินอาหารฝีมือเพื่อนมนุษย์คนนี้ เขาต้องกินผักด้วย ฉันหั่นชิ้นเล็กเพื่อเขาเลยนะ

เนื้อสัตว์เราใช้ไก่ จริงๆ กุ้งก็เหมาะ แต่ไก่หาซื้อง่ายกว่าในเชียงราย ใช้ส่วนอก หั่นเป็นชิ้น หมักซีอิ๊วขาวกับน้ำมันงาไว้

ฉันตั้งกระทะ รอกระทะร้อนจัด ก็ใส่น้ำมันลงไปนิดหน่อย เอียงกระทะให้น้ำมันทั่วถึง ใส่ไก่กับหอมใหญ่ลงไป ผัดพอไก่ตึงๆ ค่อยใส่พริกระฆังกับแคร์รอต ผัดต่อให้สุก แหวกพื้นที่ว่างตรงกลางกระทะ แล้วตอกไข่ ขยี้สองสามที รอให้ไข่สุก

“คุณรู้ใช่มั้ยครับ ผมไม่ชอบผัก” เขาว่า

“ค่ะ และคุณชอบพาสต้าใช่มั้ยคะ”

“ชอบครับ”

“ผัดใส่ซอสมะเขือเทศแบบนี้ต้องมีผัก ถ้าคุณไม่กินก็เขี่ยทิ้งได้นะ” ฉันบอก พร้อมเทพาสต้าลงกระทะ

ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย และซอสมะเขือเทศ ผัดต่อให้ร้อน ใส่มะเขือเทศหั่นเป็นอย่างสุดท้าย ผัดต่ออีกสักครู่ แล้วฉันก็ปิดเตา

ตักหนึ่งช้อนใหญ่ๆ ให้เขาชิม เขาบอกว่าอร่อย

ฉันจึงตักใส่จานใหญ่เบิ้มให้เขา จานเล็กๆ ให้แม่ของเขา ไม่ลืมโรยต้นหอม กับพริกไทย

แม่ของเขายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ คงลุ้นว่าลูกชายจะกินผักมั้ย จะเขี่ยผักทิ้งแค่ไหน

ทั้งแม่ของเขาและเขา คงไม่ทันสังเกต ว่าคำที่เขาชิม มีผักครบทุกชนิดเลย เขากินไปแล้ว และอร่อยไปด้วย