หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ภาพ’ และ ‘ดวงตา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - ดวงตาซึ่งค่อนมาทางจมูก และกะระยะได้ ช่วยให้การกระโจนเข้าหาเหยื่อทำได้ไม่พลาด

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ภาพ’ และ ‘ดวงตา’

 

เหล่าสัตว์กินพืช ได้รับการออกแบบร่างกายมาแบบหนึ่ง

แม้ไม่มีเขี้ยวเล็บไว้ป้องกันตัว แต่สิ่งที่พวกมันมีคืออวัยวะที่เหมาะสมกับการหลบหลีก หรือรับรู้ว่ามีสัตว์ผู้ล่าอยู่ใกล้ๆ

ที่ใช้ร่วมกับการวิ่งได้รวดเร็ว รวมทั้งจมูกรับกลิ่นได้ไกล

นั่นคือ ดวงตา

ตำแหน่งดวงตาสัตว์กินพืช อยู่ค่อนมาทางหู ทำให้พวกมันไม่ต้องเงยหน้าก็สามารถเหลือบตาดูข้างๆ ได้โดยไม่ต้องเงยหน้าขณะก้มกินน้ำหรืออาหาร

อันตรายของสัตว์กินพืชมักมาถึงตอนที่กำลังกิน ความระมัดระวังลดลง

อีกนั่นแหละ ส่วนใหญ่พวกมันก็จะเชื่อจมูกมากกว่าดวงตา

ดวงตาทำหน้าที่มอง

แต่พวกมันคล้ายจะ “เห็น” ด้วยจมูก

เมื่อเห็น มันจะวิ่งไปสักพักก็หยุด เงยหน้าสูดกลิ่นให้แน่ใจ

บางครั้งแม้จะเห็นสัตว์ผู้ล่า แต่กระแสลมพัดจากตัวมันไปทางผู้ล่า ก็อาจทำเพียงเขม้นมอง เงยหน้าสูดกลิ่น

กวางจะยกขาหน้าข้างหนึ่งกระทืบพื้น

หากลมเปลี่ยนทิศ สถานการณ์จะเปลี่ยนไป ทุกตัวตื่นหนี โดยเฉพาะเมื่อกลิ่นผู้ล่าที่พวกมันสัมผัสได้คือกลิ่นของคน

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของดวงตาซึ่งค่อนมาทางหู คือข้อดี

พูดให้ถูก มันทำให้งานของสัตว์ผู้ล่า เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย

สัตว์กินพืชมีทั้งดวงตาและจมูกอันดีเลิศ

กระนั้นก็เถอะ หลายครั้งผมพบซากไร้ชีวิต

ดวงตาในตำแหน่งค่อนมาทางหู เบิกโพลง…

 

ในป่าด้านตะวันตก

ณ โป่งแห่งหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าเสือโคร่งตัวนั้นมาซุ่มรอตั้งแต่เมื่อไหร่ เมื่อเห็นนั้น มันก็ฆ่ากวางรุ่นๆ ตัวหนึ่งได้แล้ว

การลงมือสำเร็จภายในไม่กี่วินาที

แต่ผมรู้ว่ามันเริ่มงานมาแล้วหลายชั่วโมง ซุ่มรอจังหวะอยู่นาน ลายบนตัวช่วยพราง และดวงตาในตำแหน่งค่อนมาทางจมูก ทำให้กะระยะได้ การกระโจนเข้าหาเหยื่อจึงไม่พลาด

กรณีนี้ดวงตาดำขลับของกวางที่สามารถเหลือบมองด้านข้างได้

ช่วยได้ไม่มาก

 

ทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่าในป่าทุ่งใหญ่ เสือโคร่งใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก

กระทิงซึ่งเป็นเหยื่อหลัก อยู่กระจัดกระจายทั่วๆ ไป

ในตอนกลางๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นทิวเขาสูงๆ พบร่องรอยพวกมันไม่มาก

