จรัญ มะลูลีม : พิพาทแคชเมียร์ล่าสุดหลังยกเลิก มาตรา 370 และแนวโน้มต่อไป

จรัญ มะลูลีม

แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของอินเดียในกรณีแคชเมียร์ว่าด้วยการยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียที่สหประชาชาติจะเงียบไปก็ตาม

แต่ในเวลาต่อมา ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน อาเซอร์ไบจาน ตุรกี และไนเจอร์ ก็ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ออกแถลงการณ์วิพากษ์อินเดียในนามองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC

แถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 2019 มีขึ้นในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA)

โดยประเทศเหล่านี้ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียหยุดการกระทำแต่ฝ่ายเดียวที่ผิดกฎหมายและยืนยันความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของสหประชาชาติ

ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบใดๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวแคชเมียร์ และจะไม่ยอมให้ผู้ที่มิได้เป็นชาวแคชเมียร์มาตั้งถิ่นฐานในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (J&K)

พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมกับถอนทหารจำนวนมากออกไปจากดินแดนแคชเมียร์

กลุ่มก้อนผู้ปกป้องชาวแคชเมียร์ของ OIC (OIC contact group) ซึ่งออกแถลงการณ์ต่อต้านอินเดียในความขัดแย้งที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์นี้มิได้เป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกนับจากอินเดียตัดสินใจเข้าร่วมประชุม OIC เมื่อต้นปี 2019

แถลงการณ์ของ OIC ว่าด้วยแคชเมียร์ได้มีมาก่อนแล้วในปี 2014 และครั้งหลังสุดมีขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม ปี 2019

 

อินเดียมิได้ขานรับต่อแถลงการณ์ของ OIC ซึ่งมีประเทศต่างๆ เป็นสมาชิกอยู่ 57 ประเทศ แต่ก็ปฏิเสธการถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยอินเดียอ้างอยู่เสมอว่าการยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นเรื่องภายในของอินเดียเอง

ในการพูดที่สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศเมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 2019 รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย เอส ชัยชันกัร (S.Jaishankal) ได้กล่าวถึงความจริงที่ว่าชุมชนมุสลิมกลุ่มใหญ่ ซึ่งรวมถึงกลุ่มญะมาอะตีอัลฮินด์ก็ยังสนับสนุนรัฐบาลอินเดียในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

ในความเป็นจริง แถลงการณ์ของกลุ่มก้อนผู้ทำงานให้กับ OIC ว่าด้วยแคชเมียร์เป็นแถลงการณ์ที่มีอยู่ไม่มากในสหประชาชาติที่วิพากษ์วิจารณ์อินเดียอย่างตรงไปตรงมา

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมรอน ข่าน และมะห์มูด กุเรชี (Mahmood Qurashi) รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานได้นำเอาเรื่องราวของแคชเมียร์มาพูดคุยในการพบปะทวิภาคีและพหุภาคีในที่ประชุมต่างๆ มาตลอด

 

ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน อิมรอน ข่าน นายกรัฐมนตรีของปากีสถานกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่าเขารู้สึก “ผิดหวังกับชุมชนระหว่างประเทศ”

“ไม่มีแรงกดดันใดต่อโมดีให้ยกเลิกการยึดครองแคชเมียร์” อิมรอน ข่าน กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ แถลงการณ์ส่วนใหญ่ของอิมรอน ข่าน ที่ได้รับความสนใจจากโลกมุสลิมและประเทศต่างๆ โดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่เหตุการณ์ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์

ในทางตรงกันข้าม ชัยค์ ฮาซินา วาญีด นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศก็มิได้ออกมาวิพากษ์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด เมื่อถูกถามตรงๆ ว่าทำไมโลกอิสลามจึงไม่นำประเด็นแคชเมียร์และผู้ลี้ภัยโรฮิงญามานำเสนออย่างเป็นเอกภาพ ชัยค์ ฮาซินา วาญีด ตอบว่า เนื่องจาก OIC ไม่รวมตัวกันและมีความแตกต่างระหว่างประเทศที่มี “ทรัพยากรจำนวนมาก” กับ “ประเทศที่ไม่มีทรัพยากร” ทั้งหมดนี้จะต้องแก้ไขด้วยการสานเสวนา

การประกาศยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียที่ทำให้ชาวแคชเมียร์สูญเสียอิสรภาพ บัดนี้ได้ผ่านเลยมาแล้วเกือบ 3 เดือน ที่น่าแปลกใจมากไปกว่าการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของชาวแคชเมียร์ในครั้งนี้ก็คือปฏิกิริยาที่เงียบเฉยของโลก แม้ว่าจะมีองค์กรอย่าง OIC หรือประเทศอย่างปากีสถานและประชาชนในพื้นที่ของแคชเมียร์และบางส่วนของโลกมุสลิมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องอยู่ก็ตาม

การยกเลิกมาตรา 370 และ 35 A ของรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดสิทธิพิเศษให้ชาวแคชเมียร์ ทำให้หุบเขาอันสวยงามของโลกอย่างแคชเมียร์มีแต่ความเงียบงัน ซึ่งมีคนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นความเงียบก่อนจะเกิดพายุร้าย

 

การใช้มาตรการกดดันประชาชนชาวแคชเมียร์ไม่ให้เคลื่อนไหวรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล ยังคงดำเนินต่อไป นักเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ที่อยู่ในดินแดนแคชเมียร์เองจึงยังมิได้ปรากฏตัวออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2018

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียมีความพยายามที่จะเอาชนะใจชาวจัมมูและแคชเมียร์ด้วยการหางานจำนวนมากมานำเสนอต่อพวกเขา แต่รัฐบาลจะไม่สานเสวนากับพรรคการเมืองใดๆ ที่เห็นต่างกับรัฐบาลในเวลานี้

นักวิจารณ์การเมืองของอินเดียมีความเห็นว่า เวลานี้รัฐบาลเชื่อว่าวิธีการดั้งเดิมที่จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยการสร้างสันติภาพผ่านการสานเสวนา การใช้ความเกี่ยวพันทางการเมือง ทางสายกลางและสิทธิมนุษย์ มิได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลต่อไปอีกแล้ว ทั้งนี้ มีความเชื่อกันเป็นส่วนใหญ่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานข้างต้นของประชาชนแคชเมียร์จะถูกแทนที่โดยการรวมศูนย์ของรัฐบาล

รัฐบาลของโมดีอาจลืมไปว่าการบีบคั้นชาวแคชเมียร์จะนำเอาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้ามาต่อสู้กับรัฐบาลมากขึ้น

ที่ผ่านมาความอยุติธรรมและการถูกตัดขาดออกจากสังคมของชาวแคชเมียร์ทำให้พวกเขาขาดเวทีการสานเสวนาและการแสดงออกด้วยวิถีประชาธิปไตย

รัฐบาลปัจจุบันได้คัดค้านนโยบายที่ได้รับการยอมรับจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรค BJP อะตัลพิหาริ วัชปายี (Atal Bihari Wajpaji) ที่อนุญาตให้หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่และฝ่ายค้านของจัมมูและแคชเมียร์ดำเนินงานทางการเมืองได้ และเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาในที่สุด กระบวนการดังกล่าวทำให้สถานการณ์ในแคชเมียร์ลดความรุนแรงลง และทำให้นักรบแคชเมียร์ถูกสังหารน้อยลงจาก 2,850 คนในปี 2001 เหลือเพียง 84 คนในปี 2012 อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2005 ไปจนถึงปี 2010 มีความเชื่อกันว่าจำนวนของผู้ต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาอีกสองเท่า

รัฐบาลเชื่อว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อนอยู่จะเพียงพอที่จะเชิญชวนผู้คนให้มาร่วมกับรัฐบาลผ่านแรงบันดาลใจทางการเมืองและลดการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลงไปตลอดทศวรรษ แต่นโยบายนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

หลังการประกาศยกเลิกมาตรา 370 ได้หนึ่งเดือน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนนได้แสดงสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นขึ้นมาและพร้อมที่จะต่อสู้กับรัฐบาลในระยะยาว ท่ามกลางการปราบปรามอย่างหนักหน่วง

ซึ่งทำให้ดินแดนแคชเมียร์กลายเป็นเมืองร้าง

 

โดยภาพรวมแล้วชาวแคชเมียร์กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอันน่าเบื่อหน่าย บรรดาผู้นำจากพรรค BJP ที่กำลังปกครองอินเดียอยู่ในปัจจุบันยังคงสร้างวาทกรรมทางการเมืองของคนส่วนใหญ่โดยขาดการมองด้วยสายตาที่ยาวไกลที่มีต่อชนกลุ่มน้อยในรัฐที่มีความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การเรียกร้องของชาวแคชเมียร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจบลงด้วยความผิดหวัง ทั้งนี้ ชาวแคชเมียร์ต้องเผชิญกับการปกครองของราชวงศ์โดกรา (Dogra) และต่อมาโดยนักการเมืองและรัฐบาลอินเดีย ซึ่งทั้งสองกรณีที่ได้กล่าวมาข้างต้น

พวกเขาไม่ต้องการทำความตกลงกับชาวแคชเมียร์เรื่องความชอบธรรมในการเลือกดินแดนที่พวกเขาปรารถนาจะไปอยู่และดินแดนที่พวกเขาไม่ปรารถนาจะเข้าไปอยู่

รวมทั้งการยกเลิกสิทธิของชาวแคชเมียร์ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเพิ่งถูกยกเลิกไป

ย่อมหนีไม่พ้นการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่จะมีความหนักหน่วงขึ้นเมื่อพวกเขามีโอกาส

มีการคาดการณ์กันโดยทั่วไปว่าความตึงเครียดในแคชเมียร์จะคงมีอยู่ต่อไปตราบใดที่ประชาชนชาวแคชเมียร์ยังไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมที่จะเลือกอนาคตของพวกเขาเอง

 

การต่อสู้ของชาวแคชเมียร์มิได้เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ดำรงอยู่ยาวนานกว่า 70 ปีมาแล้ว ในที่นี้ขอยกจดหมายที่เยาวหราล เนห์รู เขียนถึงฮารี ซิงห์ มหาราชาองค์สุดท้ายที่ปกครองแคชเมียร์และนำแคชเมียร์มาผนวกรวมกับอินเดียมากล่าว โดยมีใจความว่า

“ท่านจะเห็นได้ว่าในภาพพื้นฐานของวิกฤตการณ์แคชเมียร์นั้นท่านไม่ได้เข้ามาดูแลแคชเมียร์เลย ความจริงที่ปรากฏก็คือ ประชาชนชาวแคชเมียร์จะต้องตัดสินอนาคตของพวกเขาเอง เราได้ยืนยันถึงเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่ในสภาความมั่นคง แต่ยังมุ่งตรงไปที่ประชาชนในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ด้วย หากว่าผลของการลงคะแนนเสียงออกมาว่าแคชเมียร์ไม่ควรรวมกับอินเดียก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ เราต้องยอมรับการตัดสินใจของพวกเขา และในเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าผลประโยชน์ส่วนตัวที่ท่านมีต่อรัฐแคชเมียร์จะหมดไปโดยอัตโนมัติ หากชาวแคชเมียร์ตัดสินใจเลือกอินเดียอย่างที่เราหวัง และเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ก็เป็นเรื่องของพวกเขาที่จะพูดออกมา หากจะมีอะไรอื่นๆ ขึ้นมาอีกตำแหน่งของท่านก็จะเป็นเรื่องของอนาคต อินเดียออกไปช่วยชาวแคชเมียร์ก็ด้วยการเชิญชวนของชาวแคชเมียร์เอง เราไม่ได้ไปแคชเมียร์ตามที่ปากีสถานกล่าวอย่างผิดพลาดว่าเป็นการรุกรานของทหารเพื่อปราบปรามประชาชน เราไม่ต้องการอยู่ที่นั่นต่อไปแม้แต่แค่วันเดียว ในเมื่อเราไม่ได้เป็นที่ต้องการของประชาชนในรัฐนั้นอีกต่อไปแล้ว”

จดหมายของเยาวหราล เนห์รู เขียนถึงมหาราชา ฮาริ ซิงห์ (Hari Singh) ในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1952