ฉัตรสุมาลย์ : สายธารประวัติศาสตร์ภิกษุณีสงฆ์ในไทย กับชีวิตของ “วรมัย กบิลสิงห์”

การเตรียมการ

คลื่นลูกที่สอง คือการออกบวชของครูวรมัย กบิลสิงห์ พ.ศ.2499 ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2499 จนถึง 2514 รวม 15 ปี

นักบวชวรมัย กบิลสิงห์ ใช้ชื่อว่า ทศธรรมมงคล พยายามหาข้อมูลและช่องทางไปบวชภิกษุณี ได้ศึกษาปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์ โดยพระภิกษุเย็นเกียรติ ท่านเคยบวชในสายเถรวาท แต่เห็นว่าคับแคบก็เลยออกไปบวชในสายมหายาน

ตอนที่เราไปกราบท่านนั้น ท่านปลูกกุฏิเล็กๆ อยู่ตรงสุสานมารดาของท่าน ท่านมีเมตตาแปลพระปาติโมกข์นิกายธรรมคุปต์จากภาษาจีนเป็นภาษาไทยเพื่อให้นักบวชทศธรรมมงคลเริ่มศึกษาเพื่อการเตรียมความพร้อมในการที่จะเป็นภิกษุณีต่อไป

เพราะช่วงนั้น สายภิกษุณีที่สืบทอดมาจากศรีลังกาเป็นสายจีน และสายจีนใช้พระปาติโมกข์นิกายธรรมคุปต์ที่ตัวท่านเองสังกัดอยู่ นักบวชทศธรรมมงคลอาศัยศึกษาตรวจทานความรู้ความเข้าใจพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์ตั้งแต่บัดนั้น

สำหรับความคิดเรื่องที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้น เป็นความตั้งใจของท่านเองแต่แรก เพราะท่านศึกษาพุทธศาสนาโดยอ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรง ท่านเห็นว่า ภิกษุณีมีอยู่ เคยมีอยู่ และเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่จะให้มีภิกษุณี

ท่านจึงเพียรพยายามหาช่องทาง แต่ถามพระภิกษุไทยในสายเถรวาท ทุกรูปจะตอบเหมือนกันว่า หมดไปแล้ว มีอีกไม่ได้ เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์ที่จะเริ่มต้นให้

 

การเตรียมพื้นที่

การเตรียมตัวอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ สถานที่ ท่านศึกษากฎหมายและทราบว่า การสร้างวัด ต้องมีพื้นที่ 6 ไร่ ท่านจึงมองหาพื้นที่ 6 ไร่แถวชานเมือง

ท่านขายห้องแถว 2 ห้องที่อยู่ริมถนนหน้าซอยราชครูไป รวมทั้งบ้านที่อยู่ที่ซอยจิตรลดา 2 พญาไท (ตรงนี้เป็นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลรามาฯ) รวบรวมเงินมาซื้อที่ดินให้เป็นผืนใหญ่พอที่จะสร้างวัดได้

ท่านพอใจกับจังหวัดนครปฐม โดยแง่ของประวัติศาสตร์ เป็นจังหวัดที่พระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชโน่น (พ.ศ.300)

ในขณะที่ท่านรอรถเมล์กลับกรุงเทพฯ ก็ (ราวกับบังเอิญ) ได้พบทนายที่เป็นคนจัดการที่ดินของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี มารอขึ้นรถเมล์ประจำทางเข้ากรุงเทพฯ เหมือนกัน

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมานครปฐมเพื่อฝึกซ้อมเสือป่านั้น พระองค์ท่านได้ทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์ และเสด็จออกมาประทับที่นั่นหลายครั้ง

ทราบว่าพระองค์ท่านทรงซื้อที่ดินโดยรอบ 888 ไร่ บางโฉนดเดิมเป็นของชาวจีนที่เข้ามาทำไร่ตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีนั้น ทรงเป็นพระราชินีอยู่เพียง 3 ปีครึ่ง ก็ทรงถูกปลดลงเป็นพระวรชายา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.6 พระองค์ท่านเป็นพระราชินีเพียงพระองค์เดียว

แม้เมื่อถูกลดตำแหน่งลงเป็นพระวรชายาแล้ว ก็มิได้ทรงแต่งตั้งองค์ใดขึ้นเป็นพระราชินีอีก

 

ช่วงที่เราซื้อที่ดินของพระองค์ท่านผ่านทนายนั้น โฉนดออกในพระนามของพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีอยู่ เป็นโฉนดที่เรายังถือครองอยู่จนปัจจุบัน

ราคาที่ซื้อในสมัยนั้น จากบันทึกของมารดาของผู้เขียนระบุว่า 8 หมื่นเศษ ชำระเป็นงวดๆ จนหมด

ที่ดินผืนนี้อยู่บนถนนเพชรเกษม ระหว่าง ก.ม.52-53 หากมาจากกรุงเทพฯ จะอยู่ซ้ายมือ ก่อนขึ้นสะพานต่างระดับที่จะเข้านครปฐม เราอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์เพียง ๓ ก.ม. ในวัยเด็ก (ของผู้เขียน) สามารถถีบจักรยานเข้าเมืองได้สะดวก