ช่วงฤดูแล้ง หลังไฟไหม้ ทุ่งหญ้าระบัดเขียว กระทิงมารวมฝูง ส่งเสียงกู่ร้องตลอดคืน

กระทิงรวมฝูงอยู่ด้วยกันจำนวนมาก การระวังภัยย่อมดีขึ้น ดวงตาหลายคู่ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าดวงตาคู่เดียว

เป็นงานไม่ง่ายสำหรับเสือโคร่ง

แต่ในทุ่งก็มีซากกระทิงที่ตายเพราะคมเขี้ยวเสือโคร่ง

ดวงตาที่มองเห็นในความมืดดีช่วยได้มาก

บนทางที่เราใช้ เราพบเสือดาวบ่อยๆ เหมือนพวกมันจะคุ้นเคยกับพาหนะและเสียงเครื่องยนต์

แต่กับเสือโคร่ง บนเส้นทาง เราไม่ค่อยพบพวกมันนัก แม้จะพบรอยตีนบ่อยๆ

งานวางกล้องดักถ่าย ได้รูปเสือโคร่งขณะเดินบนทางเสมอ

นั่นทำให้เรารู้สิ่งหนึ่ง เสือกับคนเดินบนเส้นทางเดียวกัน

 

“สมเสร็จนี่ตาไม่ดีนะครับ” อดิเทพ คู่หูบอก ขณะเรากำลังเดินลัดเลาะไปตามป่าดิบเขา

“ไม่กลัวไฟด้วย” เขาพูดต่อ

“พวกลาดตระเวนนอนอยู่ มันยังเดินเข้ามาหากองไฟเลย”

ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอก เขาบอกผม หลายครั้งแล้ว ดูเหมือนเขาหาเรื่องมาพูดคุยเพื่อให้ลืมๆ ว่ากำลังแบกสัมภาระหนักๆ และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่า

มีสัตว์ป่าหลายชนิดถูก “หาว่า” ตาไม่ดีบ้าง จมูกไม่ดีบ้าง

สมเสร็จนี่แหละ ถูกหาว่าไม่มีประสาทสัมผัสส่วนไหนดีเลย

ส่วนนกยูงจะได้รับการยกย่องว่าดีทั้งการเห็น และรับกลิ่น

หน่อเย้ง เพื่อนชาวม้งบนดอยอินทนนท์ บอกผมว่า คนเฒ่าคนแก่บอกต่อๆ กันมาว่า ใน 7 วัน จมูกเสือจะรับกลิ่นได้วันเดียว

ที่จริง นี่คือเรื่องปกติ เสือไม่ใช่สัตว์ผู้ล่า ที่จะกระโจนเข้าหาเหยื่อทุกครั้งที่พบ

เมื่อล่าได้ มีเหยื่อแล้ว กวางเดินผ่านมันก็ไม่สนใจ

เสือมีจมูกรับกลิ่นอันยอดเยี่ยม มองเห็นได้ในความมืด แต่ก็ในระยะใกล้ๆ

รวมทั้งการวิ่งเช่นกัน

วิ่งเร็ว แต่ไปได้ไม่ไกล

ทั้งนี้ เพื่อให้เหยื่อมีโอกาสหลุดรอดพ้นคมเขี้ยวไปได้บ้าง

ในป่ามีการออกแบบไว้อย่างเหมาะสม…

 

ดําเนินชีวิตอยู่ในป่า ดวงตาและการมองเห็นชัดเจนสำคัญและจำเป็น

สัตว์ป่าพวกมัน “อำพราง” ตัวเก่ง

สิ่งหนึ่งที่ผมพบคือ ดวงตาดีมีประสบการณ์ช่วย “ภาพ” ที่เห็นย่อมชัดเจน

ครั้งที่เริ่มต้นใหม่ๆ ยังเยาว์วัย ความสามรถของดวงตามีมาก แต่คล้ายกับว่าผม “เห็น” อะไรๆ ไม่ชัดมากนัก

เวลาผ่านไป กระทั่งถึงวันนี้ ความสามารถในการมองของดวงตาลดลง

แต่คล้ายกับว่า ผม “เห็น” อะไรๆ ชัดเจนมากขึ้น

สัตว์และคนอยู่ในวิถีเดียวกัน