ในช่วงแรก มีลูกกำพร้าและนักบวชสตรีที่สนใจปฏิบัติธรรมออกมาอยู่กันหลายรูป เราค่อยๆ สร้างตัวเอง ฝึกตั้งแต่การทำนา ดำนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว แล้วเข็นรถสาลี่เอาข้าวเปลือกไปสี โดยไปส่งที่โรงสีข้าวที่ต้นสำโรง อยู่ติดทางรถไฟ ซึ่งอยู่ห่างไป 2 ก.ม. ทั้งหมดนี้เราทำกันเอง โดยที่นักบวชทศธรรมมงคล มารดาของผู้เขียน ยังอยู่กรุงเทพฯ

นอกจากการจัดหาสถานที่แล้ว การสร้างคนเป็นสิ่งสำคัญ ในกระบวนการสร้างวัตรนั้น เราก็สร้างคนไปด้วยโดยให้ลงพื้นที่ได้ทำงานจริง เรียนรู้จากชีวิตจริงทั้งสิ้น

การสร้างพระอุโบสถ อาคารที่สำคัญที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ภิกษุณีสงฆ์ ใช้เวลานานถึง 10 ปี ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ทำ ตามกำลังทรัพย์ที่ทยอยเข้ามาเหมือนน้ำซับทราย จนเป็นพระอุโบสถที่สมบูรณ์แบบ สัดส่วนของอาคารงามมาก เห็นชัดหากขับรถบนถนนเพชรเกษม โดยเฉพาะหากมาจากนครปฐมกำลังเข้ากรุงเทพฯ

การสวดสมมุติสีมารอบพระอุโบสถทำโดยการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป โดยการนำของพระอาจารย์ ดร.วิเวกนันทะ (ประจำอยู่ที่วัดไทยในอเมริกา ขณะนี้มรณภาพแล้ว) ในสมัยที่ท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว พ.ศ.2544

เรียกว่า การจัดหาพื้นที่และสร้างพระอุโบสถสำเร็จในสมัยหลวงย่าภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์

 

การอุปสมบทภิกษุณี

ในขณะที่พระภิกษุไทยยืนยันว่า ไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ในสายเถรวาท พ.ศ.2511 ผู้เขียนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา ที่นั่น ได้พบอาจารย์ชาวจีนที่สอนภาษาจีนให้ผู้เขียนสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่อินเดีย ศ.ดร.ราน ยุ่นฮวา ทราบว่า มารดาของผู้เขียนแสวงหาการอุปสมบท จึงแนะนำว่าที่ไต้หวันยังมีการอุปสมบทภิกษุณีที่มั่นคงสืบเนื่องกันมายาวนาน

โดยที่ไม่มีข้อมูลอื่น เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านใน พ.ศ.2514 และเดินทางกลับออกไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่แคนาดา ผู้เขียนจึงติดต่อไปที่วัดภิกษุณีและเดินทางไปกับมารดาเพื่อแสวงหาการอุปสมบทภิกษุณีให้ท่านที่นั่น

ที่เราไม่ทราบไปก่อน คือ ที่ไต้หวัน การอุปสมบทภิกษุและภิกษุณีเขาจัดทำกันเพียงปีละครั้ง เราไปถึงโดยมิได้นัดหมายจึงต้องจัดการเป็นกรณีพิเศษ

เราสองคนแม่ลูกพักอยู่ที่วัดภิกษุณีกลางเมืองไทเป มีพระภิกษุชาวจีนชื่อหมิงซาน เป็นคนเข้ามาดูแล รับไปติดต่อวัด ติดต่อพระอุปัชฌาย์ และนิมนต์พระอันดับให้

ใช้เวลาเตรียมการที่เรารออยู่อย่างใจจดใจจ่อ นาน 23 วัน

ระหว่างนั้น ท่านหมิงซานมารับมารดาผู้เขียนออกไปตัดรองเท้า ตัดเสื้อผ้าจีวรตามแบบจีน โดยเลือกเสื้อแขนยาวเป็นสีเหลืองน้ำตาล และรองเท้าผ้าตามที่เราเห็นพระจีนท่านใส่กัน

วันที่ทำการอุปสมบท เราไปประกอบพิธีที่วัดซุงซาน มีพระอุปัชฌาย์คือ พระอาจารย์เต้าอันฝ่าซือ ท่านเป็นพระภิกษุระดับแนวหน้าที่สนใจปัญหาสังคมและออกหนังสือรายเดือนชื่อสิงห์คำราม ท่านจึงสนใจสนับสนุนมารดาของผู้เขียนเพราะออกหนังสือธรรมะ มีความสนใจมาในแนวทางเดียวกัน ท่านให้ฉายาตามฉายาของท่านว่า ต้าเต้าฝ่าซือ มีพระอันดับรวม 13 รูป

ฉายาต้าเต้าฝ่าซือ แปลเป็นไทยว่า มหาโพธิธรรมาจารย์ คำว่าฝ่าซือ แปลตรงๆ ว่าธรรมาจารย์

การอุปสมบทครั้งนั้น เป็นการทำสังฆกรรมตามแบบจีน สมัยนั้น ยังไม่พูดถึงเรื่องการบวชโดยสงฆ์สองฝ่าย การอุปสมบทเป็นสังฆกรรมที่ทำในภิกษุสงฆ์ ทั้งในจีนและเกาหลี

หนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวการบวชของท่านครั้งนั้นด้วย

 

ปัญหาอุปสรรค

เนื่องจากท่านภิกษุณีมหาโพธิธรรมาจารย์อุปสมบทมาลำพังรูปเดียว จึงไม่สามารถทำสังฆกรรมได้

ผู้เขียนเห็นจุดอ่อนตรงนี้ชัดเจน ว่าการสืบพระศาสนาต้องขับเคลื่อนเป็นสังฆะ นอกจากไม่มีสังฆะแล้ว ท่านก็ยังฝึกคนอื่นขึ้นมาไม่ได้ เพราะท่านรับเอามาเพียงสายการบวช แต่ไม่ได้มีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จะสร้างสังฆะเอง

อุปสรรคสำคัญคือภาษา ถ้าจะสืบสายธรรมคุปต์ต้องรู้ภาษาจีนอย่างดี เพราะศัพท์พุทธศาสนาในภาษาจีนก็ยากขึ้นไปอีกจากภาษาจีนธรรมดา ชาวจีนที่อ่านภาษาจีนออกในบ้านเราก็ยังไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎกได้รู้เรื่อง เพราะเป็นศัพท์เฉพาะจริงๆ

ในประเทศไทยตอนนั้น ท่านเดียวที่ผู้เขียนรู้จักที่อ่านพระไตรปิฎกจีนออก คือ ท่านอาจารย์เลียง เสถียรสุต (บ้านอยู่ตรงหน้าวิทยาลัยครูธนบุรี ตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี)

 

การเตรียมความพร้อมที่จะส่งไม้ต่อ

การเตรียมความพร้อมที่สำคัญที่สุดในการส่งไม้ต่อให้รุ่นต่อไปดูแลเรื่องการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ คือ คุณภาพของบุคลากร

ราวกับว่าผู้เขียนถูกจัดวางให้มีความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ ความมั่นคงแข็งแกร่งในประสบการณ์ชีวิต งานที่ไปทำรายการธรรมะทางโทรทัศน์ช่อง 3 อยู่ 7 ปี (รายการชีวิตไม่สิ้นหวัง)

การศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนราชินีบน สร้างฐานภาษาอังกฤษที่ดีมาก

การศึกษาขั้นต่อมาทั้งในอินเดียและแคนาดา ตลอดจนแขนงความรู้ที่เรียนมาทางศาสนา ฯลฯ

บวกกับ 27 ปีที่เป็นอาจารย์สอนในภาควิชาปรัชญาและศาสนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล้วนเป็นการบ่มเพาะที่ดี เตรียมความพร้อมให้ผู้เขียนทั้งสิ้น

ความสามารถและความคล่องตัวทางด้านภาษาอังกฤษเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในหลากหลายประเทศ อีกทั้งยังออกนิตยสารภาษาอังกฤษ ราย 3 เดือน เป็นจดหมายข่าวเชื่อมโยงสตรีชาวพุทธนานาชาติเข้าไว้ด้วยกัน ยาวนานถึง 30 ปี (ค.ศ.1984-2014)

แม้ว่าพระมหาโพธิธรรมาจารย์ (ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์) สร้างภิกษุณีสังฆะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตท่าน

แต่ท่านได้เตรียมความพร้อมโดยลงทุนสร้างบุคลากรที่สำคัญเพื่อสืบสานงานรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ได้สำเร็จในสมัยต่อมา

ผู้เขียนบรรพชาเป็นสามเณรีที่วัดตโปทานรามยะ นครโคลอมโบ ศรีลังกา สืบสายการบวชของสยามวงศ์ โดยภิกษุสงฆ์ 5 รูป และมีปวัตตินีเป็นชาวศรีลังกา

จากนั้นใช้ฉายาว่า ธัมมนันทา

ท่านธัมมนันทาบรรพชาเป็นสามเณรี 2 พรรษา ก่อนที่จะกลับไปอุปสมบทเป็นภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ภิกษุณีพระมหาโพธิธรรมาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 ปีเดียวกัน (อายุ 95) เรียกว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี เป็นวัตรภิกษุณีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และไม่เคยขาดภิกษุณีมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 จนถึงปัจจุบัน เข้า 48 ปี 4 รอบพอดี

เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานสำหรับช่วงแรกของการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย เราต้องเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง ประวัติศาสตร์เป็นร่องรอยที่เราทำได้และจะทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา